ลิ้นมังกร ตำรับยาแก้ร้อนใน กินดับร้อน สมัยอาม่า

ชื่ออื่นๆ ผักลิ้นห่าน หนุ่นดิน มะยมใบพาย อะจีเจ้า นอช่วยไน้ ลีเดาะห์ นาฆอ (Lidahnaga) เล่งจิเช่า เลิงจิเฉ่า หลงลี่เยียะ หลงซื่อเยียะ เหล่งหลี่เฮียะ เหล่งจิเฮี๊ยะ Dragon’s Tongue

ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 1-1.5 ฟุต แตกสาขาในระดับผิวดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับตามข้อต้น ใบรูปไข่หรือรูปมนรี โคนใบสอบแหลมเข้าหากัน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ดอกช่อออกตามซอกใบและลำต้น มีขนาดเล็กสีแดงม่วงหรือสีม่วงเข้ม ผลคล้ายเมล็ดถั่ว ก้านสั้น และมีกลีบเลี้ยงที่ขยายตัวหุ้มเอาไว้

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ปักชำ

ลิ้นมังกร ยาแก้ร้อนใน สมัยอาม่า

ลิ้นมังกร เป็นสมุนไพรที่สมัยก่อนคนจีนนิยมปลูกเป็นไม้กระถางประดับในบ้าน เอาไว้ต้มดื่มแก้ร้อนใน แก้ไอ ในตำรายาจีนกล่าวว่า ลิ้นมังกรมีรสสุขุม ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น บำรุงปอด แก้ไอแห้งๆ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หอบหืด ไอเป็นเลือด เสียงแห้ง เป็นต้น

ต้นลิ้นมังกร เป็นต้นไม้ที่จำได้ง่ายๆ ใบมนๆ สีใบไม่เขียวเข้ม ออกสีตุ่นๆ (เป็นคนละต้นกับไม้ประดับอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ลิ้นมังกร เหมือนกัน แต่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Sansevieria trifasciata ซึ่งใบมีลักษณะเรียวยาวคล้ายหอก มีการศึกษาพบว่า มีคุณสมบัติดูดซับสารพิษ สามารถนำมาเป็นไม้ฟอกอากาศภายในอาคาร) ในการกินอาหาร คนจีนจะนำมาทำแกงจืด ต้มใส่เนื้อหมูหรือปอดหมู ทำให้เกิดความเข้าใจมาโดยตลอดว่า ลิ้นมังกร เป็นสมุนไพรจีนเท่านั้น เพราะมักพบเจอต้นลิ้นมังกรที่ปลูกใส่กระถางหน้าบ้าน หรือตามแนวติดแถวในย่านคนจีน เช่น สีลม เยาวชน แต่ตอนหลังๆ ก็พบเห็นน้อยลง

ผักลิ้นห่าน ลดความดันโลหิต ล้างพิษได้

จากการลงพื้นที่เดินป่าที่บ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ก็จะพบเห็นต้นลิ้นมังกรขึ้นอยู่ระหว่างทางไปน้ำตกทั่วไป ชาวบ้านเรียกหนุ่นดิน กินเป็นผัก โดยเอามาต้มดื่มคล้ายน้ำซุปและต้มดื่มเป็นยาลดความดัน ทำให้แปลกใจมากว่า เหตุไฉนลิ้นมังกรจึงมาขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติของบ้านเราได้ ชาวบ้านต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้นนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่า และเมื่อไปหา พ่อหมอโจป่อง ที่บ้านทิบาเก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พ่อเรียกสมุนไพรต้นนี้ว่า นอช่วยไน้ ใช้แก้โดนสารพิษ ช่วยล้างพิษ โดยกินทั้งต้นเป็นผักกับน้ำพริกแต่ต้องต้มก่อน

พ่อหมอแม่หมอมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ บอกว่า ลิ้นมังกรเป็นยาดี ใช้เป็นยาแก้ไอ หอบหืด ฝีแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แต่ปัจจุบันหายากแล้ว ส่วนหมอยาเมืองเลยจะเรียกว่า ผักลิ้นห่าน ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเมืองเลย ชาวบ้านกินเป็นผักกันอย่างแพร่หลาย และนำมาทำอาหารได้หลายอย่างคือ นึ่งกินกับแจ่ว แกงอ่อม แกงป่า จึงแน่ใจในที่สุดว่า ลิ้นมังกรไม่ได้มีแต่ในเมืองจีนเท่านั้น แต่เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าของบ้านเรา และอีกหลายประเทศด้วย อากงอาม่าท่านคงหอบหิ้วมาจากเมืองจีน โดยหารู้ไม่ว่าที่เมืองไทยก็มีสมุนไพรฤทธิ์เย็นชนิดนี้เช่นกัน และมีการใช้เป็นอาหารและยากันอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่

ตำรับยา

รักษาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ นำใบสดประมาณ 1 กำมือ ต่อน้ำ 1 ลิตร มาต้มให้เดือด โดยให้น้ำเหลือ 1/2 ส่วน นำมากรอง แล้วนำมาดื่มอุ่นๆ ครั้งละ 1/2 แก้วชา วันละ 3 เวลา เช้า เที่ยง และเย็น หลังอาหาร

หลอดลมอักเสบ หอบหืด ให้ใช้ใบสดประมาณ 7-8 ใบ หรือใบแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ

บำรุงปอด ใช้ใบสดประมาณ 7-8 กรัม หรือใบแห้งประมาณ 10-30 กรัม นำมาต้มดื่ม

ความดันโลหิตสูง ให้เอาต้นลิ้นมังกร (ทั้งต้นตลอดถึงราก) นำมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่หม้อดินต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือน้ำ 1 ส่วน ผสมกับน้ำตาลกรวด (พอมีรสหวานเล็กน้อย) ใช้ดื่มเป็นประจำทุกวัน

รักษาอาการปวดกระดูก กระดูกแตกร้าว น้ำใบลิ้นมังกรมาตำผสมกับใบของต้นหมี่ ใบพลับพลึง และใบข่าให้ละเอียด แล้วนำมาพอก และนำผ้ามาพันบริเวณที่มีอาการ ควรทำทุกวัน วันละ 2 เวลา ตอนเช้าและก่อนนอน

รักษาฝี รักษาโรคริดสีดวงต่างๆ รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก นำใบสดขนาดพอประมาณมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกแผลบริเวณที่มีอาการบ่อยๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เลขที่ 32/7 หมู่ที่ 12 ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โทรศัพท์ (037) 211-289

…………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2560