ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดกิจกรรม การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation” ประจำปี 2565 ภาคใต้ ณ แก้วสมุยรีสอร์ท จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. มอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษา วก.ไชยา

ภายในงานมีการมอบรางวัลกิจกรรมติดดาวสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา  แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

นักศึกษา วก.ไชยา นำเสนอผลงาน ชุดควบคุมมอเตอร์ปั๊มน้ำด้วยระบบ IoT
  1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “การพัฒนาชุดเพาะเลี้ยงปูนิ่มสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนแบบช่วยเร่งลอกคราบด้วยเปลือกหอย” ของ วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี
  2. ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รางวัล 4 ดาว ได้แก่ ผลงาน “กระเป๋าใส่ยาบอกเวลา” ของ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครหาดใหญ่ และผลงาน “เครื่องฆ่าเชื้อธนบัตร แบบไร้การสัมผัส ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ” ของ วิทยาลัยเทคนิคสงขลา
  3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ รางวัล 4 ดาว ได้แก่ ผลงาน “เครื่องวัดความอ่อน-แก่ของเนื้อทุเรียนแบบพกพาด้วยรังสี NIR spectroscopy” ของ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต ผลงาน “ระบบควบคุมการเพาะชำพันธุ์ยางพาราด้วยระบบ IoT” ของ วิทยาลัยการอาชีพเวียงสระ และผลงาน “ชุดควบคุมมอเตอร์ปั๊มน้ำด้วยระบบ IoT แบบประหยัดพลังงานสำหรับแปลงเพาะชำ” ของ วิทยาลัยการอาชีพไชยา
  4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “เครื่องล้างเพื่อฟื้นฟูแบตเตอรี่แบบเปียกกึ่งอัตโนมัติ” ของ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
  5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รางวัล 5 ดาว ได้แก่ ผลงาน “การพัฒนาโคมแขวนด้วยผ้าทอเกาะยอและลวดลายเรือกอและสู่เชิงพาณิชย์” ของ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา

วิทยาลัยการอาชีพไชยา

เครื่องล้างไข่เค็ม ระบบรีไซเคิลน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์

วิทยาลัยการอาชีพไชยา (วก.ไชยา) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนในระดับ ปวช. และระดับ ปวส. นายณรงค์ หวังอีน เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพไชยาคนปัจจุบัน มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาชีพและการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา วิทยาลัยการอาชีพไชยา มีผลงานที่ได้รับรางวัลในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ เป็นสถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center)

ปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงนกกระทาไปพร้อมๆ กัน

ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา

ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในผลงานของวิทยาลัยการอาชีพไชยา ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ เกิดจากแนวคิดของนักศึกษา : นางสาวธิดารัตน์     สักจันทร์ นายธนพล ใสสะอาด นายธนวัฒน์ ร่มเย็น  นายพรเทพ ย้อยไชยา นายอัมรินทร์ เบิกบาน นายปัณณวรรธ พันเรือง และอาจารย์ที่ปรึกษา : นายสัจกร ทองมีเพชร นาย   นันทวุฒิ เนียมมีศรี ฯลฯ จุดเด่นของนวัตกรรมชุดนี้คือ ใช้เนื้อที่น้อยในการปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงนกกระทา ลดการใช้น้ำ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงาน ลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม

ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ออกแบบกลไกให้สามารถปลูกผักและเลี้ยงปลา โดยผ่านระบบรีไซเคิลน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกลไกในการปลูกผักจะหมุนอยู่ด้านบนของชุดชิงช้า และเลี้ยงปลาอยู่โครงสร้างด้านล่าง ทำให้ผักที่ปลูกได้ปุ๋ยที่เกิดจากการเลี้ยงปลา และน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านระบบการกรองหมุนเวียนกลับมาใช้ในการเลี้ยงปลาได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประหยัดพื้นที่ ประหยัดเวลา และแรงงานในการปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงนกกระทา ยังได้ผักที่ปลอดสารพิษไว้รับประทานอีกด้วย

ลักษณะของชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลาฯ ตัวเครื่องมีความกว้าง 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร สูง 1.60 เมตร โครงสร้างทำด้วยเหล็กสำหรับยึดชุดทำงานต่างๆ ติดล้อหมุน สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก มีโครงสร้างหลังคาปิด เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิ ประกอบด้วยชุดหลักๆ ดังนี้ ชุดที่ใช้เลี้ยงปลา ประกอบด้วย เหล็กที่เชื่อมเป็นบ่อ ปูพื้นด้วยพลาสติก  ส่วน ชุดปลูกผัก ประกอบด้วย กระถางปลูกผัก 4 ชั้น 1 ชั้นประกอบด้วยกระถาง จำนวน 6 กระถาง ใช้หลักการทำงานโดยการหมุนสลับกันทีละชั้น

ชุดที่ใช้เลี้ยงนกกระทา ประกอบด้วย โครงสร้างของเหล็กที่เชื่อมเป็นกรงเลี้ยงนกกระทา ส่วนระบบรีไซเคิลน้ำ การทำงาน ประกอบด้วยชุดถังกรองหยาบ ถังกรองละเอียด และถังพักน้ำเติมออกซิเจน แล้วหมุนเวียนน้ำผสมจุลินทรีย์ไปยังบ่อเลี้ยงปลา และถ้วยให้น้ำภายในกรงนกกระทา เป็นระบบหมุนเวียนน้ำ และ ชุดปั๊มน้ำ ประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 12 V DC ใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ และปั๊มน้ำใช้มือหมุนทำหน้าที่ปั๊มน้ำผสมจุลินทรีอีเอ็มเพื่อฉีดน้ำเติมลง

ขั้นตอนการใช้งาน เริ่มจากเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งชิ้นงาน ระบบไฟฟ้า และชุดจ่ายพลังงานแสงอาทิตย์ เติมน้ำเข้าในระบบในบ่อเลี้ยงปลา 80 ลิตร นำปลาใส่ลงในบ่อ จำนวน 50 ตัว นำผักที่อนุบาลไว้มาใส่ในกระถางแล้วนำใส่ลงสู่ชุดชิงช้า 4 แถว รวมจำนวน 24 ต้น นำนกกระทา อายุประมาณ 30-40 วัน นำมาใส่กรงที่ได้เตรียมไว้ จำนวน 30 ตัว  ใส่อาหารไว้ในราง ตอนเช้าของทุกวันๆ หลังเก็บไข่นกกระทา เปิดปุ่มการทำงานของชุดควบคุมการทำงานของมอเตอร์ และปั๊มน้ำ ชุดชิงช้าจะหมุน และจะหยุดให้ผักแต่ละแถวแช่น้ำ 5 วินาที ตลอดเวลา ให้อาหารปลาที่เลี้ยงไว้ วันละ 2 มื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเย็น ให้อาหารเพียงพอต่อการกินแต่ละมื้อ อย่าให้อาหารเหลือ สำหรับระบบรีไซเคิลน้ำ จะมีถังกรอง 3 ชุด ปั๊มน้ำดูดส่งน้ำ และผสมจุลินทรีย์ EM ไปยังบ่อปลา เมื่อผักและปลาเจริญเติบโตได้ขนาดที่ต้องการก็นำไปทำอาหาร หรือจำหน่าย สำหรับชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ราคา 12,000 บาท หากใครสนใจนวัตกรรมชิ้นนี้ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยการอาชีพไชยา เลขที่ 221 หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84110 เบอร์โทร 077-310-954, 077-310-955

เครื่องล้างไข่เค็ม ระบบรีไซเคิลน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์

