ผู้เขียน | กาญจนา จินตกานนท์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวทางการจัดทำโครงการซีเอสอาร์ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้โอกาสนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวะระดับ ปวช. ทั่วประเทศ ส่งโครงการเข้าประกวดเพื่อชิงทุนการศึกษาและนำไปต่อยอดโครงการ
ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาสมัครร่วมโครงการ รวมกว่า 470 โครงการ ภายใต้ธีมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยให้ชุมชน สังคม และองค์กรอยู่ได้อย่างเป็นสุขและเจริญก้าวหน้า และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เป็นการประกวดโครงการรอบสุดท้ายที่เข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 11 ทีม (จากทีมที่สมัครทั้งหมด 218 ทีม) ท่ามกลางความตื่นเต้นของทีมที่เข้าชิง เพื่อนำเสนอโครงการและตอบคำถามของคณะกรรมการ ภายในเวลาที่กำหนดให้ 15 นาที

คุณศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2550 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา จึงนำบทสรุปหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่เป็นคำสอนและหลักทรงงานของพระองค์ท่าน มาเผยแพร่ให้กระจายเติบโตเหมือนต้นกล้า จึงเป็นที่มาของ กิจกรรม กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว และเมื่อจบโครงการไปแล้วยังคงสืบสานต่อไป มีการประเมินผลเพื่อเรียนรู้ นำไปปรับปรุงพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นหลักของความเป็นจริงใช้ได้กับทุกคน ทุกสถานะ ทุกวัย และทุกอาชีพที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี

เขาน้อยวิทยาคม
ของขวัญจากดิน
อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง และ อาจารย์สุรักษ์ สุทธิพิบูลย์ อาจารย์โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด 1 ใน 11 ทีมที่ได้รับคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศและได้รับรางวัลชมเชย กล่าวว่า โรงเรียนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นอยู่แล้ว เมื่อมีโครงการต้นกล้าสีขาว เห็นว่าสอดรับกับกิจกรรมที่โรงเรียนทำอยู่ จึงสนับสนุนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายรวมทีมกัน 5 คน สมัครเข้าร่วมโครงการ ใช้ชื่อ ทีมเขาน้อย โดยเขียนแผนงานส่งเข้าไปสมัคร ใช้ชื่อโครงการว่า “ของขวัญจากดิน” และปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้มีความเด่นชัดขึ้นตามหลักเกณฑ์ของกิจกรรมกรุงไทย ต้นกล้าสีขาว เช่น การสื่อสารกับชุมชน การขยายผลกับชุมชน การให้ชุมชนมามีส่วนร่วมและการบริหารโครงการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ทีมเขาน้อย ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน คือ นางสาวสร้อยทิพย์ พันธ์พิริยะ นางสาวสุตตนา ช่วยดี นางสาวณิชชา หนองแพ นางสาวเบญญภา บางชะลา และ นายวัญญู ทองคำ และมี อาจารย์สุรักษ์ สุทธิพิบูลย์ เป็นที่ปรึกษา

นางสาวสร้อยทิพย์ ตัวแทนจากทีมเขาน้อย เล่าถึงที่มาของโครงการของขวัญจากดินว่า ด้วยจังหวัดตราดเป็นเมืองเกษตรกรรม รวมทั้งชุมชนบริเวณรอบๆ โรงเรียน ชาวสวนชาวไร่นิยมใช้สารเคมีเป็นปุ๋ย และฉีดยาฆ่าแมลง พืชผักที่จำหน่ายในตลาดมีปริมาณสารเคมีตกค้างทำให้เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการผลิต เราจึงต้องการให้ชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีมาใช้วิถีธรรมชาติ โดยทำเกษตรอินทรีย์นั่นเอง
ทีมเขาน้อยจึงศึกษาข้อมูลเชิงลึกตัวอย่างจากการสำรวจสภาพดินสวนของเกษตรกรในชุมชนบ้านห้วยแร้ง หมู่ที่ 8 พบว่าแร่ธาตุหลัก NPK หรือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ของชาวสวนถูกทำลายไป เนื่องจากการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงสารเคมีทำการเกษตร จึงเลือกตัวอย่างเกษตรกรเพื่อนำเกษตรอินทรีย์เข้าไปใช้ทดแทนเป็นกรณีศึกษาเพื่อขยายผลต่อไปในชุมชน

