ชุมชนบ้านเขาวัง สร้างสวน “พ่อเฒ่า” และป่าชุมชนต้นน้ำ กลางหุบเขา เมืองนครศรีธรรมราช

บ้านเขาวัง ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งเป็นชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2499 เลือกพื้นที่ที่อยู่ในหุบเขา มีภูเขาช้างสีและเขานาแคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวง หรือเทือกเขานครศรีธรรมราช ล้อมรอบเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาพพื้นที่เป็นภูเขาที่ลาดเชิงเขา มีลำห้วยและคลองเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง ลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยโต๊ะอิหม่าม ห้วยน้ำดำ ห้วยโต๊ะชายแม้ ห้วยโต๊ะสาร ห้วยน้ำซับ ห้วยลุงนึก ห้วยน้าพล คลองเขาวัง คลองวังใน เป็นต้น สายน้ำเหล่านี้ไหลลงคลองเสาธงในเขตอำเภอร่อนพิบูลย์

เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาหินปูน ทำให้เกิดถ้ำและธารน้ำลอดลงสู่ถ้ำใต้ดินหลายแห่ง ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำลงรู” กรมชลประทานสร้างฝายคลองเขาวัง ซึ่งอยู่หลังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวังไว้ให้ แต่น้ำไม่พอใช้ ชาวบ้านจึงร่วมใจร่วมแรงกันสร้างฝายต้นน้ำอีกมากกว่า 100 ฝาย จากการสนับสนุนของหน่วยจัดการต้นน้ำปากพนัง เพื่อช่วยชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับริมสองฝั่งคลองต่างๆ

ชุมชนเขาวังเริ่มแบ่งชุมชนออกเป็น 4 คุ้มบ้าน มีบ้านหน้าถ้ำ บ้านตก บ้านหน้าโรงเรียน และบ้านเขาวัง ต่างมุ่งมั่นทำสวนสมรม ปลูกไม้ผลไว้หลากหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะ สะตอ หมาก เนียง เหรียง มะพร้าว มะมุด ละมุด จำปาดะ กำไร ละไม เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปลูกพืชผักในสวน ประเภท มะนาว ผักหวานช้างโขลง กระวาน เขลียง ชะพลู พริกไทย ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนู ผักดู มะเขือพวง ขี้พร้าแม่หมก มะนาว กล้วยน้ำว้า เป็นพืชผักไว้บริโภคหรือเสริมรายได้ของครัวเรือน

นอกจากนี้ ชุมชนทั้ง 4 คุ้มบ้าน ยังช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำบริเวณเขานาแค พื้นที่ 702 ไร่ ให้เป็นป่าชุมชนลักษณะสภาพเป็นป่าเขาหินปูน มีถ้ำหินงอกหินย้อยหลายแห่ง รวมทั้งถ้ำประวัติศาสตร์ อันเป็นเส้นทางเข้าออกของชุมชนก่อนที่จะมีการตัดทางในปัจจุบัน ป่าผืนนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าและนกนานาชนิด โดยเฉพาะชะนีและเลียงผา เป็นแหล่งทำรังของผึ้งป่า เป็นต้น

เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของคลองเสาธง แต่ได้รับผลกระทบจากการขยายที่ทำกินของประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น มีบางรายได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากสวนสมรมมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวและทำสวนยางพารา โดยปรับพื้นที่ให้โล่งเตียน ไม่มีพืชคลุมดิน เพื่อความสะดวกในการเข้าไปดูแล ไม่เว้นแม้ป่าหัวสวนหรือไม้ริมห้วยชายคลอง อีกทั้งยังใช้ปุ๋ยสารเคมี ยาปราบวัชพืชและศัตรูพืช

ผลกระทบจากการทำเกษตรดังกล่าวทำให้ช่วงฤดูแล้งน้ำในลำห้วยลำคลองแห้งขอด ชุมชนขาดน้ำกินน้ำใช้ ส่วนช่วงฤดูฝน น้ำไหลลงรวดเร็วเพราะไม่มีรากพืชยึดหน้าดิน เกิดปัญหาหน้าดินชะล้าง ดินเลื่อน ดินถล่ม แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดสูญหาย เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนรวมตัวกันเป็น “กลุ่มอนุรักษ์บ้านเขาวัง” ในปี พ.ศ. 2548 ปรับเปลี่ยนวิธีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชนเสียใหม่

ผู้คนได้พบเห็นต่างชื่นชม

เป็นต้นว่า ใช้รถตัดหญ้าแทนการฉีดยาฆ่าหญ้า ส่งเสริมการทำน้ำหมักชีวภาพหรือปุ๋ยชีวภาพ ทดแทนการใช้สารเคมี ส่งเสริมการปลูกไม้ผลและพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดขึ้นมา ตามแบบอย่างของบรรพบุรุษกำหนดเรียกว่า “สวนพ่อเฒ่า”, “สวนสมรม” หรือ “เกษตรสี่ชั้น”

นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนคนเขาวัง ทำหัตถกรรมเครื่องเงินส่งจำหน่ายร้านภูฟ้าในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานเงินดำเนินงานไว้ถึง 140,000 บาท ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนราว 2,500,000 บาท มีการปันผลกำไร 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ด้านสาธารณประโยชน์ของชุมชน

ผู้คนชุมชนเขาวังและผู้มาเยี่ยมเยือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การกลับมาของสวนสมรมเป็นคำตอบในหลายๆ เรื่อง แรกสุดสวนสมรมที่ชาวบ้านรายหนึ่งปลูก 13 ไร่ มีรายได้ปีละ 2 แสนบาท แต่สวนสมรมได้ถูกทำลายไปมาก ผู้คนหันมาปลูกยางพาราในช่วงที่ยางพาราราคาแพง อันที่จริงสวนสมรมสำหรับคนภาคใต้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่ละสภาพภูมิศาสตร์ย่อมส่งผลให้องค์ประกอบของสวนสมรมแตกต่างกันไป ทั้งพืช น้ำ ดิน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของชุมชน ทั้งใช้ กิน ขาย ทำให้สวนสมรมของแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย มีพืชระดับล่าง ระดับกลาง ระดับสูง เสน่ห์ของสวนสมรมนั้นอยู่ที่มีพืชผักชนิดใดก็ได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมด

การปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสของชุมชนบ้านเขาวังที่อพยพโยกย้ายจากพื้นที่หนึ่งแล้วก็มาอยู่รวมกัน ได้บริหารจัดการน้ำ ป่า และวิถีของผู้คนที่เป็นมุสลิมและชาวพุทธได้อย่างลงตัวและกลมกลืน สามารถหยิบยกภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้อย่างสอดคล้อง

หากลองเก็บข้อมูลได้อย่างชัดเจนทั้งหมดว่า พื้นที่สวนสมรมของแต่ละรายในชุมชนมีจำนวนเท่าไร มีพืชผัก ผลไม้ชนิดใดบ้าง ผลิดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวบริโภคหรือขายจำนวนเท่าใด เก็บผลประโยชน์ในแต่ละฤดูกาลคิดเป็นมูลค่าเท่าไร อาจมองเห็นภาพและคุณค่าของสวนสมรมเปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่กำลังหลงใหลกันได้บ้างกระมัง