“คว่ำตายหงายเป็น” ประโยชน์ที่ถูกมองข้าม ไม่ใช่ไม้ประดับทั่วไป แต่เป็นยายามฉุกเฉิน

เชื่อว่าหลายๆ คนต้องรู้จักกับพืชชนิดนี้ “คว่ำตายหงายเป็น” ชื่อก็น่ากลัวแล้ว แถมยังเป็นพืชที่ขึ้นง่ายตายยาก ใครเคยปลูกจะรู้แป๊บเดียวต้นใหม่โผล่มาอีกแล้ว เป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกไว้หน้าบ้าน แต่รู้ไหมว่าเป็นยาสมุนไพรยอดนิยมของชาวเขาอีกด้วย สรรพคุณสุดจึ๋งไม่ธรรมดา ก่อนอื่นพาไปรู้จักที่มาของ “คว่ำตายหงายเป็น” กันก่อน

คว่ำตายหงายเป็น
คว่ำตายหงายเป็น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers., Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken

ชื่อวงศ์ : CRASSULACEAE

ชื่ออื่น : กระลำเพาะ ต้นตายใบเป็น นิรพัตร เบญจฉัตร กะเร ต้นตายปลายเป็น มะตบ ล็อบแล็บ ลุบลับ ลุมลัง ตาวาล ปะฉู่ชิคะ ค้ำ ปู่ย่า ปะเตียลเพลิง เพรอะแพระ ยาเท้า ส้มเช้า

ลักษณะทั่วไป ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง อวบน้ำ ใบเดี่ยวหรือใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5 ใบ รูปขอบขนาน แกมรูปไข่ หรือรีกว้าง ขอบใบหยักโค้งมน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ลักษณะเป็นทรงกระบอก ห้อยลง กลีบดอกด้านล่างสีเขียว ด้านบนสีแดง ผลออกเป็นพวง มีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ใช้ใบปักชำ

ตอนเด็กๆ เห็นดอกขึ้นมาเป็นไม่ได้ คันไม้คันมืออยากจะหยิบออก เด็ดออก แล้วไปโยนลงต้นอื่น ผ่านไปไม่กี่วัน ต้นใหม่โผล่มาสะงั้น สมัยก่อนหลายๆ บ้านนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน ไม่ใช่แค่ไม้ประดับทั่วไปแต่มีสรรพคุณที่เป็นยาอีกด้วย จะมีสรรพคุณอะไรบ้างไปดูกันเลย

คว่ำตายหงายเป็น ยาเย็นยามฉุกเฉิน

คว่ำตายหงายเป็นสมุนไพรไม้มงคลของพ่อหมอแม่หมอเมืองเลย หน้าบ้านจะต้องมีปลูกไว้ทุกบ้าน แถวอำเภอภูหลวงเรียกต้นปู่ย่า แต่แถวอำเภอนาแห้วเรียกต้นค้ำ ดอกคว่ำตายหงายเป็นจะนำไปไว้ในยุ้งข้าว บูชารถ ขึ้นบ้านใหม่เพื่อสิริมงคล ปกปักรักษา ป้องกันอันตราย ไม่ให้มีอุบัติเหตุเภทภัย

สมุนไพรใดๆ ก็ตามที่มีคติความเชื่อในการต้องปลูกไว้แบบนี้ เดาได้เลยว่าจะต้องมีสรรพคุณที่จำเป็นต้องใช้ในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งก็ไม่ผิดจริงๆ คว่ำตายหงายเป็นมีสรรพคุณเด่นคือ ลดความร้อน ถ้าไฟไหม้น้ำร้อนลวก ไหม้แดด ก็เอามาตำคั้นเอาน้ำทาได้เลย หรืออาการฟกช้ำจากการกระแทกก็เอาใบอังไฟมาประคบได้ ในหน้าร้อน แสบตาคันตา ก็เอาใบมาบดให้ละเอียดประคบบนดวงตาจะช่วยให้เย็นขึ้น

ในทุกภาคมีการใช้คว่ำตายหงายเป็นดับพิษร้อนเหมือนๆ กัน แม่ๆ ทาง 3 จังหวัดภาคใต้ เรียกพืชชนิดนี้ว่า ตาวาร แม่ซารีเป๊าะ แวจิ และ ยายมือลอ มะแซ เล่าว่า ต้นคว่ำตายหงายเป็นเป็นยาสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการไข้ตัวร้อนของชาวมลายูมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่เป็นไข้ตัวร้อน มีไข้สูง จะนำใบตาวารมาล้างให้สะอาดแล้วมาขยำกับน้ำชโลมศีรษะจนเปียกชุ่มตลอดเวลาจนกว่าจะหาย และใช้ตำพอกแก้อาการฟกบวม อักเสบแก้พิษฝี พ่อหมอยากะเหรี่ยงเรียกต้นนี้ว่า ปะฉู่ชิคะ นอกจากจะใช้ในสรรพคุณเช่นเดียวกับที่ว่ามาแล้ว ยังใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษากระดูกหักด้วย

