เสวียน…เรื่องเก่าไม่เล่าก็ลืม

เสวียนนั้นมีมาแต่ก่อนเก่าแล้ว ร้อยกว่าปีก่อนมีคนเห็นเสวียนตามไร่ สวน เรือกนา ทั้งบนบ้านเรือนมาตลอด

คนก่อนเก่าใช้ไม้ไผ่สานเป็นเสวียนน้อยใหญ่ใช้หลากประโยชน์ เรื่องสานไม้ไผ่นั้นทำกันเป็นทุกคน เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ไม้ไผ่ก็หาเอาหัวไร่ปลายนา

ว่างจากงานในไร่นา พ่อบ้านก็จะนั่งลงสานเสวียน เริ่มจากเหลาไม้ไผ่สดเป็นเส้นหนาๆ แล้วสานขึ้นลงเป็นตะแกรงง่ายๆ จะแน่นจะหลวมแล้วแต่ชอบ เมื่อได้เป็นแผ่นสูงสักศอก ก็จะเอาไปขดล้อมต้นไม้ วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเอาไว้เก็บเศษใบไม้ใบหญ้าที่จะใช้ทำปุ๋ย

จากนั้นก็ไม่มีพิธีรีตองอะไร จับได้อะไรที่จะเป็นปุ๋ย หรือกวาดใบไม้เศษหญ้าทุกเช้าก็เอาเทลงในเสวียน ใบไม้ใบหญ้าจะไม่ฟุ้งกระจาย ดินทรายที่ปะปนไปก็จะค่อยไหลออกจากร่องไม้ไผ่สาน เหลือแต่ใบไม้ใบหญ้านอนในนั้น หมักเข้านานวันก็เป็นปุ๋ยโอชาให้ต้นไม้ จะขนย้ายจากเสวียนไหนไปใส่เสวียนไหนก็ได้

คนสมัยก่อนเขาทำกันแบบนี้ เขาไม่กวาดมากองไว้ลวกๆ เขาไม่เผา แล้วเสวียนไม้ไผ่นั้น ผุพังไปก็เป็นปุ๋ยอยู่ดี

วิถีชีวิตนี้ทำกันมาเนิ่นนานในล้านนา หรือกระทั่งในภาคอื่นๆ

บ้านไหนไม่ค่อยมีแรงงานที่จะประจงสานเสวียนได้ละเอียด ก็ใช้ไม้ตอกเป็นหลักเข้า แล้วเอาไม้ไผ่กรุเอาเท่าที่ได้ มันก็ออกมาเป็นเสวียนเหมือนกัน เก็บใบไม้ใบหญ้าได้เหมือนกัน

1463071294

เสวียนเล็กๆ เขาก็มี แม่บ้านกับลูกสาวจะสานเสวียนไว้รองก้นหม้อ เหมือนชามประคองก้นหม้อดินไว้ไม่ให้ล้ม หรือกระแทกแตก ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะใช้ไม้ไผ่เส้นเล็กเหลาให้ไร้เสี้ยน

บางทีคำว่าเสวียนนี่ก็ถูกนำไปเรียกอะไรต่อมิอะไรที่สานด้วยไม้ไผ่เป็นทรงกลม แต่ที่ใช้กันมาก็คือเรื่องเสวียนในครัวกับเสวียนในสวนที่เอง

แต่แล้วเสวียนก็เหมือนกับอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ลางเลือนไปตามกาลเวลา เสวียนน่าจะเริ่มหายไปพร้อมกับการหดหายของพื้นที่ไร่ เรือกสวน ไร่นาในล้านนา พร้อมกับการเข้ามาของการพัฒนาภายใต้ทุนนิยมสมัยใหม่

เสวียนถูกลืมเลือนไปหลายสิบปี คนรุ่นใหม่ไม่มีใครรู้จักเสวียน กระทั่งพจนานุกรมก็แทบให้รายละเอียดอะไรไม่ได้

