ถั่วเหลือง: เม็ดจิ๋วแต่แจ๋ว รวม 4 สิ่งแปรรูปจากถั่วเม็ดจิ๋ว

ถั่วเหลือง: เม็ดจิ๋วแต่แจ๋ว รวม 4 สิ่งแปรรูปจากถั่วเม็ดจิ๋ว 

          “ถั่วเหลือง” พืชตระกูลถั่วที่ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และมีอายุในการเก็บเกี่ยวที่สั้น ใช้น้ำน้อย อีกทั้งยังมีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศซึ่งนอกจากการปลูกเพื่อบริโภคแล้ว เจ้าพืชตระกูลถั่วสีเหลืองนี้ยังมักถูกปลูกเพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าวและปรับปรุงโครงสร้างดินสำหรับการทำการเกษตรอีกด้วย 

          “ถั่วเหลือง” แหล่งโปรตีนชั้นดีและสารอาหารที่สามารถหาซื้อได้ในราคาย่อมเยา มักปรากฎตัวในชีวิตประจำวันของเราอยู่เสมอ บ้างก็มาในรูปของน้ำเต้าหู้ร้อน ๆ ที่เรารับประทานคู่กับปาท่องโก๋ในตอนเช้าก่อนไปทำงาน บ้างก็ปรากฎตัวในฐานะเครื่องปรุงต่าง ๆ ภายในห้องครัว และแม้ว่าเจ้าถั่วเม็ดจิ๋วสีเหลืองนวลนี้จะมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่เซนติเมตร แต่กลับอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายและสารอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน K , B1, B9, และฟอสฟอรัส อีกทั้งยังมีไขมันดีที่สามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง และพร้อมไปด้วยคาร์ดโบไฮเดรตและไฟเบอร์ด้วยเช่นกัน วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาดูการแปรรูปถั่วเหลืองในรูปแบบต่าง ๆ ที่แม้ถั่วเหลืองจะเปลี่ยนรูปร่างไปแต่คุณประโยชน์ยังคงอัดแน่นเช่นเดิม 

  1. น้ำเต้าหู้

    น้ำเต้าหู้ เป็นการแปรรูปถั่วเหลืองยอดนิยมในทุกยุคทุกสมัย ด้วยรสชาติที่มีความหอมมันและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้น้ำเต้าหู้นั้นครองใจใครต่อใครมาอย่างช้านาน แต่กระนั้นการแปรรูปถั่วเหลืองให้เป็นน้ำเต้าหู้ก็ไม่ได้มีวิธีที่ยุ่งยาก ซึ่งใช้วัตถุดิบเพียง 2 อย่าง คือ น้ำสะอาดและเมล็ดถั่วเหลืองเท่านั้น โดยเริ่มจากการล้างถั่วเหลืองให้สะอาดจนไม่ได้กลิ่นเหม็นเขียวที่ติดมากับถั่ว จากนั้นจึงค่อยนำถั่วเหลืองไปแช่น้ำสะอาดเป็นเวลา 3 ชั่วโมงจนถั่วมีลักษณะนิ่มและพองตัวขึ้น เมื่อถั่วเหลืองที่ทำการแช่ไว้พองตัวจนได้ที่แล้ว ก็ได้เวลาที่เม็ดถั่วเหลืองจะกลายเป็นน้ำเต้าหู้ผ่านกรรมวิธีปั่นถั่วเหลืองเข้ากับน้ำสะอาด และเมื่อปั่นจนละเอียดเนียนดีแล้วค่อยนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อให้ได้น้ำเต้าหู้อันนวลเนียนแสนอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

