3 ครู กศน. ดีเด่น รางวัลครูเจ้าฟ้าฯ

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ขอแสดงความยินดีกับ 3 สุดยอดครู กศน. ได้แก่ ครูสุชดาพร ธิวงศ์สา ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านพะโท กศน.อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครูอุปะพร พินิจกุล ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านนุกะโถวา กศน.อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และ ครูมะรอซะดี แซมะแซ กศน.อำเภอบาเจะ จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ โครงการพระเมตตาสมเด็จย่าเชิดชูเกียรติครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2566

ครูอุปะพร พินิจกุล กับนักเรียน ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านนุกะโถวา 

ศศช. แม่ฟ้าหลวง

ในอดีตเยาวชนชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บนภูเขาสูง ห่างไกลความเจริญ การคมนาคม การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ครอบครัวมีฐานะยากจนมักขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและขาดโอกาสในการเข้ารับการศึกษาและการบริการของทางภาครัฐในหลายๆ ด้านอย่างเท่าเทียม

สำนักงาน กศน. มุ่งจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช. แม่ฟ้าหลวง) ในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่สูงได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา เพื่อให้เยาวชนชาวไทยภูเขาได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม และเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อ นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี

เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำทิชชูเปเปอร์มาเช่

ที่ผ่านมา สำนักงาน กศน. จัดอบรม ครู กศน. และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่สูง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ จากคณะวิทยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้ารับการสัมมนาในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงาน พัฒนาผู้เรียน ชุมชน และพัฒนาตนเองให้มีการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทุนการศึกษาเด็กสภาวะยากลำบากในเขตพื้นที่สูงภาคเหนือ เป็นโครงการที่สนองงานตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้เด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสที่กำลังศึกษาอยู่ในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เป็นครอบครัวที่ยากจน ขาดแคลน และประสบสภาวะยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน ใช้เป็นทุนการศึกษาเล่าเรียน ให้ได้รับโอกาสและสร้างขวัญกำลังใจที่ดีในการศึกษาเล่าเรียนและการพัฒนาตนเอง ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนต่อไป

ส่งเสริมการจัดการขยะชุมชน 

ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต

ครูอุปะพร พินิจกุล ศศช.“แม่ฟ้าหลวง” บ้านนุกะโถวา ทำงานด้วยความขยัน อดทน สู้งาน ในการดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน แล้วยังลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ บ้านนุกะโถวาอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมออกเยี่ยมชุมชนและให้ความรู้พัฒนาการเด็กช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้ผู้เรียนทำกระถางดอกไม้จากยางรถยนต์ สอนเด็กๆ ทำทิชชูเปเปอร์มาเช่ เพื่อฝึกสมาธิ เป็นต้น

ส่งเสริมอาชีพการทอผ้ากะเหรี่ยง

ด้าน ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านพะโท ภายใต้การดูแลบริหารงานของ ครูสุชดาพร ธิวงศ์สา ได้จัดการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่แล้ว ยังได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนในการฝึกอบรมราษฎรอาสาป้องกันภัยยาเสพติด จัดกิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชนโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย

ศศช. บ้านพะโท จัดการเรียนรู้การขุดไร่ขั้นบันได

ขณะเดียวกัน ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านพะโท ร่วมมือกับหน่วยงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงหล้า หน่วยงานของพลเรือนที่ 307 กองกำลังนเรศวร จัดทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และจัดทำแนวกันไฟระดับตำบล แนวเขตชายแดน จัดกิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชน โครงการสร้างป่าสร้างรายได้โคกหนองนาโมเดล (จัดกระบวนการเรียนรู้การขุดไร่ขั้นบันไดและพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร )

ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านพะโท ดำเนินโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน พัฒนาอาชีพระยะสั้นไม่เกิน 30 ชั่วโมง หลักสูตรทำไม้กวาดดอกหญ้าและไม้กวาดทางมะพร้าว อบรมหลักสูตร เพาะพันธุ์ไม้ท้องถิ่น 18 ชั่วโมงเพื่อส่งเสริมชาวบ้านสร้างป่าสร้างรายได้ และจัดกิจกรรม 1 อำเภอ 1 อาชีพ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โครงการผ้าทอกะเหรี่ยง โดยร่วมออกแบบลายผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านพะโท

ครูมะรอซะดี แซมะแซ กศน.อำเภอบาเจะ 

จัดการเรียนรู้ สอดคล้องกับความต้องการนักศึกษา

นายมะรอซะดี แซมะแซ ครู กศน.อำเภอบาเจะ จังหวัดนราธิวาส ใส่ใจพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน หลังพบว่า นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กศน.อำเภอบาเจาะ มีปัญหาและความต้องการใน 4 ด้าน คือ 1. โครงสร้างหลักสูตร 2. สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ 3. วิธีการจัดการเรียนรู้ 4. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ รูปแบบที่ได้ มี 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 วิธีการเรียนรู้เพื่อศึกษาต่อ, รูปแบบที่ 2 วิธีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ, รูปแบบที่ 3 วิธีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

ครูมะรอซะดี รับรางวัลครูดีเด่น ระดับจังหวัดประจำปี 2565

นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กศน.อำเภอบาเจาะ มี 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มวัยรุ่นที่อายุยังน้อย เป็นนักศึกษาที่ออกกลางคันจากในระบบหรือที่เพิ่งเข้าเรียน สามารถศึกษาต่อสายสามัญ สองคือกลุ่มผู้มีงานทำที่ค่อนข้างมีอายุอยู่ในช่วงวัยกลางคนมาเรียนเพื่อเอาวุฒิการศึกษาไปพัฒนาอาชีพ สามคือกลุ่มผู้ว่างงานมาเรียนเอาวุฒิการศึกษาเพื่อสมัครงานในอนาคต นักศึกษานอกระบบ มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านอาชีพ เพศ อายุ ระดับการรับรู้

3 ครูคนเก่ง เจ้าของรางวัลครูเจ้าฟ้าฯ ประจำปี 2566

สภาพการจัดการเรียนการสอนของครู กศน.อำเภอบาเจาะที่ผ่านมามีหลายจุดที่ต้องพัฒนาเพื่อให้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สอดคล้องกับธรรมชาติของนักศึกษา ปรัชญา กศน. และชีวิตจริงของนักศึกษา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีการกำหนดให้เรียนในหลายรายวิชา และลงทะเบียนเหมือนกัน ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ มีคะแนนหรือผลการประเมินผลที่ออกมาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ คนในชุมชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของ กศน.อำเภอบาเจาะได้ เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะไปเรียนได้ครบทุกวิชาเพราะต้องทำงาน ดังนั้น กศน.อำเภอบาเจาะ จึงปรับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยวิธีเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อ วิธีเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ วิธีเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพในอนาคต