กศน.สตูล ส่งเสริมอาชีพ “ปันหยาบาติก” สู่ความยั่งยืน

สำนักงาน กศน.จังหวัดสตูล ส่งเสริมให้ประชาชนสร้างอาชีพและรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยถ่ายทอดทักษะความรู้ ตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้าน และวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ 

หนึ่งในความสำเร็จที่ภาคภูมิใจของ กศน.อำเภอละงู คือ การส่งต่อภูมิปัญญาการทำลวดลายผ้าบาติก เอกลักษณ์ประจำถิ่น ร่วมสร้างเส้นทางอาชีพยั่งยืนให้กับปันหยาบาติก อำเภอละงู จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงและเป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดสตูล

ลวดลายผ้าบาติกเชื่อมโยงเรื่องราวของ “อุทยานธรณีสตูล” 

กศน. ร่วมแก้วิกฤต

พื้นที่ชุมชนบ้านปากละงู หมู่บ้านริมทะเล เรียกกันติดปากว่า บ้านหนองปันหยา มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ทั้งไทยพุทธ มุสลิม คนไทยเชื้อสายจีน คริสเตียน ชุมชนแห่งนี้มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เสื้อผ้าการแต่งกาย ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมนุ่งผ้าปาเต๊ะ-บาติก ชุมชนแห่งนี้มีรายได้หลักจากอาชีพการทำประมง แต่มักขาดแคลนรายได้ในช่วงฤดูมรสุมเพราะไม่สามารถออกเรือหาปลาได้

กศน.อำเภอละงูได้สำรวจข้อมูลชุมชนและเจอปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพเสริม ช่วงปี 2545 ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 คน มีความสนใจเรียนรู้อาชีพการทำผ้าบาติก ทาง กศน.อำเภอละงูจึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำผ้าบาติกมาถ่ายทอดทักษะความรู้แก่ผู้สนใจ กลุ่มปันหยาบาติกได้ผลิตชิ้นงานต่างๆ มากมาย

ลาย S ลวดลายผ้าพระราชทาน

ผ้าบาติกของกลุ่มมีเอกลักษณ์โดดเด่นเรื่อง ลวดลายผ้าบาเต๊ะโบราณคือ ลาย “ดาวน์บูดิง” (Daun Buding) ลักษณะคล้ายดอกสายหยุด มีสีเหลือง กลิ่นหอม พบมากในแถบคาบสมุทรมลายู นิยมนำมาประดับตกแต่งซุ้มดอกไม้ในงานแต่งงาน ซึ่งลวดลายดังกล่าวได้รับอิทธิพลด้านการแต่งกายจากเชื้อชาติมลายู ชาวจีน ชาวเปอร์เซีย อินโดนีเซีย และทวีปยุโรป ที่นิยมใช้ผ้าลายใบไม้ ดอกไม้ตามธรรมชาติมาสวมใส่เป็นผ้าถุง

ต่อมายูเนสโกประกาศให้ อุทยานธรณีสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมือง (เฉพาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา) เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้การทำผ้าบาติก

นางสาวกอบกุล โชติสกุล และ นายจุมพล โชติสกุล แกนนำกลุ่มปันหยาบาติก ได้นำเสนอการเพ้นต์ลวดลายผ้าบาติกเชื่อมโยงเรื่องราวของ “อุทยานธรณีสตูล” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รองรับการเปิดประตูท่องเที่ยวสตูลสู่อุทยานธรณีโลก “จีโอปาร์ค” ผ่านของฝากอันล้ำค่า โดยประยุกต์ภาพจำลองสภาพแวดล้อมทะเลโบราณในยุคออร์โดวิเชียนหรือเมื่อประมาณ 444 ล้านปีก่อน มาทำเป็นลายผ้า มีปลาหมึกโบราณหรือนอติลอยด์ และไทรโลไบต์ เป็นตัวเอก ทำให้ผ้าบาติกของกลุ่มมีลักษณะความพิเศษกว่าที่อื่น นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้รับลายผ้าพระราชทาน พลตรีหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยพระราชทาน ลายผ้า S หมายถึง Sirivannavari ซึ่งเป็นลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง รัชกาลที่ 10