ส่วนพ่อหมอไทยใหญ่จะเรียกว่า หญ้าป่องไฟหรือหวานไฟ ก็ใช้คล้ายๆ กัน แต่ในการรักษาอาการเคล็ดขัดยอกฟกบวมจะใช้ตำใส่เหล้าทาร่วมกับการบีบนวด และใช้รักษาแผล ทั้งแผลสดมีเลือดออก แผลมีหนอง แผลเกิดจากริดสีดวงทวาร โดยนำมาล้างให้สะอาดบดตำพอแหลก แล้วเอามาประคบบริเวณที่เป็นแผล หมอยาท่านบอกว่า ถ้าใช้คว่ำตายหงายเป็นจะช่วยให้แผลหายไว ไม่เป็นแผลเป็น

คว่ำตายหงายเป็น ดับพิษร้อนให้คนอาเซียน

ต้นคว่ำตายหงายเป็นไม่ได้มีแต่คนบ้านเราเท่านั้นที่ใช้เป็น ประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียนก็ใช้เป็นยาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นพืชทนแล้งที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในแอฟริกา แต่เข้ามาแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากประเทศไทย ก็ยังพบในเวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีการใช้คล้ายๆ กันคือ รักษาแผลไฟไหม้ แผล ผื่นแพ้หรือลมพิษ ฟกช้ำ ปวดหัว ปวดฟัน บวม ไข้ พอกกระดูกหัก แมลงสัตว์กัดต่อย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ ไอ หอบหืด ท้องเสีย ริดสีดวงทวาร เลือดออกไม่ว่าภายในภายนอก แม่หมอพ่อหมอยา 3 จังหวัดภาคใต้ ก็ใช้แบบเดียวกับเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา

เมื่อคณะทำงานด้านการแพทย์ดั้งเดิมอาเซียน (ASEAN Task Force on Traditional Medicine, ATFTM) จัดทำรายการยาสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐานในอาเซียนร่วมกันขึ้นเป็นฉบับแรกในปี 2557 คว่ำตายหงายเป็นก็ถูกคัดเลือกให้อยู่ในบัญชีนี้ด้วย โดยระบุสรรพคุณในการรักษาแผลไฟไหม้เล็กน้อย (แผลไฟไหม้ระดับที่หนึ่ง) โดยใช้พืชสดตำพอก เปลี่ยนยาบ่อยๆ จนกว่าจะหาย

มีผลการศึกษาวิจัยประโยชน์ทางยาของคว่ำตายหงายเป็นซึ่งสนับสนุนการใช้ดั้งเดิมอยู่พอสมควร ที่สำคัญๆ คือ มีฤทธิ์ต้านการปวดการอักเสบที่ดีมาก ต้านการแพ้แบบทั่วไปและแพ้แบบรุนแรง มีฤทธิ์รักษาแผลทำให้แผลหายเร็ว มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การพบสารพวกกรดแอสคอร์บิก ซาโปนิน และแทนนินในพืชจะช่วยห้ามเลือด

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยยังพบฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฤทธิ์ในการลดน้ำตาล ต้านเบาหวาน ต้านอาการซึมเศร้า ป้องกันแผลในกระเพาะ ลดความดันโลหิต คลายกังวล ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านการชัก ลดการบีบตัวที่ไวเกินของกระเพาะปัสสาวะ มีการทดลองทางคลินิกที่พบว่า ช่วยทำให้คนท้องและผู้ป่วยมะเร็งหลับได้ดีขึ้น เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า คว่ำตายหงายเป็นเป็นสมุนไพรที่สมควรปลูกไว้ประจำบ้าน เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ที่สำคัญคว่ำตายหงายเป็นเป็นพืชที่ขึ้นง่ายตายยาก ดอกก็สวยเป็นไม้มงคลที่เหมาะจะนำมาบูชาพระอย่างยิ่ง

ตำรับยา

แก้ไข้ แก้ปวดหัวจากความร้อน นำใบมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาขยำกับน้ำ จากนั้นนำมาชโลมศีรษะให้เปียกชุ่มตลอดเวลาจนกว่าอาการจะดีขึ้น

