พฤกษาป่าหิมพานต์ ลานสระอโนดาต พระเมรุมาศ ทุ่งพระเมรุ

น้อม…ศิระกราน บาทบงสุ์ ส่งเสด็จสถิตดุสิดาสรวง

ธ เสด็จ สู่สรวง พิมานสวรรค์
เสวยชั้น มไหศูรย์ อดิศร
ทวยราษฎร์น้อม ถวายอาลัยวรณ์
ประนมกร ประกาศราษฎร์สดุดี

เหลือไว้เพียง พอเพียงและเพียงพอ
ให้สานต่อ ทุกเขตคามตามวิถี
สรรพสรรพ์ พระพรรษาองค์ภูมี
ราษฎร์สุขี สำนึกหาราชาครอง

เจ็ดสิบปีรอยพระบาทที่ยาตรย่ำ
พิสุทธิ์ล้ำ แผ่พิมล ผไทผอง
ทศพิธ พระจักริน แผ่นดินทอง
เทิดแซ่ซ้อง “ภัทรมหาราชัน”

ขอพระองค์ ทรงสถิตดุสิตเทพ
ทิพยเสพ หทัยห้วง สรวงสวรรค์
จักรีวงศ์ ธ ดำรง ตราบนิรันดร์
พสกมั่น บาทธุลี ศิระกราน

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ครอบครัวอำรุง นายมานพ นางพัชรี อำรุง นายเมธาวินทร์ อำรุง ด.ญ. เมย์วิสาข์ ด.ญ. เมธาวี อำรุง

จากวันวารผ่านวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ไปแล้ว เชื่อว่าความรู้สึกของพสกนิกรทุกคน ก็ยังคงอยู่ในภวังค์ความอาลัย ที่ได้ถวายเพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย หากจะย้อนรำลึกถึงวันนั้น วันที่ไม่มีผู้ใดอยากจะให้มีขึ้นเลย

แต่เมื่อมีแล้วตามพระราชประเพณี ก็เชื่อว่า หัวใจและดวงจิตทุกดวงของเหล่าพสกนิกรมุ่งไปรวมอยู่ที่เดียวกัน ณ ทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวง และที่จุดเดียวกันคือ พระลอง ที่อยู่ในพระโกศจันทน์ หรือ “หีบพระบรมศพจันทน์” ที่เป็นฐานพระโกศจันทน์ ซึ่งประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแห่งนั้น

ทุ่งพระเมรุ เดิมคือท้องสนามหลวงในปัจจุบัน มีมาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้สร้างขึ้น เพื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในพระนคร และรวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับสร้าง “พระเมรุมาศ” และเพื่อประกอบพระราชพิธี ออกพระเมรุส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงคืนสู่สวรรคาลัย

พระเมรุมาศ สถานประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เด่นตระหง่านศิลปกรรมล้ำเลิศ สื่อความหมายแทนใจทุกดวงของพสกนิกรชาวไทยทุกแห่งหน แสดงความสำนึกรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ความจงรักภักดี สร้างสรรค์ผ่านความวิจิตรตระการ ความละเอียดอ่อน อย่างสง่างาม ที่เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุในแดนแห่งสรวงสวรรค์ สอดรับกับความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาตามคัมภีร์คติไตรภูมิ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม

และมีอีก 8 มณฑป รายรอบ หมายถึง เขาสัตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล รวมทั้งภาพจิตรกรรมบนฐานความเชื่อที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 คือ พระนารายณ์ที่อวตารลงมาจากทิพยสถาน เพื่อปราบความยากจน ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข (สรุปความจาก มติชน ฉบับพิเศษ พระเมรุมาศ แทรกในประชาชาติธุรกิจ วันจันทร์ที่ 9-วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2560)

ความพิเศษของพระเมรุมาศ ในครั้งนี้ มี 5 ประการ คือ
1. ชั้นเชิงกลอน โดยมีความใหญ่ของบุษบกประธานถึง 7 ชั้นเชิงกลอน
2. สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระโพธิสัตว์
3. พระเมรุมาศ มี 4 ชั้นชาลา แสดงถึงความสมจริงของเขาพระสุเมรุ
4. เขาของจักรวาลที่มีสระน้ำ หรือสระอโนดาตล้อมรอบเขาพระสุเมรุ โดยสระอโนดาตทั้ง 4 มุม ทำเป็นสระน้ำจริง
5. เสาโคมไฟครุฑจากเดิมเป็นหงส์ เพราะครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ สำหรับประติมากรรมประดับพระเมรุมาศซึ่งยึด