ผ้าบาติกใช้วัสดุจากอุทยานธรณี

ทุกวันนี้ ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตผ้าบาติกของ กศน.อำเภอละงู และจังหวัดสตูล มีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมกิจการและเลือกซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องทั้งปี เพราะสินค้าของกลุ่มแห่งนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้านการผลิตผ้ามัดย้อม ปาเต๊ะ-บาติก ด้วยการสกัดสีจากดินท้องถิ่นแห่งแรกในไทย เพิ่มเสน่ห์บนผืนผ้าด้วยลายฟอสซิลหอยแบรคิโอพอต ยุคพาลีโอโซอิก (อายุประมาณ 299-542 ล้านปี) ที่มีในอุทยานธรณีสตูล และเพิ่มเสน่ห์ในลายผ้าด้วยการเพ้นต์ ดอกดาวน์บูดิง (Daun Buding) ลักษณะคล้ายดอกสายหยุด มีสีเหลือง กลิ่นหอม พบมากในแถบคาบสมุทรมลายู นิยมนำมาประดับตกแต่งซุ้มดอกไม้ในงานแต่งงาน

เพื่อรองรับการเปิดประตูเมืองท่องเที่ยวสตูล ทางกลุ่มได้ปรับปรุงสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์หาประสบการณ์ใหม่ ที่นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติสามารถเรียนรู้วิธีการทำเสื้อบาติกที่มัดย้อมจากสีธรรมชาติ และได้ลงมือทำผ้าบาติกด้วยตัวเองอย่างสนุกสนาน สินค้าของกลุ่มปันหยาบาติก มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครเพราะใช้วัสดุจากธรรมชาติ ประเภทแร่ธาตุ ใบไม้ เปลือกไม้ ผลไม้ ที่เกิดในพื้นที่อุทยาน มาทำเป็นวัสดุย้อมสีผ้าอีกด้วย โดยสีแดงใช้สีจากดินหินปูนผุ ส่วนสีเหลืองมาจากโคลน สีน้ำตาลมาจากเปลือกโกงกาง ฯลฯ ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า

นักท่องเที่ยวชอบผ้าบาติกที่ทดลองทำด้วยมือตัวเอง

นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้หันมาผลิตผ้ามัดย้อมจากดินเทอราโรซ่า หรือดินหินปูนผุดินที่พบในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล มาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งดินทอราโรซ่า ย้อมผ้าได้สีส้มอ่อน ส่วนใบมังคุด เมื่อนำมาย้อมผ้าได้สีชมพูอ่อนอมส้ม ใยมะพร้าว ย้อมผ้าได้สีเทาม่วง เปลือกต้นสะเดาเทียม ย้อมผ้าได้สีน้ำตาลแดง ใบหูกวาง ย้อมผ้าได้สีเหลืองอมเขียว เมื่อนำตะบูน มาย้อมผ้าได้สีแดง ใบโกงกาง ย้อมผ้าได้สีเขียว สีย้อมจากธรรมชาติ ดูสบายตา ไม่ฉูดฉาด ผู้บริโภคสวมใส่ด้วยความมั่นใจถึงความปลอดภัย เพราะเป็นสินค้าทำมือและใช้สีย้อมจากธรรมชาติ

ปัจจุบัน เมื่อเอ่ยชื่อ “ปันหยาบาติก” หลายคนนึกถึงผ้าบาติกที่สื่อถึงอุทยานธรณีโลกสตูล การวาดลวดลายที่บ่งบอกความเป็นภาคใต้ สื่อความหมายถึงเรื่องราวทางธรณีวิทยาของอุทยานธรณีโลกสตูล โดยจำลองสภาพแวดล้อมทะเลโบราณในยุคออร์โดวิเชียน ประมาณ 444 ล้านปีก่อนมาเป็นลายผ้า เช่น ปลาหมึกโบราณ หรือนอติลอยด์ ไทรโลไบต์ ฯลฯ และนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ดิน ใบไม้ เปลือกไม้ ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลมาทำวัสดุย้อมสี เช่น สีส้มจากดินเทอราโรซ่า หรือดินหินปูนผุ ซึ่งเป็นดินโบราณในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

ทีมงาน กศน.จังหวัดสตูล

อย่างไรก็ตาม กศน.อำเภอละงู  สนับสนุนให้กลุ่มปันหยาบาติก ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ให้มีลวดลายแปลกใหม่อย่างสม่ำเสมอ พัฒนาสินค้าเป็นคอลเล็กชั่นต่างๆ ให้สอดคล้องกับฤดูแฟชั่น ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน พัฒนาช่องทางการขายใหม่ๆ ทั้งเจาะตลาดออนไลน์ สินค้าแฟชั่น เป็นต้น  

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก รายการ เรียนนอกรั้ว สำนักงาน กศน. เฟซบุ๊ก กศน.อำเภอละงู เฟซบุ๊ก Punya Batik