รักษาอาการไอและอาเจียนเป็นเลือด นำใบสดขนาดพอประมาณมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ประมาณ 1/2 แก้วชา จากนั้นนำมาผสมกับน้ำผึ้งป่าประมาณ 1/2-1 ช้อนชา คนให้เข้ากัน แล้วนำมาดื่มเมื่อมีอาการ จนกว่าจะหายเป็นปกติ

รักษาและบรรเทาอาการปวดริดสีดวงทวาร นำใบเพสลาดมาตากให้แห้งสนิท แล้วนำมาตำหรือบดให้เป็นผงละเอียด นำผงสมุนไพร 1 ช้อนโต๊ะ มาชงในน้ำร้อน 1 แก้วชา แล้วเติมน้ำผึ้งป่า จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน แล้วนำมาดื่มอุ่นๆ 3 ครั้งต่อวัน

แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาอาการปวดข้างในท้อง : นำใบขนาดพอประมาณ มาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบริเวณหน้าท้อง วันละ 2 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือนำใบประมาณ 2-3 ใบ มาตำผสมกับขมิ้นขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว ให้ละเอียด แล้วนำมาทาบริเวณหน้าท้องบ่อยๆ หรือวันละ 2 เวลา ตอนเช้าและก่อนนอน

รักษาอาการปวดตามไขข้อต่างๆ รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ : นำทั้งต้นประมาณ 1 กำมือต่อน้ำ 1 ลิตร มาต้มให้เดือดโดยให้น้ำเหลือ 1 ใน 3 ส่วน รอให้อุ่นแล้วนำมากรอง ดื่มครั้งละ 1/2 แก้วชา วันละ 2 เวลา หลังอาหาร

รักษาอาการปวดบวม แผลอักเสบ แก้พิษฝี รักษาแผลไฟไหม้พุพอง น้ำร้อนลวก : นำใบมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาพอกแผลบริเวณที่มีอาการบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้ามีอาการมากหรือแผลเปิด คั้นเอาแต่น้ำแล้วเอาขนไก่ชุบทา

น้ำมันทาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือแผลทั่วไป น้ำคั้นใบคว่ำตายหงายเป็น ประมาณ 2 เท่าของน้ำมันงา เคี่ยวจนน้ำหมดเหลือน้ำมันเก็บไว้ใช้

เคล็ดขัดยอกช้ำบวม ล้างให้สะอาดทุบให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาวันละ 2-3 ครั้ง หรือตำผสมเหล้านำไปทาร่วมกับการนวด

💡เรื่องน่ารู้

ชาวบ้านในจังหวัดเลยแทบทุกบ้านนิยมปลูกไว้เพราะมีความเชื่อว่าช่วยค้ำคูน เพิ่มพูนทรัพย์สิน นิยมนำไปใช้สู่เข้า เล่าขวัญ คือการนำไปใส่ในพานบายศรีสู่ขวัญในการทำขวัญบ่าวสาว ทำขวัญนาค โดยนำใบค้ำที่ปลอดหรือใบสมบูรณ์ 7 ใบ ใบคูน ใบยอ ใส่ไว้ในพาขวัญหรือพานบายศรีเพื่อใช้ในพิธี

ใช้ในการปลูกบ้าน โดยนำใบค้ำ 7 ใบ ใส่ในไซแขวน หรือมัดติดกับกวัก (กงล้อปั่นด้าย) แล้วนำไปมัดติดกับเสาขวัญ (เสาโท) เพื่อกวักสิ่งดีๆ หรือดักสิ่งดีๆ เข้าบ้าน เวลาที่ยกเสาแฮก (เสาเอก) เสาขวัญ โดยยึดวันดีในการปลูกบ้านคือ ขึงศุกร์ ปลูกเสาร์ (เตรียมสถานที่ขุดหลุมในวันศุกร์ ลงเสาบ้านวันเสาร์) เพราะเชื่อว่าช่วยค้ำ ช่วยคูนให้เกิดความร่มเย็น เพิ่มพูนทรัพย์สิน

ใช้เหน็บไว้ประตูเล้าข้าว โดยจะใช้ร่วมกับดอกเกล็ดลิ่น เพราะเชื่อว่า ค้ำคูน กินบ่บก จกบ่ลง ให้ข้าวเพิ่มมากขึ้นถี่ขึ้น ไม่อดอยากให้เพิ่มพูนขึ้นเหมือนชั้นของเกล็ดลิ่น

ขอบคุณข้อมูลจาก www.abhaiherb.com