เผยแพร่ |
---|
หลายๆ ผลงานศิลป์มักซ่อนเรื่องราวหรือสตอรี่ไว้ในงาน บางชิ้นมีคอนเซ็ปต์ที่ทำให้เราทึ่งจนต้องหยุดคิด และบอกเลยว่ากว่าจะออกมาเป็นผลงานแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย! วันนี้ เทคโนโลยีชาวบ้าน จะพาคุณไปรู้จักกับบุคคลที่ทำให้เราหลงรักคอนเซ็ปต์ศิลปะของเขา

คุณเดียว-ฐานันดร ศรีเพ็ญ เจ้าของเพจ OTTO Farm Studio ผู้เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้จากโคราชให้กลายเป็นงานศิลป์ที่มีมูลค่า เริ่มต้นจากศูนย์แบบไม่มีทั้งทุนและประสบการณ์ด้านศิลปะ ผ่านอุปสรรคมานับไม่ถ้วน แต่ด้วยความหลงใหลและไม่ยอมแพ้ เขาศึกษา ลองผิดลองถูก และรับฟังความรู้จากคนรอบข้าง จนสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและไม่เหมือนใครออกมาได้สำเร็จ
จุดเริ่มต้นของคุณเดียวในการทำงานศิลป์มาจากความฝัน แต่ไม่มีทุน เขาเล่าว่า “ตอนนั้นทำสตูดิโอไปพร้อมกับงานประจำ ซึ่งทำงานอยู่ที่ร้านขายอะไหล่รถยนต์ ผมก็เลยขอแผ่นไม้ที่ใช้ใส่อะไหล่มาแทนเฟรมผ้าใบ เพราะไม่มีเงินซื้อเฟรม หลังจากนั้นก็เริ่มมองหาของใกล้ตัว อย่างเศษเครื่องปั้นดินเผา อะไหล่เก่าๆ หรือพาเลทจากร้านเฟอร์นิเจอร์ แล้วค่อยๆ ต่อยอดสร้างงานจากสิ่งเหล่านี้ทีละนิด
สีสันเหล่านี้มาจากไหนกันนะ?
ที่เห็นหลากหลายสีสันแบบนี้ ล้วนมาจากวัสดุเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่า แต่คุณเดียวกลับนำมาเพิ่มคุณค่าอย่างน่าทึ่ง เช่น สีน้ำตาลอ่อนถึงดำได้มาจากเศษเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งสีต่างกันตามอุณหภูมิการเผา ส่วนสีชมพูและขาวมาจากเศษวัสดุจากการแกะสลักพระที่ลำตะคอง และสีม่วงก็มาจากเศษเล็กๆ ของฟอสซิลที่ไม่ได้ใช้แล้ว
คุณเดียวเล่าว่า “ผมต้องลงมือศึกษาว่าเศษวัสดุเหล่านี้จะยึดเกาะกับอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นไม้ ขวดแก้ว หรือเฟรมผ้าใบ จากนั้นก็เริ่มทำเป็นของที่ระลึกชิ้นเล็กๆ และค่อยๆ ต่อยอดกลายเป็นผลงานต่างๆ”

ไอเดีย “จากของเสียสู่ของสวย”
สีสันที่เห็น เกิดจากแนวคิด ‘ใช้ดินอย่างรู้คุณค่า’ คุณเดียว เล่าว่า “ลุงต๋อง วัฒนา ป้อมชัย ศิลปินแห่งด่านเกวียน บอกผมว่าถ้าใช้ดิน ต้องใช้อย่างรู้คุณค่า การเริ่มทำเซรามิกที่ด่านเกวียนทำให้ผมเห็นว่าขั้นตอนการผลิตสร้างของเสียเยอะมาก โดยเฉพาะจากงานของเราเอง ซึ่งสมัยก่อนไม่มีการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ผมจึงเริ่มผสมของเสียเหล่านั้นกับดินแล้วปั้นขึ้นรูปเป็นเซรามิกชิ้นใหม่
ตอนนำผลงานไปพรีเซ็นต์ ไม่ค่อยมีใครรู้เลยว่าผลงานนี้ทำจากของใหม่กี่เปอร์เซ็นต์ และนำกลับมาใช้ใหม่กี่เปอร์เซ็นต์ คุณเดียวจึงคิดหาวิธีมาเรื่อยๆ จะทำยังไงของพวกนี้จะแสดงตัวออกมาได้ ก็เริ่มจากการใช้เป็นเศษทุบให้เล็กๆ นำมาติดกับวัสดุต่างๆ แบบเดียวกับการทำโมเสก โดยใช้สีสันจากเศษวัสดุต่างๆ มาสร้างสรรค์ผลงานให้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์”
คอนเซ็ปต์ของปีนี้ 2024
คุณเดียว เล่าว่า หัวใจหลักของงานคือ “สัญญาณชีพลุ่มน้ำมูล” เราตั้งใจจะเล่าเรื่องราวของลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นต้นน้ำของโคราชและไหลผ่านถึงจังหวัดอุบลราชธานี ครอบคลุม 19 จังหวัด เราจะค่อยๆ เก็บข้อมูลแต่ละพื้นที่และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ
สำหรับคอนเซ็ปต์สีปีนี้เป็น “Co Color” ซึ่งเล่นกับสีจากวัสดุธรรมชาติในโคราช เช่น เศษเครื่องปั้นดินเผา และเศษหินจากการแกะสลักพระและประติมากรรมในลำตะคอง รวมถึงหินที่เหลือจากการสกัดฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เราหยิบเอาสิ่งเหล่านี้มาเล่าเรื่องผ่านโทนสีที่หาได้ในท้องถิ่น
หลายๆ คนคงสงสัยว่าของเหล่านี้จากไม่มีมูลค่า ทำยังไงถึงเกิดรายได้ได้
ช่วงเริ่มต้นยังไม่มีรายได้ ก็เลยต้องลองหาหลายๆ วิธี พอเป็นงานศิลปะ คำถามแรกที่เจอคือ จะขายให้ใคร? ตอนแรกเริ่มทำเป็นกระดานชิ้นใหญ่ๆ แต่พอทำแล้วขายยาก ก็เลยลองเปลี่ยนมาทำแจกันจากขวดแก้วแล้วเพ้นต์ แต่ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าไม่ใช่แนว จึงเริ่มหันมาทำของที่เข้าถึงง่ายขึ้น อย่างเครื่องประดับต่างๆ กว่าจะลงตัวก็ลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน
ถ้าหากคนไหนสนใจผลงาน หรือชิ้นงานต่างๆ รวมไปถึงอยากรู้กระบวนการทำ สามารถไปเรียนรู้ ศึกษา ได้ที่เพจ Facebook : OTTO farm Studio