ผู้เขียน | สัจภูมิ ละออ |
---|---|
เผยแพร่ |
ลูกประคบ มีหลายชนิด และใช้ประโยชน์ต่างกัน
นักศึกษาภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด คือ “ออกไปทำสำเนาจารึก” ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ใต้ ออก ตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ใดมีจารึกที่นั่นนักศึกษาจารึกต้องไปถึง
นักศึกษาต้องไปทำสำเนาจารึกเก็บไว้ ก่อนจารึกจะเสียหาย หรือถูกโยกย้ายไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ จนหาไม่พบ
เมื่อไปถึงสถานที่มีจารึก นักศึกษาไม่ได้ไปมือเปล่า แต่ไปพร้อมกับเครื่องมือทำสำเนาจารึก อุปกรณ์เหล่านั้น ได้แก่ กระดาษสา น้ำหมึกสีดำ แปรง ขันน้ำ และลูกประคบ
ลูกประคบสำหรับทำสำเนาจารึกมีหลายขนาด ขนาดใหญ่เหมาะสำหรับพื้นที่จารึกกว้าง ขนาดเล็กสำหรับพื้นที่จารึกแคบๆ และขนาดเล็กมากๆ ก็ต้องมีสำรองไว้ เผื่อมีพื้นที่เป็นซอกมุมเล็กๆ จะได้นำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่
การทำลูกประคบ อุปกรณ์มี
- ผ้าดิบ
- ปุยนุ่น
- เชือกเส้นเล็กๆ
- มีด หรือกรรไกร
วิธีการทำคือ ตัดผ้าดิบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดตามแต่ต้องการ นำปุยนุ่นมาวางไว้ในผ้าดิบ ห่อ แล้วเอาเชือกมัดให้แน่น นุ่นที่ใส่เข้าไป ต้องอัดให้แน่นพอเหมาะ ต้องไม่นุ่มนิ่มเกินไป จนกดเบาๆ ก็ยุบเข้าไปอย่างเด็ดขาด
วิธีใช้ลูกประคบ เมื่อพบศิลาจารึกที่ต้องการทำสำเนา เบื้องแรกต้องขออนุญาตผู้ครอบครองจารึก อาจเป็นหลวงพ่อที่วัด หน่วยงานเอกชน ชาวบ้าน หรือหน่วยงานราชการก็ตาม เมื่อได้รับอนุญาตแล้วเราต้องล้างฝุ่น ผง ดิน ที่เกาะอยู่ตามจารึกให้สะอาด เช็ดให้น้ำแห้ง นำเอากระดาษสามาทาบกับจารึก ให้กระดาษสาใหญ่กว่าจารึกด้านหนึ่งอย่างน้อย ประมาณ 1 ฝ่ามือ ตัดกระดาษสาให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
นำกระดาษสาทาบลงไปบนแผ่นจารึก ฉีดน้ำลงไปบนกระดาษสาให้เปียก ใช้แปรงทุบกระดาษสาเบาๆ ให้กระดาษสาอ่อนตัวลงเข้าไปในร่องอักษร ปล่อยทิ้งไว้เล็กน้อย ขั้นตอนต่อไปคือ นำลูกประคบออกมา ลูกประคบที่ใช้เราใช้เป็นคู่ อันหนึ่งเป็นลูกประคบสำหรับทุบตี เราเทน้ำหมึกใส่ลงไป อีกอันหนึ่งเป็นลูกประคบสำหรับประกบ เราใช้ลูกประคบลูกที่สองนี้สำหรับเกลี่ยให้หมึกอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
เมื่อป้ายหมึกบนลูกประคบและเกลี่ยหมึกพร้อมใช้งานแล้ว เราทุบลูกประคบอันที่ป้ายหมึกลงไปบนแผ่นศิลาจารึกด้วยน้ำหนักมือที่พอเหมาะ เริ่มไล่ทุบจากด้านบนจารึกลงมาด้านล่าง การตีลูกประคบลงบนศิลาจารึก จะเริ่มจากทางซ้ายไปทางขวา หรือจากทางขวาไปทางซ้ายก็ได้ ตามถนัด
ระหว่างทุบลูกประคบลงไปบนแผ่นศิลาจารึก จะเห็นกระดาษสาในร่องตัวอักษรสีขาวๆ (สีกระดาษสา) ส่วนพื้นศิลาจารึกด้านบน กระดาษสาที่ทาบอยู่จะสีดำ (สีหมึก) สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า กระดาษสาส่วนที่อ่อนตัวถูกทุบลงไปในร่องอักษรก่อนนั้น จะไม่ถูกหมึกจากลูกประคบที่เราตีลงไป
ศิลปะการตีลูกประคบ ต้องมีความแม่นยำในการตี และต้องตีเรียงต่อๆ กันไป ไม่เว้นช่อง หรือช่วงใดช่วงหนึ่งไว้แล้วกลับมาตีซ้ำ เพราะจะทำให้ระดับสีหมึกไม่สม่ำเสมอ หากพื้นที่กว้างก็ใช้ลูกประคบอันใหญ่ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลืองแรงมาก แต่ถ้าเป็นซอกเล็กๆ หรือพื้นที่แคบตีลูกประคบใหญ่ไม่สะดวก หรือลงไม่ทั่วถึงก็ใช้ลูกประคบเล็กๆ
เห็นไหมว่า การทำงานต้องเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม ไม่ต่างอะไรกับการใช้คน ที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับงาน
ระหว่างตีลูกประคบต้องคอยดูความเข้มของหมึก ถ้าหมึกจางต้องป้ายหมึกใหม่ทันที แล้วใช้ลูกประคบอีกอันหนึ่งประกบเข้าด้วยกัน เกลี่ยหมึกให้สม่ำเสมอก่อนใช้งานต่อไป
หลังทุบลูกประคบจนเต็มพื้นที่จารึกแล้ว ค่อยๆ แกะแผ่นกระดาษสาออกจากจารึก นำไปตากให้แห้งเพื่อเก็บไว้ศึกษาข้อมูล
ข้อมูลจากศิลาจารึกนับเป็นหลักฐานชั้นต้น สามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ ในจารึกปกติจะระบุ วัน เดือน ปี ที่สร้าง ผู้สร้าง และมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ อย่างกรณี จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นจารึกสมัยสุโขทัย เราทราบได้จากปีที่ปรากฏในจารึก และรูปแบบอักษรที่ปรากฏในจารึก เป็นต้น
ลูกประคบ แม้จะเป็นเครื่องมือของนักวิชาการ นักศึกษาจารึก แต่ก็พัฒนามาจากลูกประคบของชาวบ้าน ทั้งที่ใช้ประคบสมุนไพรเยียวยาคนไข้ และประคบเพื่อนวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ของหมอที่รักษาด้วยการนวด เป็นต้น
การทำสำเนาจารึกโดยใช้ลูกประคบ แม้จะเป็นวิธีที่เก่าแก่ แต่ก็สามารถคัดลอกเอาข้อความในจารึกมาเป็นเอกสารศึกษาได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน แม้จะมีเครื่องมือถ่ายภาพทันสมัย สามารถถ่ายภาพรูปอักษรได้ชัดเจน แต่การทำสำเนาจารึกแบบดั้งเดิมยังมีอยู่ ลูกประคบจึงไม่หมดความสำคัญ