ตามโบราณราชประเพณี หลักไตรภูมิตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา ตลอดจนความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ มีประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศหลักๆ มีถึง 15 ประเภท หนึ่งในนั้นมีสัตว์หิมพานต์ ที่ตกแต่งรายรอบพระเมรุมาศตามคติเรื่องโลกและจักรวาล รวมทั้งสัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วย ช้าง ม้า โค และสิงห์ อย่างละ 1 คู่ ประดับทางขึ้นบันไดตามความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ในเรื่อง เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ และสระอโนดาต

หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2559 โดย รู้ไปโม้ด ของน้าชาติ ประชาชื่น ได้ตอบคำถามอธิบายเรื่อง เขาพระสุเมรุ ตามคติพราหมณ์โดยละเอียด แต่จะขอสรุปในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤกษาในป่าหิมพานต์ โดยน้าชาติ กล่าวถึง เขาพระสุเมรุ ที่เป็นภูเขาหลักของโลก ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของจักรวาลอันยิ่งใหญ่ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ

ซึ่งพระอิศวรทรงสร้างด้วยน้ำพระเสโท (เหงื่อ) และสร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) มีพระประสงค์จะประดิษฐานภูเขาใหญ่ให้เป็นหลักของโลก แล้วเอาพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขารอบพระสุเมรุอีก 7 ทิว ให้เป็นที่อาศัยของทวยเทพ เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี และมีทิวเขาบริวารล้อมรอบอีกมากมาย

นอกจากนั้น ยังมีมหาทวีปทั้งสี่ทิศของเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีชมพูทวีปอยู่ทางทิศใต้พร้อมทั้งมหาสมุทร ที่มีน้ำเขียวใสสะอาดเหมือนแก้วผลึก ชมพูทวีปมีรูปเหมือนเกวียน มีต้นหว้า ต้นชมพู่ มีไม้กระทุ่ม ส่วนอุตรกุรุทวีป เป็นที่ราบมีต้นไม้นานา คนรูปร่างงาม มีต้นกัลปพฤกษ์ อยากได้อะไรก็ไปนึกเอาที่ต้นไม้นี้ เหนือเขาพระสุเมรุ มีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์เป็นผู้ปกครอง ทำหน้าที่อภิบาลโลก พิทักษ์คุณธรรมยามโลกเดือดร้อน ทิพยอาสน์จะแข็งดั่งศิลา

ยังมีสวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก หนึ่งในสวรรค์ชั้นนี้ คือ ปรนิมมิตวสวัตดี และท้าวเธอปกครองสวรรค์ชั้นนี้ มีความเป็นอยู่สุขสบาย จะเนรมิตอะไรก็มีเทวดานิมิตให้ มีป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ และต้นไม้นานาพรรณ รวมทั้งสระต่างๆ ถึง 7 สระ คือ สระอโนดาต รวมทั้งมีเขาไกรลาส ล้วนแล้วด้วยเงิน และคันธมาทกูฏ ล้วนแล้วด้วยแก้วมณีและไม้หอม

ในสื่อออนไลน์ “บุ๊คมาร์ก” ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “สระอโนดาต” สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ในป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่ารอยต่อแห่งมิติ ส่วนหนึ่งของป่าหิมพานต์ เป็นแดนทิพย์ จึงเป็นรอยต่อแห่งโลกทิพย์กับโลกมนุษย์

สำหรับเขาหิมพานต์มีสระสำคัญๆ อยู่ 7 สระ หนึ่งในนั้น คือ สระอโนดาต มีธารน้ำทั้งหลายไหลลงมาที่สระแห่งนี้ มีพื้นลานแผ่นหินกายสิทธิ์ น้ำใสแจ๋วสะอาด ท่าอาบน้ำมีมาก เป็นที่สรงสนานแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ รวมถึงเหล่าผู้วิเศษผู้มีฤทธิ์ เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา
รอบสระอโนดาต

มียอดเขารายล้อมอยู่ถึง 5 ยอดเขา  หนึ่งในนั้นที่มนุษย์เราได้ยินบ่อยๆ คือ “ยอดเขาไกรลาส” แต่มีอีกยอดเขาหนึ่ง ชื่อยอดเขาคันธมาทน์ ด้านบนยอดเป็นพื้นราบอุดมไปด้วยไม้หอมนานาพันธุ์ ทั้งรากไม้หอม ไม้แก่นหอม ไม้กระพี้หอม ไม้เปลือกหอม ไม้สะเก็ดหอม ไม้รสหอม ไม้ใบหอม ไม้ดอกหอม ไม้ผลหอม ไม้ลำต้นหอม และอุดมไปด้วยไม้อันเป็นโอสถนานาประการ

