2 นวัตกรรมเด่น คนพันธุ์ R ฉะเชิงเทรา

วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 เปิดให้บริการความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี (ทล.บ.) มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ดร.สุพจน์ ทองเหลือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา โดยมุ่งมั่นจัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพให้มีคุณภาพมาตรฐาน สนองความต้องการของชุมชนและตลาดแรงงาน เช่น จัดโครงการอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นภายใต้โครงการขับเคลื่อน วิทยาลัยสารพัดช่างเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ทักษะเฉพาะกลุ่มอาชีพ, จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูเพื่อส่งเสริมการทำวิจัยในชั้นเรียน, จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเพื่อยกระดับคุณภาพบุคลากรทางอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการต่อการพัฒนาการเรียนการสอน ประจำปีการศึกษา 2565 เป็นต้น

“พริกซี๊ด” น้ำพริกปลาช่อน

“พริกซี๊ด” เพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารรสอร่อย

นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทราได้นำวัตถุดิบเหลือใช้จากการขายน้ำเต้าหู้ของกลุ่มเพื่อนในห้องเรียนมาคิดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหลือใช้ โดยนำกากถั่วเหลืองมาพัฒนาทำเป็นน้ำพริกเพื่อเสริมคุณค่าทางอาหารและเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ เนื่องจากถั่วเหลืองมีคุณค่าทางอาหารและโภชนาการ จากการศึกษาวิจัยพบว่า “ถั่วเหลือง” เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน มีไขมันชนิดดีสูง มีเส้นใยอาหารสูง มีวิตามินและเกลือแร่สูง มีสรรพคุณช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด โปรตีนในถั่วเหลืองถือเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับนมวัว (แต่มีแคลเซียมน้อยกว่า เพียง 1 ใน 5 ของนมวัวเท่านั้น) สามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่หลายชนิดในปริมาณที่สมดุลมากกว่าถั่วชนิดอื่น

ผลิตภัณฑ์พริกซี๊ดพร้อมจำหน่าย

ถั่วเหลืองมีไขมันสูง โดยมีปริมาณน้ำมันถึงร้อยละ 12-20 น้ำมันจากถั่วเหลืองมีส่วนประกอบของไขมันไม่อิ่มตัวอยู่หลายชนิด ที่เป็นกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กและทารก ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ผิวหนัง จึงเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ และยังมีวิตามินอีซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันอีกด้วย

ดังนั้น การรับประทานถั่วเหลืองก่อนมื้ออาหารพร้อมกับอาหารที่มีกากไขมันสูง จะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น มีผลทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง จึงช่วยควบคุมน้ำหนักไปด้วยในตัว เราสามารถเลือกรับโอเมก้า 3 ที่ได้จากถั่วเหลืองแทนการรับประทานจากปลาได้เลย แถมยังปลอดภัยต่อสารปนเปื้อนที่มักพบในปลาบางชนิดอีกด้วย

วัตถุดิบสำหรับการแปรรูป

นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา ใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนำมาผสมผสาน เป็น “น้ำพริกปลาช่อนเสริมโปรตีนจากถั่วเหลือง” เมื่อผสมผสานด้วยวัตถุดิบอันล้ำค่าของในท้องถิ่นจะได้เป็นน้ำพริกที่มีความเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้นในราคาคุ้มค่า ง่ายต่อการบริโภค เหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เป็นโอกาสในการ “สร้างรายได้ สร้างอาชีพ”

นักศึกษาช่วยกันผลิตน้ำพริกปลาช่อน

ขั้นตอนการทำ

น้ำพริกปลาช่อนเสริมโปรตีนจากถั่วเหลือง มีส่วนผสมสำคัญ ได้แก่ ปลาช่อน 800 กรัม ถั่วเหลือง 1,100 กรัม กุ้งฝอยแม่น้ำ 200 กรัม หัวหอมแดง 400 กรัม กระเทียม 400 กรัม พริก 240 กรัม น้ำตาลทราย 650 กรัม เกลือป่น 50 กรัม

ขั้นตอนการทำเริ่มจาก 1. จัดเตรียมวัตถุดิบโดยนำมาทำความสะอาดและชั่งตวงตามปริมาณที่กำหนด 2. นำส่วนผสมต่างๆ มาเจียวให้กรอบ 3. นำส่วนผสมต่างๆ มาอบเพื่อเป็นการไล่น้ำมัน 4. นำส่วนผสมทั้งหมดมาปรุงรสชาติตามสัดส่วนที่กำหนด 5. นำบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ตามน้ำหนักที่กำหนดพร้อมจำหน่าย ปัจจุบัน ทีมนักศึกษาได้แปรรูปผลิตภัณฑ์ “พริกซี๊ด” น้ำพริกปลาช่อนเสริมโปรตีนจากถั่วเหลือง ออกขายในราคาย่อมเยา โดยสินค้าขนาด 100 กรัม ขายราคา 75 บาท ส่วนสินค้าขนาด 50 กรัม ขายราคา 40 บาท ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้าได้ทาง เพจเฟซบุ๊ก : พริกซี๊ดน้ำพริกปลาช่อน หรือทาง Line ID : @พริกซี๊ด และเบอร์โทร. 099-712-4797

นวัตกรรมเตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ

นวัตกรรมเตียงผู้ป่วยไฟฟ้า ผลงานวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ส่งมอบนวัตกรรมเตียงผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ จำนวน 2 เตียง ให้แก่โรงพยาบาลพุทธโสธร ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

สืบเนื่องจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของผู้ประดิษฐ์ รวมถึงคุณภาพของผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับอาชีวศึกษาในโครงการ “Thailand New Gen Inventors Award” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า I-New Gen Award

อาจารย์นิวัตร ศรีคำสุข นำเสนอผลงาน

สำนักงาน วช. จึงร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนทุนการวิจัย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา ก่อเกิดโครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ หรือ Co-funding โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการนำสิ่งประดิษฐ์ของนักประดิษฐ์ในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาสู่การขยายผล หรือพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมชุมชน หรือเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสาธารณะได้ตรงจุด

ปัจจุบัน วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยกว่า 140 ผลงาน จาก 54 วิทยาลัย ทั้ง 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ในชื่อผลงาน “เตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ” โดย อาจารย์นิวัตร ศรีคำสุข เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับรางวัลจากการประกวด I-New Gen Award 2021 ระดับเหรียญทอง ในด้านสุขภาพและการแพทย์ ทาง วช. ได้ต่อยอดนวัตกรรมนี้โดยการสนับสนุนทุนภายใต้โครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ (Co-funding) ประจำปีงบประมาณ 2565

ผู้บริหาร วช. และ สอศ. ร่วมชื่นชมผลงาน

เตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าดังกล่าว เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ควบคุมการทำงานด้วยแผงวงจร โดยเขียนโปรแกรมลงในบอร์ด Auduino เพื่อควบคุมการทำงานของมอเตอร์แบบเซอร์โวเพื่อให้เตียงหมุนไปหมุนกลับอย่างช้าๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ มีระบบการทำงาน 3 แบบ คือ

1. แบบ Auto เป็นการทำงานตามเวลาตั้งไว้ โดยเมื่อกดปุ่มให้ระบบทำงานเบาะรองเตียงเลื่อนที่ขึ้น-ลง 10 นาทีต่อ 2 ชั่วโมง

2. แบบ Massage เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อกดปุ่มเบาะรองเตียงเลื่อนที่ขึ้น-ลง ตลอดเวลา เมื่อกดปุ่มอีกครั้งเบาะรองเตียงก็จะหยุดทำงาน

3. แบบ Manual เป็นการทำงานตามที่ผู้ใช้กดปุ่มขึ้นและลงทีละจังหวะ

ส่งมอบนวัตกรรมเตียงผู้ป่วยให้โรงพยาบาลพุทธโสธร

เตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนที่นอนให้ด้านบนเอนเป็นพนักพิงเพื่อให้สะดวกกับการนั่งทานอาหาร ทานยา หรือเปลี่ยนอิริยาบถท่านั่งได้ และพัฒนาระบบ Applications ของโทรศัพท์มือถือเพื่อควบคุมการทำงานและติดตั้งกล้องวงจรปิดให้สามารถดูผู้ป่วยเป็นแบบ Real Time ผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ และสั่งการทำงานได้ด้วยพูดโต้ตอบผ่านระบบออนไลน์ได้ผ่านกล้องวงจรปิด คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรกตามข้อกำหนดการผลิตในมาตรฐานความปลอดภัยสากลเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์

นวัตกรรม “เตียงนอนผู้ป่วยไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ” ของวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา นับเป็นผลงานที่ดี มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง โดยช่วยรักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขในวงกว้าง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เฟซบุ๊ก อาชีวะ Marketplace และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)