การเข้าถึงเกษตรกรในชุมชน
ปรับทัศนคติทำให้เห็น
“ทีมงานเขาน้อย” เล่าถึงกระบวนการขับเคลื่อน โครงการ ของขวัญจากดิน ว่ามีจุดประสงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีมาเป็นวิถีธรรมชาติ คือให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ไม่กล้าบอกชาวบ้านตรงๆ เพราะเกษตรกรมีความเคยชินกับการใช้สารเคมี ที่สะดวก รวดเร็ว หาซื้อง่าย และเห็นว่าได้ผลผลิตดี
จึงค่อยๆ เริ่มจากขั้นตอนที่ 1 สร้างองค์ความรู้ การค้นหาคำตอบจากปัญหาการใช้สารเคมี โดยหาความรู้จากสำนักงานเกษตร สำนักงานพัฒนาที่ดิน และจากปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 2 เผยแพร่องค์ความรู้สู่คนในครอบครัว รอบตัว รอบข้าง ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกษตรกรที่นิยมใช้สารเคมี โดยเริ่มจากครอบครัวแกนนำทีมเขาน้อยทั้ง 5 คนก่อน
จากนั้นขั้นตอนที่ 3 ขยายผลสู่คนรอบตัวพ่อแม่ของน้องๆ ภายในโรงเรียน และชุมชนรอบข้าง เปรียบเสมือนสร้างรากแก้วและรากแขนงให้ลำต้นคือตัวโครงการเติบโต ทั้งนี้ กระบวนการทำงานจะใช้ทีมงานเขาน้อย 5 คนเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรที่มีใจรักเกษตรอินทรีย์ที่เป็นสวนนำร่อง โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้

“จุดเริ่มต้นใช้หมู่บ้านห้วยแร้ง หมู่ที่ 8 อยู่บริเวณที่ตั้งของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์บริการเรียนรู้ที่ผู้ปกครอง ชุมชน สามารถเดินทางมาสะดวก การขยายเครือข่ายโครงการของขวัญจากดิน จะเริ่มจากครอบครัวของแกนนำทีมเขาน้อย ซึ่งเปรียบเสมือนรากแก้วและขยายผลไปรอบๆ ตัว คือผู้ปกครองนักเรียนและไปสู่ชุมชน เปรียบเสมือนรากแขนงทำให้โครงการของขวัญจากดินมีลำต้นแข็งแรง มั่นคง โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ การทำปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำชีวภาพ น้ำหมักมูลไส้เดือน เชื้อราไตรโคเดอร์มา ทำให้ชุมชนเห็น เรียนรู้ และพัฒนา เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าโครงการเป็นสวนเกษตรอินทรีย์นำร่อง นำกลับไปใช้จริง ให้ชุมชนได้เห็นประโยชน์และความแตกต่างจากการใช้สารเคมี เป็นการขับเคลื่อนหมุนอย่างเป็นระบบ” นางสาวสุตตนา กล่าว
กรณีศึกษานำร่องสวนเกษตรอินทรีย์
ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สุขภาพดี
คุณสนิท กั้งปู่ เกษตรกรในชุมชน หมู่บ้านห้วยแร้ง หมู่ที่ 8 สวนเกษตรอินทรีย์ที่เป็นกรณีศึกษาของโครงการของขวัญจากดิน เล่าว่า ทำสวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง จำนวน 5 ไร่ เมื่อก่อนใช้เคมี 100% ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แต่มาระยะหลัง 3 ปี ค่อยๆ ปรับเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพราะสุขภาพเริ่มไม่ดี พอปีที่ 4 ได้เรียนรู้จากกลุ่มเด็กนักเรียน ที่นำปราชญ์ชาวบ้านไปให้ความรู้ เรียนรู้เองจากยูทูปเพิ่มเติมเอง ตอนนี้ได้ปรับเป็นอินทรีย์ 70% เคมีเหลือ 30% ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ทำเองใช้หัวเชื้อธาตุหลัก NPK มาหมัก ทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน น้ำจุลินทรีย์ เชื้อราไตรโคเดอร์มาทำเองทั้งหมด ทำให้ลดต้นทุนได้มาก และรายได้เพิ่มขึ้นปี 2559

เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาเคยใช้เงินซื้อปุ๋ยเคมีปีละ 15,000-18,000 บาท มีรายได้ 100,000 บาท ปรับเปลี่ยนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 70% ค่าปุ๋ยอินทรีย์ 5,000 บาท มีรายได้ 300,000 บาท เพราะค่าปุ๋ยอินทรีย์ถูกกว่าและผลไม้มีคุณภาพลูกใหญ่ ผลสวยทำให้ได้ราคา ที่สำคัญเมื่อตรวจสุขภาพประจำปีไม่มีปัญหา
“อนาคตจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ 80-90% ปัญหาสำคัญต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรที่เคยใช้ปุ๋ยยาเคมีให้ปรับตัว เพราะต้องวางแผนการทำปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ใช้เวลา 1-2 เดือน ต้องมีเวลาและไม่เป็นสวนที่มีขนาดใหญ่มาก ยกเว้นที่แรงงานมากพอ ขนาดสวนที่เหมาะสมคือ 4-5 ไร่ ต่อครอบครัว เกษตรกรต้องใจรัก อดทน และมีความตั้งใจทำจริง”
“ซึ่งสิ่งที่เห็นผลชัดเจนคือ ประหยัดต้นทุน สุขภาพดีขึ้น จากเคยตรวจพบมีสารเคมีตกค้างในเลือดตอนนี้ไม่มีแล้ว การทำปุ๋ยแต่ละชนิดไม่ยุ่งยากแต่ต้องใช้เวลาหมัก เช่น การทำน้ำจุลินทรีย์ใช้ไข่ไก่ ผงชูรส น้ำปลา น้ำเปล่ามาผสมกันตามอัตราส่วน เขย่าให้เข้ากัน นำไปตากแดดทิ้งไว้ 1 เดือน จากนั้นนำไปผสมน้ำใช้ราดบนดิน หรือโคนต้นไม้จะช่วยบำรุงรากและช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธาตุอาหารคืนมา และใช้ผสมน้ำฉีดบำรุงใบได้ หรือการฉีดพ่นฆ่าแมลงต้นมังคุดที่ออกผลต้องฉีดถึง 3 ครั้ง ใช้ยาฉุน ตะไคร้หอมสับ หมักเหล้า น้ำส้มสายชู ทิ้งไว้ 2 เดือน นำมาผสมน้ำฉีดฆ่าแมลงแทนการใช้ยา” คุณสนิท กล่าว
“โครงการ ของขวัญจากดิน สมดังปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงปลูกไว้ มิใช่เพียงแค่ทรงปลูกต้นไม้ แต่เป็นความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนที่เกิดกับประชาชนคนไทย” นายวัญญู กล่าวทิ้งท้าย

อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง หัวหน้าฝ่ายวิชาการของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม กล่าวย้ำว่า โครงการของขวัญจากดิน ตามแนวทางน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนจะนำไปต่อยอด สร้างและพัฒนาให้ประสบความสำเร็จในชุมชน โดยมีการขับเคลื่อนจากแกนนำสภานักเรียนและโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ คู่กับปราชญ์ชาวบ้านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับวิถีชีวิตชุมชนให้อยู่อย่างมีความสุข

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ อาจารย์สมเกียรติ แซ่เต็ง โทร. (086) 511-3317 หรือ เฟซบุ๊ก KN”4H Club