เหตุที่ได้ชื่อว่า อโนดาต ก็เพราะมีเงื้อมผาโค้งงุ้มดังปากกา โอบบังแสงไว้ด้านบน ทำให้แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ไม่สามารถส่องผ่านไปโดนน้ำตรงๆ ได้ แสงเพียงลอดเข้าด้านข้าง สระนี้จึงได้ชื่อว่า “อโนดาต” แปลว่า ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อน

ป่าหิมพานต์ มีพันธุ์ไม้แปลกๆ พืชพันธุ์สัตว์และพันธุ์ไม้เหล่านี้ ความจริงคือ ภูเขาหิมพานต์ หรือ หิมวันตบรรพต เมื่อมองในลักษณะที่มีต้นไม้มากแล้ว จึงเรียกกันว่า ป่าหิมพานต์ เป็นป่าในวรรณคดี และความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ตามคติศาสนาพุทธและฮินดู มีความเชื่อว่าป่าหิมวันต์ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งนี้ ก็มีพันธุ์ไม้นานาชนิดที่อยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งจัดไว้ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมด้านหนึ่งข้างพระเมรุมาศ และรายล้อมด้วยพฤกษานานาพรรณโดยรอบ

เมื่อกล่าวถึง “ป่าหิมพานต์” ในจินตนิยาย ในคัมภีร์หรือตำนานต่างๆ ซึ่งเล่าขานสืบต่อกันมา ก็สุดแล้วแต่ผู้ใดจะมีมโนจิตเกิดจินตภาพ ตามแต่บริบทแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวัฒนธรรมของชนในภาคถิ่นนั้นๆ โดยเชื่อว่าไม่มีใครเคยมีโอกาสได้สัมผัสของจริง เพราะเป็นมโนภาพ แม้ว่าทุกๆ คนจะมีเสรีแห่งจินตนาการนั้นๆ ก็ตาม

แต่มีสรวงสวรรค์แห่งหนึ่งบนพื้นดินที่สร้างจินตนาการดังกล่าวให้ผู้คนมีโอกาสได้สัมผัสได้ด้วยสายตาและกลิ่นไอที่สอดคล้องกับบรรยากาศจากมโนภาพดินแดนในเทพนิยายแห่งนั้น ด้วยพื้นที่ที่มากกว่า 700 ไร่ บนเชิงเขาผาซ่อนแก้ว บ้านทุ่งตีนผา ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้าหากเราเดินทางเข้าสู่อ้อมกอดแห่ง “สวนป่าหิมพานต์”

ในสวนป่าหิมพานต์ ที่บรรจงเนรมิตพื้นที่พฤกษ์ไพรธรรมชาติแห่งนั้นให้ปกคลุมไปด้วยพรรณไม้หลากหลายกว่า 2,000 ชนิดพรรณไม้ พร้อมทั้งรูปปั้นสัตว์ในเทพนิยายที่เราเพียงแต่เคยจินตนาการถึง แต่จะมีโอกาสได้สัมผัสจริงๆ ที่นี่ โดยไม่ต้องย้อนเวลากลับไปหา “ทวิภพ” แห่งจินตนาการ

“อุทยานพฤกษา” น่าจะเป็นวลีเรียกหามวลหมู่ต้นไม้แห่งนั้น ซึ่งอยู่ในอ้อมกอดของ “สวนป่าหิมพานต์” หรือเป็นปลายทางของผู้รักและอนุรักษ์ธรรมชาตินิเวศวิทยาที่จะได้สัมผัสกลิ่นไอสีสันของดอกไม้ในวรรณคดี

และต้นไม้ ซึ่ง “แปลกที่ชื่อ” แต่ทุกต้นคือต้นไม้ในสวนป่าหิมพานต์ เนื่องจากสวนป่าแห่งนี้ มีทั้งดอกไม้แห่งสวรรค์และพื้นพิภพ จะน้อยใจอยู่บ้างที่แม้ว่ามีโอกาสได้ดมกลิ่นดอกไม้ทิพย์ใน “สวนป่าหิมพานต์” จริงๆ ก็ยังไม่สามารถ “ระลึกชาติ” ได้จริงเท่านั้นเอง

ในสวนป่าหิมพานต์ นอกเหนือจากธารน้ำตก สระอโนดาต เนินไม้หอม และเวิ้งลานที่จะโบกมือลาอาทิตย์อัสดงเพื่อนอนนับดาว รอพระอาทิตย์ขึ้นแล้วยังมีองค์เจดีย์ และลานปริศนาธรรมที่จะสัมผัสแสงธรรมแห่งรุ่งอรุณได้อีก

