ที่มา | ภูมิปัญญาท้องถิ่น |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ |
เผยแพร่ |
“บ้านโคกมอญ” ในเขตตำบลโคกไทย ซึ่งแต่เดิมชื่อตำบลโคกมอญ อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเขตรอยต่ออำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ตามประวัติบ้านโคกมอญนั้น คุณสุกัญญา เบาเนิด เล่าเรื่อง “บ้านมอญเมืองปราจีนบุรี” ไว้ในวารสาร เสียงรามัญ ปีที่ 5 ฉบับที่ 24 มีนาคม-เมษายน 2553 หน้า 5-9 ความว่า “บ้านโคกมอญ” มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ “ดงศรีมหาโพธิ” ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับ “เมืองโบราณศรีมโหสถ” ที่เป็นเมืองสำคัญในสมัยทวารวดี มีพัฒนาการต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18
“ดงศรีมหาโพธิ” เป็นชายแดนติดต่อกับเมืองเขมรในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในช่วงเวลาต่อมาเมืองศรีมโหสถได้โรยร้างลง พร้อมกับการเสื่อมถอยของเมืองนครธม ศูนย์กลางของอาณาจักรเขมรโบราณ บริเวณนี้จึงถูกทิ้งร้างมีป่าดงขึ้นปกคลุม
ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น “ดงศรีมหาโพธิ” เป็นป่าดงทางชายแดนตะวันออก มีช้างป่าชุกชุม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีพระบรมราชโองการให้ “ขุนอินทร์” นายกองมอญมาตั้งกองจับช้างที่ดงศรีมหาโพธิ และในคราวนั้นได้สร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์ ปัจจุบันเรียกว่า “เจดีย์พระธาตุพุทธมงคล” ตั้งอยู่ที่วัดแสงสว่าง
บ้านโคกมอญมีคลองโคกมอญซึ่งเป็นคลองขุดเพื่อเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอศรีมโหสถกับอำเภอพนมสารคาม เป็นสถานที่ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับ “ขุนอินทร์” นายกองมอญ คนสำคัญที่มาตั้งกองจับช้างที่ดงศรีมหาโพธิ จึงเอ่ยนามสถานที่แห่งนี้ว่า “โคกมอญ” เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญการจับช้างป่าในครั้งนั้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏสถานที่ “หนองหม้อหาย” ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวโยงกับการค้าขายทางเรือ ในเขตท้องที่บ้านหัวกระพี้ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านธารพูด ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กับบ้านโคกมอญ โดยมี “คลองโคกมอญ” เป็นแนวแบ่งเขต
ความเป็นมาของ “หนองหม้อหาย” นั้น มีเรื่องเล่าขานสืบสานกันต่อมาว่า เรือมอญที่บรรทุกสินค้าจำพวกโอ่ง อ่าง กระถาง ครก ต้องมาล่มจมลง อันเป็นที่มาของ “หนองหม้อหาย” ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านธารพูดจนมาถึงทุกวันนี้
ในสมัยก่อนการค้าขายทางเรือของชาวมอญสามโคก เมืองปทุมธานี จะอยู่แถบหมู่บ้านสวนมะม่วงเหนือ หมู่บ้านสวนมะม่วงใต้ หมู่บ้านศาลาแดงเหนือ ได้ล่องเรือค้าขายมาจนถึงย่านเมืองฉะเชิงเทรา และเมืองปราจีนบุรี
โดยเส้นทางน้ำสายที่ 1 ผ่านคลองแสนแสบ คลองสำโรงเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา และเส้นทางน้ำสายที่ 2 ผ่านคลองรังสิต ออกประตูเสาวภา ต่อมายังประตูบริษัทสมบูรณ์ เข้าคลองบางขนาก ผ่านอำเภอบ้านสร้าง เข้าสู่แม่น้ำบางปะกง (แม่น้ำปราจีนบุรี) ผ่านตัวเมืองปราจีนบุรีและยาวไปจนถึงอำเภอกบินทร์บุรี
ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริให้สร้างป้อมและกำแพงเมือง ครั้นถึงปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
จึงเริ่มก่อสร้างป้อมกำแพงเมือง ในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการระดมผู้คนในปี พ.ศ. 2412 จากเมืองต่างๆ มาช่วยทำอิฐเพื่อการก่อสร้าง…ระหว่างปีนี้ได้มีการตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์คนเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังฆะ ศรีสะเกศ เดชอุดม ไปทำอิฐก่อสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรี
…พ.ศ. 2413 ตรงกับปีมะเมียโทศก จุล. 1232 (ร.ศ. 89) อายุบิดา 72 ปี ข้าพเจ้า 14 ปี มีท้องตราสั่งให้เริ่มการก่อสร้างกำแพงและป้อมเมืองปราจีนบุรีเกณฑ์มอญบ้านสามโคกเมืองปทุมธานีมาตั้งทำการเผาอิฐ ส่งและให้เปลี่ยนสารกรมธรรม์ทาษ ซึ่งแต่เดิมเขียนด้วยดินสอดำลงในกระดาษข่อยให้เขียนด้วยน้ำหมึกในกระดาษฝรั่งกับให้หลวงสุริยามาตย์พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมสุรัสวดีเป็นข้าหลวงออกมาสักเลขหมายหมู่ในขวงเมืองปราจีนบุรี…
การสร้างป้อมและกำแพงเมืองปราจีนบุรีแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2415 โดยเจ้าพระยาภูธราภัยฯ สมุหนายกว่าการมหาดไทย เป็นผู้ทำการฝังหลักเมืองพร้อมทั้งทำการเฉลิมฉลอง คือ มีการสวดมนต์เย็น ฉันเช้าแล้วเบิกแว่นเวียนเทียนรอบกำแพงเมือง
กำแพงเมืองปราจีนบุรีมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐมีป้อมที่มุมกำแพงเมืองทั้งสี่ด้าน ถัดจากกำแพงออกไปเป็นคูน้ำล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง กำแพงกว้างทั้งหมด 112 เมตร ยาว 224 เมตร คูน้ำกว้างราว 20 เมตรเศษ
แม้ว่าปัจจุบันร่องรอยของกำแพงเมืองและป้อมค่ายเมืองปราจีนบุรีเก่าอาจจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการเข้ารุกล้ำจนทำให้คงเหลือหลักฐานเพียงบางบริเวณเท่านั้น
การเกณฑ์ชาวมอญจากสามโคก ไปปั้นและเผาอิฐสร้างกำแพงเมืองและป้อมค่ายเมืองปราจีนบุรี เนื่องจากการทำอิฐของชาวมอญในสมัยนั้น เป็นที่เลื่องลือถึงฝีมือและคุณภาพของอิฐ จึงเป็นที่มาของชื่อ “อิฐมอญ”
ปัจจุบันยังพบการเผาอิฐมอญแบบโบราณหลงเหลืออยู่ระหว่างหมู่บ้านสองพี่น้องกับหมู่บ้านศาลาแดงเหนือ อิฐมอญนั้นใช้ดินจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสามโคก ซึ่งเป็นดินเหนียวปนทราย เมื่อเผาแล้วจะได้อิฐที่มีคุณภาพแกร่งมาก
สำหรับการก่อสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรีใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานหลายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 ถึงปี พ.ศ. 2415 รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ชาวมอญที่มาทำอิฐบางส่วนอาจมีการลงหลักปักฐานที่เมืองปราจีนบุรีสืบมา
