“พระธาตุแช่แห้ง” ปูชนียพุทธสถานโบราณบนยอดดอยภูเพียงแช่แห้ง เมืองน่าน

กวีรัตนโกสินทร์ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ประพันธ์บทกวีเชิดชูเมืองน่านไว้อย่างกินใจว่า

“ลำน้ำน่านลำนำน่านน้ำใจ อันนองไหลเลี้ยงถิ่นแผ่นดินหอม
หอมหัวใจให้ผจงเป็นเจิมจอม ร่วมถนอมรักษ์น่านนันทบุรี
รักวัดวาอารามอร่ามรูป อันรายล้อมจอมสถูปสถิตศรี
รักภูผาป่าพงดงดอยดี รินน้ำใจไมตรีน่านนิรันดร์”

เสน่ห์เมืองน่านนั้นยากที่ผู้เคยได้มาเยี่ยมเยือนจะลืมได้ สถานที่ควรได้ไปพบเห็น เช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดพระธาตุเขาน้อย วัดสวนตาล วัดหัวข่วง วัดหนองบัว วัดหนองแดง วัดต้นแหลง วัดมิ่งเมือง วัดหลวงกลางเวียง วัดภูมินทร์ เป็นต้น ยังมีอุทยานแห่งชาติขุนสถาน บ่อเกลือโบราณ เสาดินนาน้อย อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ลำน้ำว้า หมู่บ้านไทลื้อ ชาติพันธุ์ลัวะ หอศิลป์ริมน่าน เป็นต้น

โดยเฉพาะวัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นโบราณสถานที่งดงามแห่งหนึ่งของล้านนา น่าจะมีอายุยาวนานกว่า 800 ปี ตั้งอยู่บนยอดดอยภูเพียงแช่แห้ง บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน สันนิษฐานว่าพระธาตุแช่แห้งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน อยู่ในพื้นที่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงติ๊ด อำเภอภูเพียง โดยมีทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค บริเวณหน้าจั่วเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ส่วนวิหารของวัดพระธาตุแช่แห้งเป็นวิหารขนาดใหญ่ 8 ห้อง อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ

มูลเหตุการสร้างพระธาตุแช่แห้งนั้น พญาการเมืองแห่งราชวงศ์ภูคา ครองเมืองน่านระหว่างปี พ.ศ. 1896-1906 พระองค์ได้ย้ายเมืองปัวลงมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตภูเพียงแช่แห้ง ขณะเดียวกัน ก็เจริญสัมพันธไมตรีกับพระมหาธรรมราชาลิไทอย่างแน่นแฟ้น ถึงกับพระองค์ได้เสด็จลงไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัยที่อาณาจักรสุโขทัย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ พระมหาธรรมราชาลิไทได้ถวายพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ มีวรรณะเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด สุกใสดังแก้วสองพระองค์ มีพระวรรณะดั่งมุกสามพระองค์ มีพระวรรณะดั่งทองคำเท่าเมล็ดงาดำสองพระองค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทองอันงามประณีตอย่างละ 20 องค์

เมื่อพญาการเมืองเสด็จกลับเมืองน่านได้ทรงปรึกษากับพระมหาเถระธรรมบาล เห็นสมควรประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ที่เนินภูเพียงแช่แห้ง ระหว่างแม่น้ำเกี๋ยนและแม่น้ำลิง (แม่น้ำน่านปัจจุบัน)

พญาการเมืองจึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อเต้าปูนสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่แล้วทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยพระพิมพ์เงินพิมพ์ทอง ลงบรรจุไว้ปิดฝาสนิท พอกหุ้มด้วยสะตายจีน (ปูนผสมแบบโบราณ เป็นก้อนกลมเกลี้ยงเหมือนศิลา) เสร็จแล้วโปรดให้ขุดหลุมลึกหนึ่งวา จากนั้นอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุและพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองลงประดิษฐานไว้ และก่ออิฐทับครอบเป็นเจดีย์สูงหนึ่งวา

องค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุที่มีตำนานกล่าวว่า ได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุ ต่อมาพระอรหันต์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุข้อพระหัตถ์ด้านซ้าย และเศษของพระสรีรังคารธาตุมาประดิษฐานไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มนุษย์และเทวดาได้สักการะตราบ 500 พระวัสสา มีขนาดสูงจากฐานล่างระดับพื้นดิน 43.49 เมตร มีความยาวของฐานล่าง ซึ่งเป็นฐานเขียงรูปแท่งสี่เหลี่ยมด้านละ 19.25 เมตร บุด้วยแผ่นทองเหลือง มีสีเหลืองอร่าม นับเป็นสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบสกุลช่างเมืองน่าน

ลักษณะของเจดีย์เป็นรูปทรงระฆัง บัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม สำหรับชั้นบัวคว่ำ เหนือฐานแปดเหลี่ยมตกแต่งคล้ายกลีบบัวหรือลายใบไม้

อันที่จริงเจดีย์พระธาตุแช่แห้งได้รับการบูรณะสร้างเสริมมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2153 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยเสริมองค์เจดีย์ครอบทับองค์เดิม บุด้วยทองจังโก ปิดทับด้วยทองคำเปลว และบุด้วยทองเหลืองทั้งองค์ สร้างกำแพงล้อมรอบอยู่ชั้นใน ส่วนชั้นนอกมีระเบียงกว้าง 57 เมตร ยาว 80 เมตร ล้อมอยู่อีกชั้นหนึ่ง แนวระเบียงก็ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ปางมารวิชัย ปางประทานอภัย เป็นต้น ซึ่งรูปทรงประติมากรรมได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่

สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งมีวิหารแยกออกเป็น 2 แห่ง คือ วิหารหลวง อยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกส่วนวิหารพระนอน อยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุ โดยเฉพาะวิหารหลวงนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีประตูเข้าสี่ด้าน ที่ประตูทางเข้าด้านหน้านั้น สร้างรูปสิงห์สองตัว เหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังประดับลายปูนปั้นเป็นรูปนาคเกี่ยวกระหวัดกันอีกแปดตัว

งานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้งจะจัดขึ้นทุกปี ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 6 เมืองตามการนับช่วงเวลาแบบชาวล้านนา อยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม เรียกว่า “ประเพณีหกเป็ง” คนล้านนามีความเชื่อกันว่า การได้เดินทางไปสักการบูชา กราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งหรือการบูชาธาตุนั้น จะได้รับอานิสงส์อย่างแรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า