เครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าว สำหรับทำมะพร้าวแก้ว

วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ เป็นหนึ่งในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทักษะและคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม พร้อมคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัย ช่วยพัฒนาอาชีพให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

เครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าว

สำหรับทำมะพร้าวแก้ว

มะพร้าวแก้ว เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี เช่น มะพร้าวแก้ว เกรด A ขายได้ 300 บาทต่อกิโลกรัม สินค้าเกรด B 240 บาทต่อกิโลกรัม และสินค้าเกรด C 200 บาทต่อกิโลกรัม

เครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าวสำหรับทำมะพร้าวแก้ว

การร่อนหรือการสลัดเกล็ดน้ำตาลออกจากเนื้อมะพร้าว เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต “มะพร้าวแก้ว” การร่อนเกล็ดน้ำตาลมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ลดความแข็งกระด้างและความหวานของเนื้อมะพร้าวแก้ว ลดโอกาสการเกิดเชื้อราน้ำตาลในเนื้อมะพร้าวแก้ว ช่วยยืดอายุการเก็บรักษามะพร้าวแก้วได้นานขึ้น การร่อนเกล็ดน้ำตาล โดยใช้แรงงานคนมักร่อนเกล็ดน้ำตาลได้ไม่เกิน 2 กิโลกรัมต่อครั้ง ซึ่งขั้นตอนนี้ ใช้เวลาและแรงงานคนจำนวนมาก แต่ประสิทธิภาพหลังทำการร่อนเกล็ดน้ำตาลยังไม่ดีพอ ตามที่ต้องการ

นักศึกษาแผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ประกอบด้วย นายดุสิต ชลธาร นายชัยธวัช ภารไสว นายอภิเชษฐ์ สารสิทธิ นายอดิเทพ สลับทอง และครูที่ปรึกษา คือ อาจารย์สุรชัย โกมาลย์ เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมกันออกแบบ เครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าวสำหรับทำมะพร้าวแก้ว เสริมสร้างประสิทธิภาพการประกอบอาชีพของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของ นายชาญชัย แสนจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ

นวัตกรรมนี้ ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่แตกต่างกับเครื่องจักรที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปเพราะมีประสิทธิภาพในการสลัดเกล็ดน้ำตาลได้รวดเร็ว สามารถผลิตมะพร้าวแก้วในปริมาณมากตามที่ต้องการ ไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัมต่อครั้ง เครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าวผลิตจากเหล็กสแตนเลสทั้งชุด มีระบบป้องกันการตัดการทำงานของกระแสไฟฟ้า มีอุปกรณ์ป้องกันการเกิดอันตรายการหมุนของเพลา และสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก

หลักการทำงาน ของเครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าว สำหรับทำมะพร้าวแก้วแบบกึ่งอัตโนมัติ เริ่มจากนำมะพร้าวแก้วเข้าเครื่องก่อนทำการล็อกฝาปิดให้สนิท ปิดฝาครอบกันฟุ้งกระจาย ทำการกดปุ่มสตาร์ต มีไฟเตือนสถานะการทำงานของเครื่อง ไฟสีเขียวแสดงว่าเครื่องกำลังทำงาน เวลาที่เหมาะสมในการสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าวแก้ว เกรด A = 20 นาที เกรด B = 15 นาที และ เกรด C = 10 นาที เครื่องจักร เริ่มทำงานจนครบเวลา จากนั้นทำการกดปุ่ม STOP เพื่อนำมะพร้าวออกจากเครื่อง กรณีต้องการเริ่มเวลาใหม่ให้กดปุ่มหยุด STOP เมื่อต้องการหยุดเวลา

ผู้สนใจชมผลงาน ในงานวันนักประดิษฐ์

สิ่งประดิษฐ์นี้ มีประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพการทำมะพร้าวแก้ว เพราะช่วยประหยัดเวลาและลดการใช้แรงงานในการสลัดหรือร่อนเกล็ดน้ำตาลออกจากเนื้อมะพร้าวแก้ว เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตมะพร้าวแก้วต่อวันได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้ายิ่งขึ้น เพราะสินค้าผลิตอย่างถูกสุขอนามัย สะอาด ปลอดภัย แถมน้ำตาลที่ได้จากการสลัด สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก

วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ได้นำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จัดแสดงใน งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” เวที Thailand New Gen Inventors Award : I-New Gen Award 2023 จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปรากฏว่า ผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานจำนวนมาก เพราะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับใช้ประกอบอาชีพแปรรูปมะพร้าวแก้ว ทำให้เกษตรกรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้เพิ่มและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬผลิตเครื่องสลัดเกล็ดน้ำตาลมะพร้าว สำหรับทำมะพร้าวแก้วแบบกึ่งอัตโนมัติ จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจในราคา 55,000 บาท ผู้สนใจสามารถชมการทำงานของนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ทาง คลิปวิดีโอ: https://youtu.be/Ni-31lVHWEM สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สุรชัย โกมาลย์ โทร. 082-843-3764 อีเมล [email protected]

วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ นำเสนอผลงานในเวที I-New Gen Award 2023

เครื่องก่อไฟเตาถ่าน

คนที่อยากเปิดร้านหมูกระทะมีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ทำอย่างไรให้ลูกค้าที่เข้าร้านมีความพึงพอใจต่อการบริการต่างๆ ความรวดเร็วของการได้รับประทานอาหาร ไม่รอนานจนเกินไป ปัญหาหนึ่งที่ทางร้านหมูกระทะมักพบเจอบ่อยๆ คือ วิธีการก่อไฟในเตาถ่านให้ความร้อน ก่อนที่จะนำไปให้บริการ

ลูกค้าไม่ว่าร้านหมูกระทะ ไม่ว่าร้านขนาดเล็กหรือร้านขนาดใหญ่ มักพบเจอปัญหานี้ในการจุดตั้งไฟครั้งแรกต้องใช้เวลานานกว่าไฟในเตาถ่านจะให้ความร้อน ดังนั้น ร้านหมูกระทะส่วนใหญ่จึงมักก่อไฟให้ติดจำนวนมาก ไว้ในถาดหรือในเตาถ่านหลายเตาตั้งทิ้งไว้รอให้ลูกค้าก้าวเข้ามาใช้บริการแล้วยกไปบริการ หรือใช้พัดลมเป่าลมทำความร้อนให้กับเตาถ่าน ซึ่งลมที่ถูกปล่อยออก มาทำให้เกิดสะเก็ดไฟในเตาถ่านกระเด็นและลอยไปตามทิศทางของลมส่งผลให้บริเวณนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และใช้เวลาตั้งไฟนาน ทำให้สูญเสียพลังงานที่ไม่จำเป็น ระหว่างรอให้ลูกค้าเข้ามารับบริการ นักศึกษาแผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ประกอบด้วย นายดุสิต ชลธาร นายชัยธวัช ภารไสว นายณัฐพงษ์ สุพร นายทิวากร กองพิมพ์ และครูที่ปรึกษา คือ อาจารย์นัฐพงษ์ ศรีต้นวงค์ โทร. 085-461-1579 ได้ร่วมกันออกแบบเครื่องก่อไฟเตาถ่าน เป็นทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากการก่อไฟเตาถ่านที่ใช้อยู่ทั่วไป มีประสิทธิภาพการทำความร้อนจุดไฟในเตาถ่านได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ลดเวลาลง ลดค่าใช้จ่าย ลดความสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง

เครื่องก่อไฟเตาถ่าน

ข้อมูลจำเพาะของเครื่องก่อไฟเตาถ่าน มีขนาด 60x100x80 เซนติเมตร น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1/15 HP ขนาดไฟฟ้าในบ้าน 220 โวลต์ สามารถปรับระดับแรงลมได้ 3 ระดับ กำลังการผลิตก่อไฟเตาถ่าน 2 เตาถ่านต่อ 60 วินาที ขนาดเตาถ่านที่ใช้ 25, 29, 35 เซนติเมตร เชื้อเพลิงถ่าน ใช้ได้ทั้งถ่านอัดแท่ง หรือถ่านจากการเผาไหม้ การอบหรือการเตาเผาถ่าน

จุดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ มีอุปกรณ์เพิ่มการกระจายความร้อน ชิ้นส่วนอุปกรณ์มีมาตรฐานความปลอดภัย ให้ความร้อนสูงในเวลารวดเร็ว อายุการใช้งานสูงกว่า 2 ปี ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า 20-30% ใช้เวลาก่อไฟในเตาถ่านไม่เกิน 60 วินาที เครื่องก่อไฟ ใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี แข็งแรงทนทานต่อความร้อนสูง

สิ่งประดิษฐ์นี้ มีประโยชน์มากเพราะช่วยให้การก่อไฟในเตาถ่านทำความร้อนได้เร็วขึ้น ประหยัดเวลา ลดการสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิง ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มปริมาณการผลิตต่อวัน ช่วยให้การประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านหมูกระทะ ร้านเนื้อย่าง ร้านทะเลเผา สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถชมการทำงานของนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ทางคลิปวิดีโอ: https://youtu.be/DaS7_JxVZRM

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)