มัดลายท้องถิ่น ผ้าซิ่นเขมราฐ  :  คอลัมน์ สดจากเยาวชน

 

“มัณฑนา ชอุ่มผล”

สาวชาวอีสานในสมัยโบราณมีหน้าที่สำคัญคือการถักทอเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หรือแม้แต่ผ้าห่ม หมอน ทุกอย่างล้วนต้องใช้ฝีมือและความอดทน แต่สตรีชาวอีสานก็ไม่ได้คร่ำเคร่งกับเรื่องการงานจนลืมเติมจินตนาการและศิลปะลงในผืนผ้าของตัวเอง

“คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ได้มอบมรดกเป็นหีบใบเก่าที่ไม่มีใครกล้าเปิดดู จนทายาทของท่านลองเปิดดูก็พบผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสวยมากมาย ป้าติ๋วเห็นแล้วชอบมากจึงนำมาหัดมัดลายตามที่ท่านเคยทำไว้ เป็นลายมัดหมี่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทุกผืนนั้นมีประวัติความเป็นมาของลายเขียนไว้หมด น่าทึ่งที่ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็สามารถคิดลวดลายและเก็บเรื่องราวไว้ได้ในผืนผ้า” ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปราชญ์ด้านการทอผ้าของ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงที่มาของผ้าซิ่นลายสวย

ลวดลายที่ช่างทอผ้านำมามัดหมี่เป็นลายบนผ้าซิ่นนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ธรรมชาติรอบตัว ตลอดจนความเชื่อหรือแม้แต่นิทาน

“ลายที่เป็นนางเอกของเขมราฐก็คือลายนาคน้อยค่ะ เป็นลายที่พญานาคมาดลใจให้คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ทำผ้ามัดหมี่ลายนี้ขึ้น โดยแปลงร่างเป็นหญิงสาวสองคนมายืมฟืมของคุณยาย เมื่อเอาฟืมมาคืนก็ได้ให้ลายผ้านี้ไว้ ใครที่ได้สวมใส่ จะเป็นมงคลและมีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้นค่ะ” ปาล์มมี่ ด.ญ.พัชรดา สุริยะศรี นักเรียนจากโรงเรียนอนุบาลบ้านเหนือ อ.เขมราฐ กล่าวถึงลายผ้าซิ่นที่ตนเองประทับใจ

นอกจากลายนาคน้อยแล้วยังมีลายนาคคู่ ซึ่งเป็นเรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ผู้ดูแลความสงบสุขของดินแดนสองฝั่งลำน้ำโขง ชาวเขมราฐมีความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นอย่างมาก และนำมาทำเป็นลายผ้าซิ่นมงคล มีคำทำนายเกี่ยวกับคนที่ชอบนุ่งผ้าซิ่นลายนาคคู่ว่า หญิงที่เลือกผ้าลายนี้แสดงว่าเป็นคนที่รักในศักดิ์ศรี หากตนเองไม่ได้ทำผิดสิ่งใดแล้วมีผู้มากล่าวหาก็จะสู้อย่างถึงที่สุด

นอกจากลายเกี่ยวกับความเชื่อแล้วยังมีลายที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลายพานไหว้ครู ซึ่งเป็นลายที่ผู้คิดค้นทำขึ้นให้ลูกหลานที่เป็นครูบาอาจารย์ใส่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีลายรั้วล้อมบ้าน ลายช่อเทียน ลายดาวเคียงเดือน ฯลฯ เมื่อเด็กๆ เห็นก็สนใจสอบ ถามความหมายของลวดลายที่ตัวเองชอบ

“หนูชอบลายดอกหญ้าค่ะ ป้าติ๋วบอกว่าคนที่ชอบลายดอกหญ้าทำนายว่าจะเป็นสตรีที่โดดเด่นในแดนอีสาน จะได้พัฒนาบ้านเมืองให้เด่นทัดเทียมกับเมืองหลวงค่ะ ผู้คิดลายนี้เขาเล่าว่าเมื่อก่อนคนอีสานจะอายในภาษาและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวเอง เวลาคนกรุงเทพฯ มาก็จะคิดว่าตัวเองด้อยกว่า แต่ไม่จริงเลยค่ะ อีสานสามารถเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงคนทั้งประเทศ ไทยได้เลย ดังนั้น เราควรภูมิใจในความเป็นรากหญ้า เป็นดอกหญ้าที่ชูช่อบนผืนดินอีสานของเราค่ะ” น้องแพตตี้น้อย ด.ญ. กัญญาณัฐ รอบรู้ เล่าถึงลายผ้าที่ตัวเองชอบอย่างภาคภูมิใจ

ที่บ้านของ ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปัจจุบันตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรมของ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทอผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ทำฝ้ายให้กลายเป็นเส้นด้าย การมัดหมี่ ย้อมครามและย้อมสีธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนการทอเป็นผืน เพื่อถ่ายทอดให้เด็กๆ ในชุมชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้

เมื่อเด็กๆ เห็นคุณค่าในผืนผ้าและเข้าใจความหมายของลวดลายแล้วจะสามารถสืบทอดและรักษาวัฒนธรรมการนุ่งซิ่นงามๆ หรือคิดค้นลวดลายใหม่ๆ ของตนเอง ขึ้นมาได้ในอนาคต เรียกได้ว่าไม่ลืมรากเหง้าและยังช่วยรักษาให้สืบทอดต่อไปอีกด้วย

“หนูภูมิใจมากๆ ค่ะ ที่ได้นุ่งผ้าลายของเขมราฐ ต่อไปถ้าใครๆ เห็นผ้าลายนี้ก็จะรู้ว่ามาจากเขมราฐและมีความสวยงามมากๆ เลยค่ะ” น้องแพตตี้ ด.ญ.ภัทร เจริญรัตน์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ร่วมเรียนรู้กับเด็กๆ โรงเรียนอนุบาลบ้านเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ว่าในผืนผ้าซิ่นสวยๆ มีเรื่องราวและความหมายของท้องถิ่นตัวเองแฝงอยู่อย่างไรบ้าง ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน “ลวดลายเขมราฐ” วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ทางช่อง 3 ช่อง 33 เวลา 06.25 น.