จน 3 ปีก่อน ระหว่างที่ คุณมงคลกร ศรีวิชัย ด๊อกเตอร์หนุ่ม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย หาทางจะจัดการขยะให้กับอำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งในเชียงราย บ้านเกิดของเขา เขาจึงพบว่าเสวียนน่าจะกลับมาทำประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนล้านนาต่อไป

“ผมต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต้นทุนในการกำจัดขยะของอำเภอพาน ที่มีมากถึงวันละ 16 ตัน มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังหลุมกลบฝังที่เชียงใหม่ เดือนละครึ่งแสน และเมื่อรวมค่ากำจัดอื่นจะใช้เงิน เดือนละ 200,000 บาท และพบว่าในขยะ 16 ตัน มีขยะอินทรีย์ถึงกว่าครึ่ง”

การรณรงค์ให้มีการนำขยะอินทรีย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์เป็นไปอย่างเข้มข้น ประชาชนได้รับคำแนะนำให้นำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยประโยชน์ที่เห็นง่ายที่สุดคือ การนำมาทำปุ๋ย

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว ปุ๋ยเป็นประโยชน์ที่เขาเห็นชัดที่สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด”

และวิธีที่อาจารย์มงคลกรแนะนำก็คือ นำเสวียนกลับมารับใช้บ้านเรือน ไร่นาอีกครั้ง

“ชาวบ้านรุ่นเก่ารู้จักและเคยเห็นเสวียนทั้งนั้น แค่เราบอกเขาว่าเราเอาเสวียนกลับมาใช้ ทำขยะจากเสวียน เขาก็เข้าใจ เพียงแต่ว่าเสวียนยุคใหม่นี้จะมีการรดด้วยน้ำหมักเพื่อเร่งการย่อยสลายและเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้แก่เศษใบไม้ใบหญ้านั้น เขาได้ปุ๋ยเร็วขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น ขณะเดียวกัน เขาก็ลดขยะ ลดการเผาในหน้าแล้งไปได้ทั้งหมด เวลาหน้าแล้งก็จะต้องรดน้ำกันการลุกไหม้”

ที่บ้านของอาจารย์มงคลกร ที่ตัวเมืองเชียงรายนั้น มีคุณแม่รดน้ำและรดน้ำหมักใส่เสวียนด้วยตัวเอง คุณแม่ดูมีความสุขกับผลงานของลูกชายไม่น้อย

ขยะรีไซเคิลที่มีสัดส่วนราว 30% ของขยะทั้งหมด ถูกรวบรวมไปขาย มีรายได้เข้าชุมชน ขยะอันตรายถูกจัดการอย่างถูกต้อง ในระยะ 1 ปีกว่า รายจ่ายในการกำจัดขยะของเทศบาลเมืองพานลดลงเหลือเดือนละ 70,000 บาท และยังมีเป้าที่จะลดลงให้มากกว่านี้ต่อไป ชาวบ้านร่วมกันทำสวนปลอดสารพิษจากปุ๋ยที่ได้ และยังเลี้ยงไส้เดือนดินกันอีกด้วย

ใครจะเอาวิธีนี้ไปใช้บ้างก็เอาไปได้เลย เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรยาก แค่อย่าทำเมินใส่ของเก่าเท่านั้น

ช่วยกันนำเสวียนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเรา ไม่ได้เข้ามาทำให้อะไรยุ่งยาก หากแต่มาช่วยจัดการชีวิตเราให้ง่ายขึ้น อย่างที่เสวียนเคยทำมาเมื่อหลายร้อยปีก่อนโน้น

 

ใครสานเป็น ลงมือสาน ใครสานไม่เป็น หาไม้มาตอกโป้งๆ เข้าให้ เอานั่นเอานี่มาปะๆ เข้าให้ ประเดี๋ยวเป็นได้เรื่อง งดงาม ไม่ยาก