มีหินย้อยห้อยระย้าดารดาษ แสงสูรย์สาดถ้ำสุวรรณดั่งจันทร์ฉาย

จากข้อเขียนของ อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม ที่ลงพิมพ์ในหนังสือ เพชรนิวส์ ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 กล่าวว่า ถ้ำหลวงเป็นสถานที่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองเพชร มีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่และเป็นที่ชุมนุมผู้คนจำนวนมากที่มานมัสการพระพุทธบาทในเทศกาลตรุษสงกรานต์ สอดคล้องกับเนื้อความที่ปรากฏในนิราศเขาหลวงของขุนวรการ ซึ่ง ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว นำมาบันทึกไว้ใน ประชุมนิราศเมืองเพชรบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2448-2470 ความว่า

ทางลงถ้ำเขาหลวง

“พอถึงประตูคูหาพนาสาณฑ์              เย็นสำราญคนผู้ดูหนักหนา

เดินเบียดเสียดเยียดยัดอัดกันมา         เข้าคูหาห้องแก้วแล้วสำราญ

แล้วลงจากเชิงบันไดใหญ่มหันต์         ไม่ช้าพลันถึงเขาทำพระกรรมฐาน

ปั้นเป็นผีนอนตายขึ้นใหญ่กราน         นัยน์ตาปานใหญ่ยาวราวกับจริง

พี่เป็นเข้าเกล้าพองสยองเศียร             ให้วนเวียนบ่นธรรมกรรมมาสิง

พอคิดถึงอนิจจาน่าประวิง                  เราคงกลิ้งตายยับกับพสุธา

พี่คิดได้แต่หากปากสนอง                   น้ำจิตต์หมองถึงนวลเฝ้าครวญหา

แม้น้องมาช่วยกันคิดอนิจจา              สังขาราคงกระจ่างทางนิพพาน

พี่ตั้งจิตต์ปลงคนเดียวยังเหลียวหลัง     พว้าพวังอยู่ด้วยนุชสุดสงสาร

เพราะเป็นห่วงแก้วตาสุดามาน           จะนิพพานคนเดียวเปลี่ยวฤทัย

แล้วเดินตัดลัดทางมาข้างขวา             เข้าวันทาพระพุทธบาทประสาทใส

พี่ตั้งจิตพิศถานสำราญใจ                   ขอให้ได้สมหวังดังสัจจา

ทั้งผลศีลผลทานช่วยปรานโปรด          ให้ปราโมทย์สมหวังดังปรารถนา”

พระพุทธไสยาสน์

รอยพระพุทธบาทที่เขาหลวงเป็นเจดียสถานที่สำคัญมาแต่โบราณ รอยพระพุทธบาทนี้เป็นศิลาจำหลักไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อไร แต่จากรูปแบบลักษณะทางศิลปะที่ปรากฏบ่งเค้าว่าจะเป็นพุทธศิลป์แบบอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น เพราะที่หน้ากระดานชั้นบนสุดของฐานพระพุทธบาทจำหลักเป็นลายดอกไม้และกระจังที่มีลักษณะการวางลายคล้ายฐานพระพุทธบาทที่วัดวรโพธิ์ อยุธยา อันเป็นพระพุทธบาทเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากนี้แล้ว ที่ฐานสิงห์ตรงท้องสิงห์ยังประดับปูนปั้นเป็นรอยหยักฟันปลาแบบเดียวกับฐานพระพุทธรูปศิลาสมัยอู่ทองซึ่งประดิษฐานภายในถ้ำหลวงแห่งเดียวกันอีกด้วย

ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปและพระธาตุขนาดย่อมอยู่รอบๆ บริเวณลาน

นอกจากรอยพระพุทธบาทแล้วยังมีเจดีย์โบราณซึ่งน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปชุดเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะแบบลพบุรีและอู่ทอง และพระพุทธรูปในชุดที่มีการปฏิสังขรณ์และสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำเขาหลวงปรากฏในหนังสือสมุดราชบุรี ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2468 ความว่า

“ถ้ำหลวงเป็นถ้ำสำคัญกว้างขวางกว่าถ้ำอื่นทั้งหมด ตั้งอยู่เกือบย่านกลางของเขา ปากกว้าง 6 วา ก้นถ้ำกว้าง 1 เส้น ยาว 2 เส้น สูง 1 เส้น มีปล่องกลางถ้ำกว้าง 1 วา พื้นถ้ำลาดปูอิฐเรียบร้อยกว้างขวางมาก ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปหลายปาง รายเรียงเป็นลำดับบ้าง อยู่ปลีกบ้าง และตามซอกผาบ้าง เป็นแนวเข้ากระทั่งในคูหาที่มืด พระพุทธรูปนั้นโดยมากมีนามพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างติดไว้ และยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 5 องค์ มีอักษรจารึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างไว้ และมีฝ่าพระพุทธบาทจำลอง ด้วยความสนุกสนานและความเพลิดเพลินใจในการเที่ยว ถ้ำนี้เป็นที่ประชุมในเทศกาลประจำปี เวลาตรุษสงกรานต์ มีประชาชนทั้งในท้องที่และนอกท้องที่มานมัสการพระพุทธบาท และเที่ยวชมถ้ำชมเขาเป็นจำนวนมากมายหลายพันทุกๆ ปี เป็นที่ครึกครื้นยิ่งกว่าเขาและถ้ำอื่นๆ

ปล่องเพดานรับแสงเบื้องบน

ถ้ำนี้อยู่ในความอารักขาของฝ่ายบ้านเมือง เมื่อเข้าไปในประตูถ้ำแล้ว ต้องลงบันไดชันลึกลงไปยังก้นถ้ำ มีที่หักเลี้ยว 2 เลี้ยว ตอนบนมีแสงสว่างส่องมาจากช่องบันได สองข้างทางที่ลงไปนั้นมีพระพุทธรูป พระพุทธบาทจำลอง และรูปสังเวช ซอกแซกตามคูหา เมื่อเดินไปถึงเวิ้งใหญ่กลางถ้ำข้างขวามีระฆังแขวนอยู่ 1 ใบ หลังเสาระฆังเข้าไปมีพระพุทธรูปขนาดกลาง 5 องค์ มีอักษรจารึกไว้ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้ แล้วเดินลงไปถึงเวิ้งใหญ่กลางถ้ำมีแสงสว่างส่องจากปล่องไม่ต้องใช้โคมไฟข้างๆ ถ้ำตามซอกคูหาเวิ้งเล็กๆ หลายแห่งมีพระพุทธรูปบังปากช่องอยู่เกือบทุกช่อง และบางคูหาเป็นหินอ่อนสีเขียวย้อยเป็นกลีบๆ ย้อยยาวลงมาเกือบถึงพื้นบ้าง ตามหินย้อยมีหยดน้ำเป็นระยะถี่บ้างห่างบ้าง หินย้อยนี้เกิดขึ้นด้วยน้ำที่หยดนั่นเอง ทางทิศตะวันตกในบริเวณเวิ้งใหญ่ของถ้ำมีกำแพงกันประตูเข้าไปข้างใน ภายในประตูมีทางบางแห่งมืด บางแห่งสว่าง นับว่าเป็นถ้ำที่งามวิจิตร น่าดูเป็นที่หนึ่งในมณฑลราชบุรี”