ลมแรงแบบนี้ พาไปดู ชาวโคราชรวมกลุ่มทำว่าวจุฬา เสียงสะนูดังกระหึ่ม ขายตัวละพัน

ชาวบ้านในโคราช รวมกลุ่มทำว่าวจุฬาโต้ลมหนาว เสียงสะนูจากว่าวแปล่งเสียงดนตรีก้องทั้งตำบล

นครราชสีมา (5 พ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบรรยากาศหน้าหนาว ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาทั่วประเทศ จะมีกิจกรรมการละเล่นพื้นเมืองหลายอย่างให้เห็นในชนบท แสดงถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่สวยงาม โดยเฉพาะชาวนาในหมู่บ้านพะไล หมู่ที่ 6 ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา จะมีการรวมกลุ่มกันทำว่าวจุฬา ติดสะนู มาโต้ลมหนาวอวดเสียงสะนูกันอย่างคึกคัก

ซึ่งมีนายสนอง ยันจอหอ อายุ 48 ปี เป็นหัวหน้ากลุ่มเล่นว่าวจุฬาของหมู่บ้านพะไล ได้ใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านของตัวเอง นั่งเหลาไม้ไผ่ เพื่อทำโครงของว่างจุฬาเป็นประจำในช่วงนี้

นายสนองฯ เล่าว่า ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จะมีลมหนาวพัดมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเหมาะกับการทำว่าวมาโต้ลมหนาวเป็นอย่างมาก แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่มักจะไปหาซื้อว่าวทำสำเร็จรูป ที่มีวางขายตามข้างทางมาเล่นกัน ซึ่งจะมีขนาดเล็ก และขึ้นได้ไม่สูงนัก

ส่วนว่าวจุฬาที่ทำแบบโบราณจะหาชมได้ยากขึ้นทุกวัน ดังนั้นกลุ่มของตนจึงได้รวมตัวกันทำว่าวจุฬาแบบโบราณขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มกว่า 10 คน โดยได้หาไม้ไผ่จากแถวบ้าน ซึ่งมีกอไผ่อยู่เป็นจำนวนมาก มาเหลาเป็นโครงสร้าง มีหลักการอยู่ว่า ต้องเป็นไม้ไผ่ต้นแก่หน่อย เพราะจะมีความเหนียว สามารถดัดให้โค้งงอได้ดี

หลังจากนั้นจะวัดสัดส่วนตัวว่าวเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน คือส่วนหาง ส่วนตัว และส่วนหัว แล้วเหลาไม้ไผ่มาดัดเป็นรูปดาว 5 แฉก ตามรูปแบบของว่าวจุฬาโบราณ ซึ่งใครที่ชอบขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ก็สามารถทำได้ตามใจชอบ แต่ส่วนใหญ่มักนิยมทำขนาดสูงประมาณ 1.5 เมตร ส่วนกระดาษที่ติดเป็นตัวว่าวนั้น

ปัจจุบันนิยมใช้แผ่นพลาสติกแทนกระดาษแก้ว เพราะมีความคงทนกว่า ซึ่งว่าวจุฬานั้นไม่ต้องต่อหางยาวก็สามารถโต้ลมได้ดี โดยใช้เวลาในการทำประมาณ 1 วันต่อ 1 ตัว และที่พิเศษกว่าว่าวทั่วไป คือ ว่าวจุฬาแบบโบราณจะมีสะนูติดไว้ส่วนบนของหัว เพื่อทำให้เกิดเสียงดนตรีก้องกังวานไปทั่วทั้งบาง

โดยสะนูของว่าวจุฬานั้น ทำจากใบตาล ที่มีการฝนจนบางเฉียบ แล้วนำมาขึงเข้ากับไม่ไผ่ ให้มีลักษณะคล้ายคันธนู เมื่อใบตาลที่ขึงตึงถูกลมพัดเข้า ก็จะเกิดการเสียดสี แปล่งเสียงออกมาเป็นจังหวะต่อเนื่อง คล้ายเสียงดนตรี

นายสนอง เล่าอีกว่า ทุกช่วงเย็นๆ ตนจะนำว่าวจุฬาติดสะนู ขึ้นไปโต้ลมไว้ โดยปล่อยให้ว่าวขึ้นสูงไปติดลมบน ซึ่งลมบนจะมีความสม่ำเสมอดี เมื่อติดลมบนแล้วว่าวจะลอยนิ่ง และลมบนจะพัดธนูให้แปล่งเสียงดนตรีออกมาอย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งเสียงสะนูจากว่าวจุฬานี้ จะเหมือนเป็นเสียงดนตรีกล่อมชาวนาตลอดทั้งคืน เพราะมีความไพเราะ และก้องกังวานดังไปไกลหลายกิโลเมตร หรือดังไปทั่วทั้งตำบล โดยกลุ่มของตนต้องการที่จะอนุรักษ์การเล่นว่าวจุฬาติดสะนูนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ได้ดูหลายคนก็ติดต่อขอซื้อต่อ โดยตนและพรรคพวก ก็ได้ขายให้ในราคาตัวละ 500 – 1,000 บาท แล้วแต่ความพิเศษของแต่ละตัว