อัญชัน…ทาคิ้วดกดำ โค้งสวยดั่งคันศร แถมสูตรทำน้ำง่ายๆ ให้อีกด้วย

ชื่อสามัญ : BLUE BUTTERFLY PEA

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clitoria ternatea

วงศ์ : Leguminosae

อัญชัน เป็นไม้ไทยแท้ๆ มีกล่าวไว้ในนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า

“อัญชัน คิดอัญชัน ทาคิ้วมันกันเฉิดฉาย ชำเลืองเยื้องตาชาย ชายชมนักมักแลตาม”

14302921_1107290472680339_1701451739_n

ดอกสดๆ ใช้นำมาขยี้ทาผม คิ้ว ทำให้ดกดำ นุ่มสลวย เป็นเงางาม คนโบราณรู้จักนำมาใช้ประโยชน์หลายทาง เช่น น้ำคั้นกลีบดอกทำสีใส่อาหาร หรือขนมต่างๆ อาทิ ขนมเรไร ขนมชั้น วุ้นอัญชัน เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นเถาเลื้อยกลมๆ ขนาดเล็ก แต่เหนียวมาก ดึงให้ขาดได้ยาก มักจะพบขึ้นพันไปกับต้นไม้อื่นๆ หรือขึ้นตามรั้วกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปทุกภาค

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายเดี่ยว หรือที่เรียกว่า Odd pinnate ผลเป็นฝักแบนๆ คล้ายถั่วลันเตา ภายในมีเมล็ด ฝักละ 2-4 เมล็ด

ดอก เหมือนอะไรดีล่ะ อู๊ย! จะเขียนยังไงดีละเนี่ย ไปพิจารณาสังเกตเพ่งดูกันเอาเองแล้วกันว่าเหมือนอะไร บอกใบ้ให้ว่า ให้ดูที่ Genus รากศัพท์คล้ายๆ กันน่ะแหละ ที่ผู้เขียนก็ไม่มีซะด้วย ไม่มี้ ไม่มีจริงๆ ให้ดิ้นตาย นึกออกแล้วละก็ คงเข้าใจกันนะว่า นักพฤกษศาสตร์รุ่นเก่าๆ เขามีอารมณ์ขัน และจินตนาการล้ำลึกขนาดไหน สุดยอดไร้เทียมทานจริงๆ เลย

คนโบราณน่ะเขามีเหตุ มีผล มีที่มาในการตั้งชื่อ สรรพสิ่งทุกอย่างในโลกทั้งนั้นแหละนะครับ แล้วเรื่องนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างมาให้ดูพอเป็นสังเขป ในตอนท้ายเรื่อง เพื่อเพิ่มเติมรสชาติ ในการอ่าน และเพื่อเป็นความรู้รอบตัวเวลาไปเจอป้ายชื่อพันธุ์ไม้ก็จะได้เดาทาง ถอดความออกว่า ต้นไม้นั้นๆ มีลักษณะแฝงอย่างไร ชื่อ นามสกุล สามารถบ่งบอกอะไรได้บ้างครับ

14285242_1107220826020637_1239181756_o

ดอกอัญชัน มีทั้งพันธุ์สีม่วงและสีขาว มีทั้งชนิดดอกซ้อน และดอกลา หรือมีกลีบดอกชั้นเดียว หากแต่ที่นิยมนำมาปลูกส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ดอกสีม่วง ในกลีบดอกอัญชันประกอบไปด้วยสาระสำคัญ คือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเลือด ในหลอดเลือดเล็กๆ ที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นผม และประสาทตา ช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการมองเห็น

ส่วน ราก ทุบพอแตกนำมาใช้สีฟันได้ ทำให้ฟันทนทาน แข็งแรง สรรพคุณคล้ายๆ ต้นข่อย สาร Anthocyanin ตัวนี้จะเปลี่ยนสีได้ตามค่าความเป็นกรดหรือด่าง ถ้าเป็นด่าง ก็จะออกสีน้ำเงิน ถ้าเป็นกรดก็จะออกสีม่วงแดง เวลาทำเป็นน้ำอัญชันเพื่อดื่มแก้กระหาย อยากให้เป็นสีม่วงแดงก็เหยาะน้ำมะนาวลงไปสัก 4-5 หยด ก็จะเปลี่ยนสีจากน้ำเงินกลายเป็นม่วงแดงได้ทันที

สูตร ทำน้ำดอกอัญชันง่ายๆ มีดังนี้ ใช้ดอกอัญชันตากแห้ง 100 กรัม ล้างน้ำให้สะเด็ด โยนลงหม้อ เติมน้ำสะอาดลงไป สัก 2 ถ้วยตวง ต้มให้เดือด ทิ้งไว้ 5 นาที กรองเอากากออก เติมน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้งตามใจชอบ จิบอุ่นๆ หรือจะใส่น้ำแข็งป่นก็แล้วแต่รสนิยม หรืออีกวิธีหนึ่ง ก็เอาดอกอัญชันแห้ง ประมาณ 10-20 ดอก ใส่น้ำร้อน 1 ถ้วย ชงแทนชาไว้จิบอุ่นๆ ก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง ลองเอาไปทำกันเองดูนะครับ ง่ายๆ กิจกรรมในครัวเรือน ไว้เลี้ยงเพื่อนๆ ประหยัดงบดีอีกด้วย

วิธีการปลูก  เก็บฝักแก่ๆ สีน้ำตาลมาแกะเอาเมล็ดข้างใน แช่น้ำสัก 10 นาที นำไปเพาะในกระบะ เมื่อเห็นต้นอ่อนงอกขึ้นมาสูงสัก 1 คืบ ให้แยกออกลงกระถาง กระถางละ 2-3 ต้น หาไม้ไผ่มาปัก เป็น 3 เส้า ผูกเชือกให้แน่น สำหรับเป็นที่ให้ต้นเลื้อย รอสักเดือนกว่าๆ ก็ออกดอกให้แล้วครับ อัญชันปลูกได้ดีทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม แต่กลางแจ้ง ดอกจะมีสีเข้มกว่า หรือจะปล่อยให้เลื้อยขึ้นซุ้มประตูหน้าบ้าน หรือตามรั้วริมกำแพงก็ได้ทั้งนั้นไม่เกี่ยงงอนแต่อย่างใด เหมือนสาวบ้านนอก ซื่อๆ ใสๆ อย่างไรก็ได้ยิ้มไว้ตลอด

ให้อยู่ตรงไหนๆ ก็อยู่ได้ เข้ากะคนและสิ่งแวดล้อมได้ง่าย บางทีเลื้อยขึ้นพันต้นไม้ใหญ่เองก็มี ถ้ารั้วบ้านยาวมากๆ ก็เด็ดฝักแก่ๆ มาแกะเมล็ดโรยหยอดตามแนวไว้ตลอด ไม่นานบ้านท่านก็จะมีไม้คลุมกำแพง ลดความแข็งในการมอง ดอกสีน้ำเงินเข้มน่ารักสดใสไว้เชยชมกันครับ