รูปปั้นสัตว์ในหิมพานต์ที่จะได้สัมผัส ได้แก่ ทักทอ (ตัวเป็นสิงห์หัวเป็นช้าง) เหมราช ไกรสรปักษา เหมราอัสดร สินธพกุญชร ฯลฯ

สำหรับพฤกษาหิมพานต์ในสวนป่าหิมพานต์ คือ ต้นมักกะลีผล (สร้างขึ้นตามตำนานจินตนาการ) และพันธุ์ไม้แปลกหรือหายากชนิดพันธุ์อื่น ได้แก่ กะลูแป ก้นกรอง กลึงกล่อม คงคาเดือด ชุมแสง ระฆังเงิน ส้านหลวง ปอตุ๊บหูช้าง ตาเป็ดตาไก่ ซ้อ พลองม่วง เป็นต้น และอีกหลากหลายพรรณไม้อื่นๆ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดียิ่ง

เหล่ามวลพฤกษาใน “อุทยานพฤกษา” แห่ง “สวนป่าหิมพานต์” นี้ ก็จะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนออกดอกผลให้ชื่นชมชุ่มตาได้เชยกลิ่นและสีสันตามฤดูกาลในแต่ละช่วงเจริญพันธุ์ของพฤกษานั้นๆ ซึ่งจะได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวสวรรค์บนพื้นดินใน “สวนป่าหิมพานต์” แห่งนี้ในฉบับต่อๆ ไป

จะกังวลก็อยู่ที่ว่า หากใครเข้าไปเพลินด้วยกลิ่นไอและสีสันของมวลไม้ เสพจินตนาการเผลอ “ฟิลล…” ว่าเป็น “กามนิต-วาสิฎฐี” แล้ว ไม่ยอมกลับแดนเดิม ก็เชิญให้เสวยสุขไปเถอะ แต่…ขออย่างเดียวอย่าเผลอไป “ปีน” ต้นมักกะลีผล ก็แล้วกัน!

เพลงหิมพานต์

คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ

ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

ขับร้อง บุษยา รังสี

งามเอ๋ยงามรื่น งามสมกลมกลืน เพียงพื้นพิมาน งามหิมพานต์ ดังอุทยาน พุดตานแห่งพรหม

ชมเอ๋ยชมชื่น ชมพฤกษ์ไพรยืน พร่างพื้นพนม ชมหงส์เหินลม ลีลาศเริงรมย์ ภิรมย์สุรางค์

*กามเทพพารตี เริงฤดี ลีลาไปในไพรกว้าง เริงศรชัยเฉี่ยวไพรพฤกษ์พราง เล็งเนื้อนาง กวางละมั่งคลั่งไคล้ตาม

ทรวงเอ๋ยทรวงซ่าน ยามฤดีดาล สะท้านศรกาม ลางหรูดูงาม ลางกลับดูทราม เพราะกามก่อกวน

*(ซ้ำ)

บทเพลงพรรณนาแดนสรวง ที่ได้ฟังแล้วราวกับว่าลัดเลาะอยู่ระหว่างไพรพฤกษ์สูงโปร่ง ท่ามกลางสายหมอกที่ทาบส่องด้วยแสงอาทิตย์ยามอรุณรุ่ง พร้อมเสียงดนตรีแห่งสวรรค์ บันทึกเสียงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2505 แม้ว่าอายุเลยวัยกลางคน แต่ความไพเราะก็ยังทำให้เป็นสวนป่าที่งามทั้งดอกไม้ ต้นไม้ คน และสัตว์ไพรกว้างในเพลงบทนี้ ยังคง “งามรื่น” น่า “ชมชื่น” ตลอดมา

“กามเทพ” ชวน “รตี” เริงลีลาในป่าหิมพานต์ ชวนให้ระลึกถึงสีทันดร กินนร และ กินนรี หรือ “กามนิต-วาสิฏฐี” ณ ลานอโศกหรือโลกดาวดึงส์ หากใครจินตนาการไปถึงก็อย่าลืมดมกลิ่นดอกปาริชาติ เพื่อจะได้ระลึกชาติกลับมายัง “โลกแห่งความเป็นจริง” อย่างไรก็ตาม หากกลับมาก็ขอรบกวนเก็บดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์ ชื่อ “ดอกมณฑารพ” มาฝากด้วย แม้จะเหี่ยวแล้วก็ยังขอรับด้วยความขอบพระคุณยิ่ง