  2. เต้าหู้

อีกหนึ่งการแปรรูปที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ เต้าหู้ โดยเต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลืองนั้นมีด้วยกันหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้อ่อน เต้าหู้แข็ง เต้าหู้เหลือง ฟองเต้าหู้ เต้าหู้หมัก และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งวิธีการทำเต้าหู้อย่างง่าย สามารถทำได้เพียงมีถั่วเหลือง น้ำสะอาด และน้ำส้มสายชู ซึ่งจะเริ่มจากล้างถั่วเหลืองและแช่ในน้ำสะอาดทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมงโดยประมาณ จากนั้นนำถั่วเหลืองไปปั่นจนละเอียด จึงค่อยนำถั่วเหลืองที่ได้มากรองกับผ้าข้าวบาง ห่อผ้าให้อยู่ในลักษณะที่บีบน้ำออกได้ง่ายที่สุด เมื่อน้ำถูกบีบออกจนหมดให้นำถั่วเหลืองไปปั่นต่อในเครื่องปั่นและตามด้วยการใส่น้ำปริมาณพอท่วม ปั่นต่อเพียง 30 วินาที และนำถั่วเหลืองมาบีบน้ำออกโดยใช้ผ้าข้าวบางอีกครั้ง จึงค่อยน้ำน้ำเต้าหู้ที่ได้มาต้มให้เดือดและใส่น้ำส้มสายชูลงไปสลับกับคนอย่างสม่ำเสมอ จนเมื่อได้น้ำเต้าหู้ที่มีลักษณะจับตัวเป็นก้อน ให้เตรียมผ้าขาวบางวางลงในแม่พิมพ์เต้าหู้ ตลบผ้าคลุมด้านบนของเต้าหู้ให้เรียบร้อยดี ก่อนจะใช้ฝาแม่พิมพ์กดทับเนื้อเต้าหู้ไว้ ทิ้งให้เนื้อเต้าหู้เย็นและขึ้นรูปเป็นก้อนสีเหลี่ยมก็เป็นอันใช้ได้ 

3. ซอสถั่วเหลือง 

แม้ซอสถั่วเหลืองจะเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด แต่ซอสถั่วเหลืองก็มีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังสามารถเลือกสรรค์วัตถุดิบต่าง ๆ ในกระบวนการทำด้วยตนเองได้อีกด้วย วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำซอสถั่วเหลืองไว้รับประทานเอง คือ การใช้โหลแก้วในการหมัก โดยใช้เพียงแค่เมล็ดถั่วเหลือง ผลไม้รสเปรี้ยวที่ช่วยให้กระบวนการย่อยถั่วเหลืองทำงานได้ดียิ่งขึ้น และใช้พื้นผักสวนครัวอีกเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับซอสถั่วเหลือง เช่น ใบไชยา ใบมะรุม หรือ ใบม่อน โดยขั้นตอนการทำนั้นเริ่มจากการนำถั่วเหลืองไปต้มในน้ำเดือดเป็นเวลา 4 ชั่วโมง จากนั้นนำถั่วเหลืองที่เย็นแล้วใส่ในขวดโหลที่เตรียมไว้ ตามด้วยผลไม้รสเปรี้ยวและผักพื้นบ้าน เติมน้ำตาล และตบท้ายด้วยดอกเกลือ ปิดฝาขวดโหลให้แน่นสนิทและรอให้กระบวนการย่อยสลายของถั่วเหลืองนั้นเสร็จสิ้นเป็นเวลา 3 เดือน ก็จะได้ซอสถั่วเหลืองฉบับโฮมเมดไว้ใช้ปรุงอาหารภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว 

Advertisement

4. อาหารสัตว์

Advertisement

 

เมื่อผ่านการแปรรูปในฐานะอาหารไปแล้ว แต่ถั่วเหลืองยังไม่หมดประโยชน์เพียงเท่านั้น กากของถั่วเหลืองที่เหลือทิ้งจากครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีในอาหารสัตว์อีกด้วย เนื่องจากมีโปรตีนสูงถึง 34% โดยมักนิยมนำไปผสมเข้ากับอาหารสัตว์อื่น ๆ เพราะในกากถั่วเหลืองมีสารยับยั้งการใช้ประโยชน์จากโปรตีนและเอนไซม์ยูรีเอส ซึ่งจะย่อยสลายโปรตีนในกากถั่วเหลืองในระหว่างการเก็บรักษานั่นเอง 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://nutrilite.co.th/th/article/soy-bean 

https://www.wongnai.com/recipes/soya-milk 

https://readthecloud.co/homemade-tofu/ 

https://www.greenery.org/essay-homemadesoysauce/ 

https://www.goodthaifeed.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7/#google_vignette 

การปลูกถั่วเหลืองในวิกฤติภัยแล้ง – KUBOTA (Agri) Solutions (siamkubota.co.th)