ดังนั้น จึงทำการติดตามร่องรอยมอญต่อมาที่บริเวณอำเภอเมืองปราจีนบุรี โดยเริ่มต้นจากชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏชื่อมอญ มี บ้านมอญ (บ้านคลองมอญ) หมู่ที่ 5 ตำบลรอบเมือง หมู่ที่ 7 ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หมู่บ้านโคกมอญได้ถูกทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โคกไทย” วัดโคกมอญก็ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นวัด “แสงสว่าง” รวมไปถึง เจดีย์พระธาตุพุทธมงคล
ที่ผู้คนแถบนั้นยังจดจำสืบต่อกันมาว่า ขุนอินทร์ นายกองมอญตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่มาตั้งกองจับช้างป่าในบริเวณแถบนี้เป็นผู้สร้างขึ้น แม้ในอดีตจะมีผู้คนชาวมอญอยู่กันหนาแน่นก็ตาม แต่ปัจจุบันคงเหลือร่องรอยผู้คนชาวมอญไม่กี่หลังคาเรือน เกือบจะสูญหายไปทั้งหมดแล้ว
บ้านโคกมอญในครั้งโน้นกลับกลายเป็นพื้นที่ของคนเชื้อสายไทพวน หรือลาวพวน ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเชียงขวางและเวียงจันทน์ เข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยแทน ตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
แต่คลองโคกมอญยังคงทำหน้าที่เป็นเขตแดนระหว่างบ้านโคกมอญกับบ้านธารพูดอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับบ้านคลองมอญนั้น อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี
ลุงอมร อุ้มสุข วัย 69 ปี กับภรรยา ป้าสัมฤทธิ์ คนมอญรุ่นสุดท้ายได้พาผมไปเดินเลียบฝั่งแม่น้ำ ซึ่งอยู่ตามแนวรั้วบ้านของลุงอมรนั้นเอง
ลุงอมรเล่าย้ำอีกว่า “อันที่จริง ผู้ใหญ่สมบูรณ์ เที่ยงทางดี ก็เป็นคนมอญคู่หูกันมาแต่ต้นเมื่อครั้งชุมชนคนมอญยังหนาแน่นอยู่บริเวณนี้ แต่ระยะหลังมานี้ผู้ใหญ่สมบูรณ์ได้ออกบวชและไปพำนักอยู่ในวัดที่ กทม. ไม่ได้พบปะกันอีกเลย ก็รวมสิบปีมาแล้ว” พลางชี้บ้านของผู้ใหญ่สมบูรณ์ให้ผมดู
ขณะที่ผมเดินเลียบคลองโคกมอญอยู่นั้น ลุงอมรชี้ไปที่เพื่อนบ้านที่จับกลุ่มอยู่ที่ร้านค้าย่อยภายในชุมชน บอกว่า “นี่ก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนมอญทั้งนั้น”
อันที่จริงแม่น้ำปราจีนบุรีในช่วงนี้ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงนั่นเอง หมู่บ้านมอญในตำบลรอบเมือง และตำบลวัดโบสถ์ ล้วนเป็นหมู่บ้านมอญทั้งสิ้น ลุงอมรเน้นย้ำอีกว่า “วัดกำแพง” หรือวัดตะแพง ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ เป็นวัดร้างในปัจจุบันนี้นั้น ยังปรากฏซากเจดีย์และอิฐมอญเก่าแก่แต่ถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง
อีกทั้งผู้คนยุคต่อมาได้ยึดครองพื้นที่เป็นของส่วนตัวไปแล้ว พลางย้อนรำลึกถึงเมื่อครั้งชุมชนคนมอญยังหนาแน่นอยู่นั้น คนมอญต่างร่วมแรงร่วมใจกันขุดคลองที่ยังเรียกขานกันว่า “คลองโคกมอญ” เพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำ แต่เดิมขุดกันหลายคลอง เช่น คลองตาหลวง คลองบางควาย คลองสารภี เป็นต้น
คนมอญแถบนี้มีสกุลสืบสายความเป็นมอญ เช่น ยิ้มสุข สมเชื้อ เที่ยงทางดี เป็นต้น ปัจจุบันไม่มีใครสำนึกถึงความเป็นมอญกันแล้ว ลุงอมรกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือบนความรู้สึกขมขื่นปนเศร้า ถึงกลุ่มชาติพันธุ์มอญในถิ่นนี้ที่ล่มสลายไปตามกาลเวลา