ทึ่ง อาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำข้าวเม่าขาย ออร์เดอร์สั่งผลิตไม่ทัน กำไรสูง 30-40%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนกันยายน ยาวไปถึงออกพรรษา เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ของทุกปี ถือเป็นโอกาสทองของชาวบ้านในพื้นที่ บ้านโปร่ง ต.ฝั่งแดง และบ้านแก่งโพธิ์ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รวมกว่า 300 ครัวเรือน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุมชนต้นตำรับของการทำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน คืออาชีพทำข้าวเม่า ส่งออกขายในช่วงเทศกาลงานบุญประเพณีของชาวอีสาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีเงินหมุนเวียนสะพัดในพื้นที่ปีละเกือบ 10 ล้านบาท

เนื่องจากในพื้นที่ 2 ตำบล มีความโชคดีที่มีภูมิประเทศติดกับลำน้ำก่ำ ลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ในการก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีระบบชลประทานเก็บกักน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรตลอดทั้งปี เป็นที่มาของชาวบ้าน นำเอาอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำการปลูกข้าว ทำข้าวเม่าแทนการทำนาปี เนื่องจากสามารถเพิ่มมูลค่าราคาข้าวได้อีก 3-4 เท่าตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงยังสามารถทำนา เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไปทำข้าวเม่าได้มากถึงปีละ 3 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลาสั้นแค่ 3-4 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการทำนา และยังเพิ่มมูลค่า ได้ผลกำไรมากกว่าการทำนาตามปกติหลายเท่าตัว

201609211012006-20111216140823

เช่นเดียวกันกับนางสุนาต กุมรา อายุ 52 ปี ชาวบ้านโปร่ง ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งยึดอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้านมานานกว่า 20 ปี ในการทำข้าวเม่าขาย เล่าถึงการทำข้าวเม่าว่า เดิมในอดีตข้าวเม่าถือเป็นผลผลิตภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เริ่มจากทำกินเองในครัวเรือน เนื่องจากข้าวเม่าจะเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ เป็นข้าวที่สามารถนำไปปรุงแต่งเป็นเมนูของหวาน ขนมหวาน เป็นหลัก เพราะมีรสชาติหอมอร่อย เนื่องจากจะมีกรรมวิธีดั้งเดิมคือ จะต้องเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นบ้าน หรือข้าว กข. 10 และ กข.12 ที่ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกประมาณ 3-4 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่จะต้องเป็นช่วงตั้งท้อง เป็นเมล็ดข้าวน้ำนม ที่ถูกคิดค้นตามภูมิปัญญาอีสาน เพราะจะมีความหอมหวานในตัว โดยจะเริ่มจากการเก็บเกี่ยวจากแรงงานคน

จนปัจจุบันมีการพัฒนาใช้รถเกี่ยวข้าว เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ก่อนนำมานวดเอาเมล็ดข้าว เพื่อนำมาคั่วให้สุกในกระทะขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความหอม ก่อนนำไปผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปสีด้วยเครื่องสีข้าว เอาเปลือกออกจะได้เมล็ดข้าวอ่อน จนไปสู่ขั้นตอนการตำด้วยครกกระเดื่องโบราณ ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นครกกระเดื่องตำด้วยเครื่องยนต์ เป็นการทุ่นแรง รวดเร็ว เพื่อให้เมล็ดข้าวเกิดความนุ่ม ก่อนนำส่งออกไปขาย กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าว สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูของหวานได้สารพัด หรือสามารถทานได้เลยแบบไม่ต้องปรุงแต่ง ที่สำคัญข้าวเม่ายังเป็นเมนูที่ไร้สารเจือปนปลอดสารพิษ แปรรูปด้วยกรรมวิธีธรรมชาติพื้นบ้าน

201609211012002-20111216140823-768x432

โดย นางสุนาต กุมรา ผู้ชำนาญเรื่องการทำข้าวเม่า กล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญของข้าวเม่าแท้คือ จะต้องมีความหอม นุ่ม อร่อย และจะต้องทำจากข้าวน้ำนม ที่จะต้องผ่านการคั่ว ตำด้วยครกกระเดื่องเท่านั้น ซึ่งทุกปี ตั้งแต่เดือนกันยายน จะเริ่มเก็บผลผลิตข้าวมาแปรรูปเป็นข้าวเม่าส่งขาย ในราคากิโลกรัมละประมาณ 100-150 บาท ยิ่งช่วงงานเทศกาลบุญประเพณีออกพรรษา ไปถึงปีใหม่ จะมีพ่อค้า แม่ค้า มาสั่งซื้อไม่อั้น จนผลิตแทบไม่ทัน จนมีการพัฒนาการผลิตเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ขนาดเล็ก สามารถผลิตได้สูงสุดวันละเกือบ 2 ตัน แต่คุณภาพการผลิตจะต้องคงที่ ทั้งรสชาติ คุณภาพข้าวต้องคัดเลือกมาก่อนเข้าสู่การผลิต แต่ละวันสร้างรายได้ตกวันละประมาณ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท ตกเดือนละเป็นล้าน หักค่าใช้จ่ายจะได้กำไรสูงประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ บางรายขยันจะมีการปลูกข้าวหมุนเวียนปีละ 3 รอบ สามารถผลิตขายได้ตลอดปี แต่จะมีปัญหาเรื่องของข้าววัตถุดิบในการผลิตไม่เพียงพอ เพราะบางพื้นที่เข้าฤดูแล้งนาข้าวขาดแคลนน้ำไม่สามารถปลูกข้าวได้ ต้องไปทำอาชีพอื่น

Advertisement

ที่สำคัญในการทำข้าวเม่า ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าราคาข้าวให้เกษตรกร ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ไม่ต้องถูกหักความชื้นหรือกดราคา อีกทั้งยังมีตลาดรองรับไม่อั้น ซึ่งในพื้นที่ 2 ตำบลจะมีกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ ประมาณ 10 ราย แต่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการปลูกข้าว ขายให้แหล่งผลิต ไปจนถึงการจ้างแรงงานในหมู่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น ในอนาคตหากมีหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาสนับสนุน ส่งเสริมในเรื่องพื้นที่ปลูกข้าว ให้มีน้ำเพียงพอตลอดปีทุกพื้นที่ เชื่อว่าจะสามารถมีผลผลิตส่งออกขายได้ตลอดปี จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าข้าวเม่า กลายเป็นธุรกิจเงินล้านที่สร้างรายได้จำนวนมาก เชื่อว่าทุกปีในพื้นที่ 2 ตำบลช่วงระยะเวลา แค่ 3-4 เดือน จะมีเงินหมุนเวียนจากอาชีพทำข้าวเม่าในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีออเดอร์สั่งซื้อจำนวนมาก มาจากคุณภาพการผลิต เพราะเป็นแหล่งผลิตข้าวเม่า ต้นตำหรับพื้นบ้าน แห่งเดียวของนครพนม ที่การันตีว่า รสชาติหอมหวาน อร่อย ไร้สารเจือปน หากใครสนใจเยี่ยมชม หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่ โทร 08-6222-4842

201609211011591-20111216140823-768x431

Advertisement