“ไข่เค็มไชยา” เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของท้องถิ่น โดยทั่วไปผู้ผลิตไข่เค็มไชยามักใช้วิธีการล้างดินพอกไข่เค็มออก และทำความสะอาดเปลือกไข่ให้มีสีขาวสะอาด เพื่อนำมาต้มขายวันละประมาณ 2,000 ฟอง แรงงาน 1 คน ที่มีความชํานาญต้องใช้น้ำ 90 ลิตร ล้างไข่เค็ม 300 ฟอง ในระยะเวลา 1.20 ชั่วโมง ขั้นตอนการล้างไข่เค็มแต่ละวันมักเจอปัญหาไข่แตก ร้อยละ 5 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการพอกดินอาจทําให้ไข่มีการแตกร้าวมาก่อนแล้ว และไข่ที่แตกในกระบวนการล้างก็ยังสามารถนํามาแปรรูปเป็นอาหารได้อีก

ผลการศึกษาพบว่า น้ำที่นํามาล้างไข่เค็มเกิดการสูญเปล่าในกระบวนการล้างจํานวนมาก และผู้ที่ทําหน้าที่ล้างไข่เค็มต้องนั่ง และใช้มือสัมผัสกับน้ำอยู่ตลอดเวลาเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในระยะยาว ดังนั้น จึงออกแบบก่อสร้างเครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำ ช่วยประหยัดเวลา โดยไข่เค็ม 300 ฟอง ใช้เวลาแค่ 5 นาที ในการล้างดินพอก ล้างไข่เค็ม 2,000 ฟอง ใช้น้ำเพียง 40 ลิตร ประหยัดน้ำกว่าเดิมถึง 10 เท่าตัว โดยไข่เค็มไม่แตกร้าวเสียหายระหว่างขั้นตอนการล้างไข่เค็ม ช่วยอํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผลิต แปรรูป และจําหน่ายไข่เค็ม ซึ่งจะเป็นแนวทางในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ติดต่อได้ที่ นายสัจกร ทองมีเพชร วิทยาลัยการอาชีพไชยา Line ID /โทร. 090-685-5252, 092-370-7052

ผลิตภัณฑ์ผงผัดไทยไชยากึ่งสำเร็จรูป

นอกจากนี้ วิทยาลัยการอาชีพไชยา ยังมีนวัตกรรมเด่น เช่น ผลิตภัณฑ์ผงผัดไทยไชยากึ่งสำเร็จรูป อร่อยรสต้นตำรับ ง่ายๆ เพียงแค่ฉีกซอง “ผัดไทยไชยา” คือแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานชิ้นนี้ เพราะผัดไทยไชยา คือ อาหารอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจำนวนมาก หลายคนติดใจจนอยากทำเองแต่ทำไม่เป็น ดังนั้น วิทยาลัยการอาชีพไชยา จึงเกิดความคิดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผงผัดไทยไชยากึ่งสำเร็จรูป โดยการอบแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) เพื่อเป็นของฝาก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ผงผัดไทยไชยากึ่งสำเร็จรูป เหมาะสำหรับคนที่ต้องการรับประทานผัดไทยไชยาสูตรต้นตำรับ และคนไม่มีเวลามากในการทำอาหาร สะดวก รวดเร็ว และพกพาไปได้ทุกที่

วิธีการใช้งาน ผลิตภัณฑ์ผงผัดไทยไชยากึ่งสำเร็จรูป เริ่มจากตั้งน้ำให้เดือด ใส่ผงผัดไทยไชยาลงไป รอให้เดือด จากนั้นใส่เส้นลงไปผัดให้เหนียวนุ่ม เติมเนื้อสัตว์และผักเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ผงผัดไทยไชยากึ่งสำเร็จรูป 130 กรัม ราคาขายปลีก 65 บาท (ราคาขายส่ง 45 บาท ขั้นต่ำ 10 ซอง)

สนใจผลงานชิ้นนี้ ติดต่อได้ทาง Facebook : ผัดผงผัดไทย หรือ Line ID : 098-026-3922  หรือเบอร์โทร. 098-026-3922

ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลข่าวจาก ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา FB:  งานประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยการอาชีพไชยา, FB: อาชีวะ Marketplace