กาดินเผา ใส่นมเด็ก ภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพชนไทย

กาน้ำของเราชาวไทยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ กาน้ำ ที่ทำด้วยอะลูมิเนียม

กาน้ำชนิดนี้ นอกจากพบเห็นได้ตามบ้านเรือนแล้ว ยังพบเห็นได้จากตามวัดวาอาราม เพราะคราใดที่บวชพระ ครานั้นเป็นต้องมีกาน้ำเพิ่มขึ้นไปอีก 1 ใบ เนื่องจากกาน้ำเป็นหนึ่งในเครื่องของใช้สำหรับพระภิกษุสงฆ์มาแต่โบราณกาล

แต่ปัจจุบัน แม้กาน้ำอะลูมิเนียมพระภิกษุสงฆ์จะไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์แล้ว เนื่องจากมีกาน้ำชนิดเสียบปลั๊กไฟฟ้าต้มน้ำร้อนได้มาแทน แต่ด้วยความเชื่อและความเคยชิน เวลาบวชพระก็จะพบกาน้ำอะลูมิเนียมอยู่นั่นเอง

สมัยเก่าก่อน เราชาวบ้านเคยมีกาดินเผาใช้กันมานมนาน นอกจากเรามีกาใส่น้ำ ต้มน้ำแล้ว เรายังมีกาใส่นมให้เด็กๆ ด้วย

ถ้าจะถามว่า กาดินเผา มีมาแต่ปางใด คำตอบอาจอยู่ที่ ตั้งแต่คนเราเริ่มรู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผามาใช้ในครัวเรือน

เรารู้จักปั้นหม้อ ไห ถ้วย ชาม ของใช้ในชีวิตประจำวันมาเมื่อหลายพันปี การสร้างสรรค์คิดทำกาใส่นมก็น่าจะคิดทำได้ ใช้สะดวกดีมาแต่ปางนั้น แต่ทั้งนี้ขอบอกก่อนว่า เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้

กาสำหรับใส่น้ำนมให้เด็กๆ มีการพบที่ภาคเหนือของไทย และอาจจะมีที่อื่นๆ อีกบ้าง ภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยเก่าก่อน แม้จะไม่รู้อะไรแล้วเขียนใส่ไลน์แพร่ออกไปได้ทั่วโลกอย่างปัจจุบัน แต่ก็มีการแพร่ออกไปได้เหมือนกัน โดยอาศัยการเดินทางของพ่อค้า นักเดินทาง และการย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง

กาใส่นมเด็ก สันนิษฐานว่า เมื่อแม่นมคัด หมายถึงเวลาที่น้ำนมแม่พร้อมที่จะให้ลูกดื่ม แต่เผอิญว่า แม่กำลังยุ่งอยู่กับงาน แม่ก็บีบน้ำนมใส่เข้าไปในกา แล้วให้คนนำไปให้ลูกน้อย

หรืออาจจะเป็นสาเหตุอื่น เป็นต้นว่า เมื่อมีนมวัวที่ต้องการให้ทารกดื่ม ก็นำมาใส่เข้าไปในกาดินเผา แล้วให้ทารกดื่มกินได้ เพราะสะดวกกว่าจะป้อนด้วยวิธีการอื่นๆ

เมื่อมีน้ำนมอยู่ในกาแล้ว เด็กน้อยต้องการดื่มนมคราใด ก็เพียงแต่เอียงพวยกาใส่เข้าปากเด็กไปเบาๆ แค่นี้เอง เจ้าตัวน้อยก็อิ่ม และหลับปุ๋ยได้แล้ว

การใช้กาดินเผาสำหรับให้นมเด็กน้อย นับว่าเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพชนไทย เพราะทำให้สะดวกต่อแม่ และยังง่ายต่อการป้อนนมที่ไม่ใช่นมแม่ให้เด็กอีกด้วย

คำว่า กา มาจากไหน ทำไมเรียกภาชนะใส่น้ำ มีพวยยื่นออกมาว่า กา สาเหตุที่เราชาวไทยเรียกว่า กา มาจากอะไร เคยถามผู้ใหญ่ท่านบอกว่า น่าจะมาจากกาสมัยก่อนกาใส่น้ำมีสีดำเหมือนอีกา ที่ร้อง กา กา

กาสมัยก่อนเราใช้ทั้งใส่น้ำและต้มน้ำ กาที่ต้มน้ำสมัยก่อนเราใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง กว่าจะต้มน้ำเดือดใช้การได้แต่ละครั้ง คราบเขม่าควันที่เกิดจากฟืนเกาะกาดำมะเมื่อม เราเลยเรียกเครื่องมือของใช้ชนิดนี้ว่า กา

คำว่า กา เป็นที่มาของสำนวน เช่น เราก็เปรียบคนผิวดำว่า ดำเหมือนกา เปรียบคนผิวดำใส่เสื้อผ้าสีแดงว่า กาคาบพริก และยังตำหนิคนใจดำว่า ใจดำเหมือนกา เป็นต้น

รวมความแล้ว กา นอกจากหมายถึงภาชนะใส่น้ำแล้ว ยังหมายถึงสัตว์ปีก และยังหมายถึงสีดำอีกด้วย

กาที่เป็นสัตว์ปีกสีดำ แม้ตัวจะดำแต่ใจดี สมัยเด็กๆ เคยท่องอาขยานว่า กาเอ๋ยกาดำ รู้จำรู้จักรักเพื่อน… เห็นไหมว่ากาดำๆ ก็เป็นแบบอย่างที่ดีได้

และสมัยเด็กๆ อีกเหมือนกัน เคยฟังเพลงของ สายัณห์ สัญญา ท่อนหนึ่งว่า อยากกินเนื้อคนใจดำ เคยคิดประสาเด็กว่า คนอะไรใจร้ายจัง ขนาดคนใจดำยังจะกินเลือดกินเนื้อได้ลงคอ นั่นเป็นเรื่องราวเก่าก่อน

ปัจจุบัน กาดินเผาสำหรับใส่นม น่าจะไม่มีใครได้ใช้แล้ว เพราะเรามีครื่องมือทันสมัย สามารถผลิตกาคุณภาพดีมาใช้ได้มากมาย ทำให้กาสมัยใหม่เข้ามาแทนที่กาดินเผาได้เป็นอย่างดี

เราใช้กาอะลูมิเนียมและกาที่ทำด้วยวัสดุทันสมัยมาแทนกาดินเผากันมานานแล้ว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560