กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย จากสีธรรมชาติ บ้านบัวงาม เมืองอุบลฯ

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหม-ฝ้าย บ้านบัวงาม ตั้งอยู่เลขที่ 101/1 หมู่ที่ 3 บ้านบัวงาม ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดย คุณอำคา นามปัญญา เป็นผู้ก่อตั้ง พร้อมทั้งรับตำแหน่งประธานกลุ่ม กลุ่มได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ว่าด้วยเรื่องผ้าทอมือจากสีธรรมชาติ การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกทุกคน ต่อมากลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 ปัจจุบันนี้มีสมาชิกทั้งหมด 31 คน และได้ดำเนินกิจกรรมทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

คุณอำคา ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหม-ฝ้าย บ้านบัวงาม เปิดเผยถึงความเป็นมาของกลุ่มว่า ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทอผ้าที่มีต่อคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้สอยในครัวเรือน ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน และเห็นโอกาสในด้านการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จึงรวมกลุ่มเพื่อผลิตและจำหน่ายผ้าไหมผ้าฝ้ายจากสีธรรมชาติขึ้น ปรากฏว่าสินค้าของกลุ่มเราขายดีพอสมควร และได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง

คุณอำคา นามปัญญา

สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจะเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือสีธรรมชาติ มีหลากหลายรูปแบบ หลายลวดลาย โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งย้อมด้วยสีธรรมชาติ 100% งานทุกชิ้นจะผลิตอย่างพิถีพิถัน รับประกันสีไม่ตกเมื่อซักทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าเป็นชิ้น ธรรมชาติ ผ้าคลุมไหล่ ธรรมชาติ ผ้าพันคอ ธรรมชาติ ผ้าถุง (ผ้าซิ่น) ธรรมชาติ ผ้าขาวม้า ธรรมชาติ ผ้าไหม ผ้าชิ้น ธรรมชาติ กล่าวคือทุกชิ้นจะมาจากสีธรรมชาติล้วนๆ

สมาชิกกลุ่ม

คุณอำคา กล่าวถึงขั้นตอนการผลิตและสีธรรมชาติที่ใช้ย้อมเส้นไหมและฝ้าย ว่าเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกมังคุด เปลือกต้นประดู่ เปลือกต้นกระโดนบก เปลือกต้นมะเกลือ เปลือกต้นยูคาลิปตัส เปลือกต้นแดง แก่นขนุน แก่นฝาง ดินโคลน น้ำขี้เถ้า น้ำสนิมเหล็ก (บาดาล) เป็นต้น ซึ่งกลุ่มของเราได้ใส่ใจในขั้นตอนการย้อมสีมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้คุณภาพเส้นไหม-ฝ้ายที่ดี พร้อมสำหรับการทอต่อไป

ขั้นตอนการผลิตผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ มีดังนี้

  1. ต้มเส้นฝ้ายด้วยผงซักฟอก15 นาที เพื่อล้างทำลายไขมันและสิ่งสกปรก ล้างด้วยน้ำสะอาดจนฟองหมด แล้วผึ่งให้หมาด

    ย้อมสี
  2. ต้มน้ำสีธรรมชาติให้เดือด แล้วนำฝ้ายลงย้อมจนได้สีตามต้องการ (บางสีต้องนำไปซักในน้ำขี้เถ้าหรือน้ำสนิมหลังจากย้อมเสร็จ เพื่อเพิ่มปฏิกิริยาทางเคมีของการเกิดสี) หากต้องการสีที่เข้มขึ้น ให้นำไปย้อมอีกรอบ
  3. ซักฝ้ายด้วยน้ำสะอาดไม่น้อยกว่า3 ครั้ง และน้ำแป้ง1 ครั้ง แล้วตากให้แห้ง ในขณะที่ตากต้องกระตุกฝ้ายเพื่อให้เส้นฝ้ายไม่ติดกัน และเพื่อไล่น้ำออกให้ได้มากที่สุด
  4. ปั่นเก็บเป็นม้วน เพื่อนำไปขึ้นหูกทอเป็นผืน

    ย้อมสีธรรมชาติ
  5. ทอผ้าด้วยกี่แบบธรรมดาและกี่กระตุก หากเป็นลายที่ไม่ซับซ้อนมากจะนิยมใช้กี่กระตุกเพราะทอได้เร็วกว่า
  6. ตัดแบ่งตามลักษณะงาน เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโสร่ง ผ้าเมตร (ผ้าสีพื้นหรือลายพื้น)
วัตถุดิบย้อม ได้จากท้องถิ่น

ป้าตุ้ม ซึ่งทำหน้าที่เลขาฯ ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหม-ฝ้าย บ้านบัวงาม เล่าถึงการทำการตลาดและรายได้ของกลุ่มว่า สินค้าของเราไม่ต้องลำบากถึงขนาดนำไปตระเวนขายตามท้องตลาดทั่วไป เพราะมีกลุ่มเครือข่ายของเราและพ่อค้าคนกลางมาสั่งให้ผลิตคราวละมากๆ แล้วมารับเอาสินค้าบ้าน ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับสินค้าและขนาด เช่น ผ้าเมตร ถ้าหน้า 34 นิ้ว ก็จะขาย เมตรละ 75 บาท ถ้าหน้า 80 นิ้ว ราคาก็จะแพงขึ้นตามลำดับ

สำหรับรายได้ของกลุ่ม ไม่มากนัก เพราะเราผลิตสินค้าไม่ทันตามที่ลูกค้าหรือเครือข่ายสั่งซื้อ ในแต่ละเดือนทางกลุ่มของเราจะมีรายได้ตกเดือนละหนึ่งแสนบาทเศษ เมื่อนำมาแบ่งให้สมาชิก ทั้ง 31 คน ก็จะมีรายได้ตกคนละประมาณ 5,000-6,000 บาท ต่อเดือน (เราจะแบ่งจ่ายกันทุกเดือน) สมาชิกบางคนผลิตสินค้าได้มาก ก็จะมีรายได้มากตามไปด้วย บางคนสร้างรายได้ถึงเดือนละ 7,000-8,000 บาทก็มี

นับเป็นกลุ่มแม่บ้านที่เข้มแข็งอีกกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง สมควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป และหากหน่วยงานใด หรือท่านใด สนใจที่จะไปเยี่ยมชมกิจการ หรือไปศึกษาหาความรู้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณอำคา นามปัญญา หรือที่ ป้าตุ้ม โทรศัพท์ (088) 085-2413 ได้ทุกวัน