โป๊ะ ข้ามแม่น้ำ ภูมิปัญญามาแต่โบราณ

ไทยเราอยู่กับน้ำ กินกับน้ำมาแต่บรรพกาล

การเดินทางในสมัยก่อน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เราใช้ทางน้ำเป็นหลัก เพราะแม่น้ำลำคลองเรามากมาย ทั้งคลองธรรมชาติ และคลองขุด สยามขุดขึ้นมาเพื่อการคมนาคม และเพื่อใช้เดินทางไปรบทัพจับศึก

ตัวอย่าง เช่น คลองสำโรง เป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ถือเป็นคลองสำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา เราใช้เป็นเส้นทางขนส่ง และใช้เป็นเส้นทางไปรบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพสยามใช้เส้นทางนี้ลัดไปลงแม่น้ำบางปะกงหลายครั้งหลายครา

ส่วนคลองดำเนินสะดวก ก็ขุดเชื่อมแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ในสมัยรัชกาลที่ 4 เอื้อผลประโยชน์ให้กับการเดินทางไปมาของชาวบ้าน ต่อมาใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืช ผัก ผลไม้ ที่ชาวบ้านมาอาศัยอยู่ริมคลอง แล้วยึดอาชีพทำสวน

การข้ามไปมาระหว่างคลองเล็กๆ เราชาวบ้านใช้ เรือ แพ และสร้างสะพานข้ามคลองได้ง่าย แต่ถ้าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ อย่างแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา สมัยก่อนสะพานข้ามแม่น้ำยังไม่มี ครั้นเริ่มมีก็ไม่ทั่วถึง ชาวบ้านที่ต้องการข้ามไปมา

นอกจากโดยสารเรือพาย เรือหางยาวแล้ว เราชาวบ้านทำ “โป๊ะ” ข้ามแม่น้ำ

โป๊ะ ในสมัยเก่าก่อน สร้างด้วยไม้ทำให้เป็นทุ่นลอย แล้วใช้แรงจากเรือชักลาก ตัวอย่างการสร้างโป๊ะ เช่น นำเอาลำไผ่หลายๆ ลำ มามัดรวมกันเป็นทุ่น จากนั้นเอาไม้กระดาน หรือท่อนไม้ที่แข็งแรงมาจัดวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้เชือกมัดให้แน่น ก็จะได้โป๊ะอย่างง่ายๆ คราวนี้ใช้เรือลากข้ามแม่น้ำได้สบายๆ

ต่อมาการสร้างโป๊ะ มีการนำเหล็กมาเชื่อมต่อให้เป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยม ภายในโปร่ง ลอยน้ำได้มาใช้ ลักษณะโป๊ะอย่างนี้ ปัจจุบันในบางพื้นที่ก็ยังใช้กันอยู่

ประโยชน์ของโป๊ะคือ สามารถขนส่งสินค้าข้ามฝากคราวละมากๆ สินค้าสมัยก่อนจำพวก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่ว งา เมื่อต้องการทำข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้โป๊ะขนส่งข้ามไป เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำยังเป็นเรื่องไกลความจริงสำหรับชาวบ้าน

มิเพียงส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น คนข้ามฟาก และรถราต่างๆ เราชาวบ้านสมัยเก่าก่อนก็ต้องอาศัยข้ามโป๊ะเหมือนกัน อย่างรถจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ และต่อมาก็พัฒนาโป๊ะให้ใหญ่ขึ้นมาสามารถรองรับรถยนต์ได้คราวละหลายๆ คัน

ประโยชน์ของโป๊ะแม้จะมากมาย แต่เมื่อมีการสร้างสะพานมากขึ้น โป๊ะก็หมดความจำเป็นลงไป เหมือนกับตะเกียงกระป๋อง ใส่น้ำมันก๊าด เมื่อมีไฟฟ้าเข้ามา ก็แทบไม่มีบ้านเรือนไหนใช้ แม้จะเก็บเอาไว้ดูเล่นๆ ก็แทบจะไม่มี

การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นกฎธรรมดาของโลกโดยแท้

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ผู้เขียนเดินทางไปประเทศลาว พบว่า แม่น้ำโขงบริเวณท่าเดื่อ กำลังสร้างสะพานแห่งใหม่ สะพานแห่งนี้ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิด เพราะเหลือเก็บรายละเอียดอีกเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

ระหว่างลงเดินไปพูดคุยกับชาวบ้านได้ความว่า เจ้าของกิจการโป๊ะข้ามฟากกำลังปวดหัวกับสะพานแห่งนี้ เขาไม่อยากให้สะพานเปิดใช้เลย เพราะลงทุนไปมาก ถ้าสะพานเปิดใช้ทุกอย่างเป็นอันว่าจบกัน กิจการทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ขึ้นมาทันที เพราะอย่างไรก็ไม่มีคนข้าม

ระหว่างรอคณะเดินทางต่อไป ก็เห็นโป๊ะขนส่งผู้โดยสาร และเรือข้ามแม่น้ำโขงอยู่ ผู้โดยสารและรถบนโป๊ะเต็ม แสดงว่าแต่ละเที่ยวได้เงินหลายหมื่นกีบแน่ๆ

หันมามองในบ้านเรา สะพานผุดขึ้นมาข้ามแม่น้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย โอกาสที่จะได้เห็นโป๊ะนับวันจะยากขึ้นทุกที ซึ่งก็จะเป็นเรื่องธรรมดา

การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำให้เราสะดวกสบายขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้วิถีชีวิตเก่าๆ เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา