พฤกษาน่ายลริมถนนไร้เสา ใต้ร่มเงาต้นไม้..ไร้สาย

ป่าร้างกลางแดดแผดร้อน
สะท้อนความทุกข์ยุคเข็ญ
คูคลองหนองน้ำลำเค็ญ
มองเห็นหายนะสะเทือน
ภูโล่งโป่งเลี่ยนเตียนโล้น
ถูกโค่นถูกถางสร้างเขื่อน
สนองตอบความคิดบิดเบือน
ซ่อนเงื่อนครอบงำอำพราง
……………………………….
บันดาลป่าดงพงดิบ
เอื้อมหยิบแย่งยื้อมือสาว
แผ่นฟ้าป่ากว้างทางยาว
ระนาวร้าวรานมารครอง
ภูโล่งโป่งเลี่ยนเปลี่ยนรูป
ถ้าสูบเสียจนหม่นหมอง
แผ่นดินสิ้นน้ำฉ่ำนอง
เมืองทองครองทุกข์ยุคทมิฬฯ
“เดือนแรม ประกายเรือง”
(ไม่อยากให้โลกแล้ง-จงร่วมแรงรักษาป่า)

ผมขออนุญาตหยิบยกนำกลอนหก ที่กล่าวขานไว้ตอนต้นมาเกริ่นนำอารมณ์ของจิตสำนึกแห่งความหวงแหนผืนป่าที่เป็นที่มาแห่ง “ต้นน้ำ” ซึ่งท่านผู้ประพันธ์ได้เขียนไว้ถึง 7 บทกลอน แต่ได้ตัดต่อเพียง 2 บทแรก และ 2 บทสุดท้าย มาเรียงร้อยถ่ายทอดความรู้สึก เพื่อมิให้เกิดความสะเทือนใจมากกว่านี้

ถ้าหากบทกลอนนี้เป็นความจริง จึงขอให้เหตุการณ์ในบทกลอนเป็นเพียง “จินตนาการ” ของท่านผู้ประพันธ์ ดังที่ท่านได้ตั้งชื่อบทกลอนนี้ว่า “เดียวดาย” พร้อมภาพประกอบที่มีเพียงต้นไม้สูงใหญ่เพียงต้นเดียวกลางแดดจ้ากับเมฆฝนก้อนเล็กๆ ไกลลิบ ให้ความรู้สึกที่ยากจะตกลงมาเป็นน้ำฝนชุ่มแผ่นดิน

ในฉบับที่ผ่านมา ผมได้นำชื่อบทกลอนหลายชื่อ จากคอลัมน์ “บันทึกจากธรรมชาติ” โดย ดวงดาว ซึ่งปรากฏในท้ายเล่มของนิตยสาร “แพรว สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 222 ปีที่ 10, 1 พฤษภาคม 2535” และยังมิได้นำบทกลอนเหล่านั้นเสนอไว้ เนื่องจากแต่ละบทกลอน แต่ละท่านที่ประพันธ์ไว้ มีความหมาย มีเนื้อหาที่กระตุ้นความรู้สึกสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ทุกบทกลอน แม้ว่าอายุของบทกลอนนั้นๆ จะย่างเข้าสู่ “วัยฉกรรจ์”

แต่สถานการณ์ พฤติกรรมบุคคลอีกพวกเหล่าบางกลุ่มก็ต้อง “ปลูกจิตสำนึก” ไปมอบให้แทนต้นไม้ที่เราร่วมรณรงค์ให้ปลูกคนละต้น จึงอยากจะขอโอกาสที่จะนำบทกลอนดังกล่าวไว้มาแทรกเสนอดังเหตุผล

จากที่ได้กล่าวถึง “ศาสตร์รุกขกรรม” และ “งานรุกขกร” หลายฉบับมาแล้ว ด้วยผลแห่งศาสตร์นี้ เชื่อว่าต่อไปเราก็คงจะคุ้นชินกับคำดังกล่าวมากขึ้น และปฏิบัติการเชิงรูปธรรมก็จะมีความชัดเจนให้เห็น ไม่ใช่เป็นเพียง “วาจาประดิษฐ์” เท่านั้น

แม้ว่าจะเริ่มเห็นเพียงในเมืองใหญ่ หรือเป็นนโยบายปฏิบัติงานระดับเมืองหลวงก็เชื่อว่าจะขยายตัวออกทั่วไปในหัวเมือง แต่ละภูมิภาค นั่นก็คือเรื่องราวของการนำสายไฟฟ้า สายโทรคมนาคม หรือสายอื่นใดที่เห็นพาดผ่านเสาไฟฟ้าริมฟุตปาธ ริมถนนทุกสาย

ในเมืองใหญ่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่เราเคยเห็นว่าบางพื้นที่ชุมชนธุรกิจ สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ เหล่านั้น มีอยู่บนเสาไฟฟ้าคอนกรีตนับเส้นสายไม่ถ้วน ไม่รู้ว่าสายเหล่านั้นเป็นของใหม่ ของเก่า หรือบางสายมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านหรือไม่ บางสายหลายเสาก็ขาดร่วงลงมากองบนพื้น ฟุตปาธ พื้นถนน จนแยกไม่ออกว่าสายอะไร

ขอย้อนกลับอีกสักนิดนึง คำว่า “เสาไฟฟ้า” ถ้าหากท่านใดเกิดทันย้อนหลังไปสักสี่สิบห้าสิบปีที่ผ่านมา น่าจะเคยเห็น หรือเคย “ยืนพิงเสาไฟฟ้า” สมัยนั้นจะเป็นเสาไม้ หมายถึงใช้ต้นไม้ที่ตรง สูงชลูด ไม่คดงอ เส้นรอบวงจากโคนต้นกับปลายยอดอาจจะไม่ต่างกันมาก ขนาดเสาไม้นี้น่าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 1 ฟุต หรือขนาดแต่ละต้นเสาหย่อน “โคนเสา” ลงใน “ปี๊บ” สี่เหลี่ยมไม่ได้

นั่นหมายถึงต้นไม้เหล่านั้นซึ่งตัดมาใช้ทำเสาไฟฟ้าสมัยนั้นจะต้องสูงใหญ่แค่ไหน เพื่อจะเลือกตัดใช้เฉพาะส่วนที่ลำต้นตรงที่สุด โดยตัดช่วงท่อนโคนและท่อนปลายยอด “ทิ้งไป…?” เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะจินตนาการได้ เมื่อนำมาปักลึกลงดินเพื่อยืนเสาไฟก็ยังมีความสูงตรง ไม่น่าจะต่ำกว่า 20 เมตร กลายเป็นต้นไม้ไร้เปลือก ไร้กิ่งก้าน ดอก ใบ แต่รองรับสายไฟฟ้าสมัยนั้นยืนยาวมั่นคงหลายสิบปีไม่มีผุพัง

เนื่องจากผ่านการแช่น้ำยาตามกรรมวิธีเทคโนโลยีสมัยนั้น ยืนต้นเรียงรายตลอดทุกสายถนน ที่ความเจริญไหลผ่านเข้าไป ดังนั้น น่าสอดคล้องหรือตอบโจทย์ในท่อนท้ายของบทเพลงชื่อ “ต้นไม้” ของ คุณสุรสีห์ อินธิกุล ซึ่งนำเสนอไว้ฉบับที่ผ่านมา ที่ว่า

“เกิดบนดินแดนทดแทนมากมาย แต่กลับต้องตายให้กับความรุ่งเรือง ถูกคนทำลายเพื่อไปสร้างเมือง นี่คือเรื่องราวเหล่าพันธุ์พืชไพร” และก็น่าจะสอดคล้องผสมผสานกับบทกลอน ที่เกริ่นนำไว้ตั้งแต่ตอนต้น ที่ว่า

“ภูโล่งโป่งเลี่ยนเตียนโล้น ถูกโค่นถูกถางสร้างเขื่อน” ทำให้เกิดภาพของ “ภูโล่งโป่งเลี่ยนเปลี่ยนรูป” ผมจึงได้คำตอบว่า ต้นไม้สูงใหญ่ในป่าดงพงดิบหรือบนภูนั้น ๆ ก็ถูกนำมาใช้งานเพื่อความเจริญในเมืองดังที่กล่าวไว้อย่างน้อยที่เห็นชัดเจนเป็นเสาไฟฟ้าต้นไม้ เพียงแต่ยังสงสัยและยังหาคำตอบไม่ได้จริงๆ

คือ ณ ปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นเสาไฟฟ้าคอนกรีตสูงตระหง่านเรียงรายริมถนนทุกสายแทนเสาไฟฟ้าต้นไม้ที่หมดอายุขัยตามยุคสมัย แต่ไม่หมดอายุตัว หรือว่าเสาต้นไม้เหล่านั้นนัดหมายไป “รวมกองผุพัง” ที่ไหนหรือ? หวังว่าคงไม่มีคนใจร้ายนำไปทิ้งตากแดด ตากฝน ให้จมดินรอมอด ปลวก จับจองหรอกน่ะ!

ที่ได้กล่าวถึงเสาไฟฟ้าคอนกรีต ปัจจุบันรายเรียงเห็นคุ้นตาอยู่ริมถนนเป็นที่รองรับพาดผ่านของสายไฟฟ้า และสายสื่อสารหลากหลายชนิดเกาะเกี่ยวอยู่ทั่วไป เสาบางต้นก็มี “หม้อแปลง” แรงดันกระแสไฟฟ้าห้อย แขวน หรือวางอยู่บนคานระหว่างเสา 2 ต้น จนผู้คนนำมาหยอกล้อ และบอกว่า “รู้นะเสาไฟฟ้าต้นไหนเป็นเสาตัวผู้ หรือเสาตัวเมีย”

หากมองริมถนนบางสายก็มีต้นเรียงรายริมถนนสลับกับเสาไฟฟ้า หรือบางจุดจะมีสายหย่อนพาดอยู่บนยอด หรือห้อยลงมาถึงกิ่งก้านต้นไม้ริมถนนนั้นด้วยเช่นกัน แต่คงจะหาเสาไฟฟ้าต้นไม้ปัจจุบันนี้ยากแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ริมถนนทุกวันนี้ก็ไม่สูงใหญ่กว่าเสาไฟฟ้าคอนกรีต ความโดดเด่นริมถนนจึงกลายเป็นเสาคอนกรีตกับสายไฟแน่นทอดยาวไกล ไม่ใช่ความโดดเด่นของต้นไม้ พุ่มไม้ หรือร่มเงาบริเวณที่จะโชว์ความเขียวชอุ่ม

จากบรรยากาศที่พรรณนามาทั้งหมดนั้น มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบนถนนหลายสายแล้วในเมืองหลวง เป็นประเดิมเริ่มแรกที่เห็นเป็นรูปธรรมหลายช่วงถนน ซึ่งได้เกริ่นไว้ในฉบับที่ผ่านมาว่าเกี่ยวกับเรื่องการนำร่องรุกขกรรมดูแลต้นไม้ในกรุงเทพมหานคร

โดยมีการสนับสนุนให้มีรุกขกรทั้งอาสาและสมัครฝึกอบรมนำไปดูแลต้นไม้ ซึ่งมีดีเดย์มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2560 ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กลุ่มบิ๊กทรีส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และเจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ทั้ง 50 เขต ร่วมกันจัดฝึกอบรมกิจกรรม เพื่อเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่อเนื่องต่อไปที่จะดำเนินการถนนสายต่างๆ เพื่อจะนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน

ทัศนียภาพบนถนนสายต่างๆ ต่อไปก็คงจะได้วางสายตาสัมผัสกับจุดมุ่งหมาย ที่การไฟฟ้านครหลวงอยากจะตอบโจทย์คำว่า “ถนนสวยไร้เสาสาย” ด้วยการจัดระบบไฟฟ้าที่มั่นคงด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ ดังที่เห็นจากข่าวในวารสาร MEA life plus ฉบับที่ 14/2560 ด้วยการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกทั้งหมด เพื่อจะได้เห็นทัศนียภาพใหม่ของมหานครไร้เสาสาย

และได้เห็นบางช่วงถนนแล้ว เช่น ถนนพหลโยธิน คือโครงการถนนพหลโยธินช่วงห้าแยกลาดพร้าวถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมระยะทาง ประมาณ 8 กิโลเมตร

ในวารสารที่ได้กล่าวไว้ มีผู้คนประชาชนได้แสดงความคิดเห็นไว้หลายท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความพอใจที่มุมมองบนถนนช่วงนี้ ไม่มีเสาไฟฟ้าเกะกะ พาดสายระโยงระยาง หรือเสาไฟคอนกรีตที่ทำให้การเดินการสัญจรริมฟุตปาธเป็นทางแคบๆ บางท่านบอกความรู้สึกของความแปลกตาที่ดูว่าถนนโล่งขึ้น ทางเดินบนฟุตปาธกว้างขึ้น เวลาทอดสายตาออกสู่เส้นสายถนนเหมือนไม่มีสิ่งบังตา บางท่านบอกว่าชอบถ่ายภาพถนนในเมือง ทั้งมุมสูงและบนถนน

หากมองจากที่สูงก็ติดสายไฟฟ้า ยืนบนถนนเงยมุมกล้องขึ้นสูงก็ติดสายไฟเช่นกัน ซึ่งพอใจกับการนำสายไฟฟ้าลงดินมาก และฝากความหวังว่าคงจะเกิดขึ้นกับทุกสายถนนถ้าเป็นไปได้

จากความสำเร็จบนถนนพหลโยธินช่วงที่ได้กล่าวถึง เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ น่าจะมีถนนไร้เสาสายแห่งใหม่ ดำเนินการตามโครงการถัดไป ที่การไฟฟ้านครหลวงได้วางแผนดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบสายใต้ดิน พร้อมทั้งรื้อถอนเสาไฟฟ้าตามโครงการในถนนสายสำคัญเส้นอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการถนนพญาไท ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงสี่แยกปทุมวัน โครงการถนนสุขุมวิท ช่วงซอยนานา ถึงสุขุมวิท 71

โดยที่การไฟฟ้านครหลวงมีความพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าริมถนนน่าจะเห็นเป็น “สีเขียว”

เรามาลองจินตภาพย้อนหลัง และหมุนช่วงเวลาความเปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ที่เคยได้สัมผัสบรรยากาศเสาไฟต้นไม้ริมถนนสูงเด่น เชื่อมโยงด้วยสายไฟฟ้าบนยอดเสา แล้วซ้อนภาพเสาไฟฟ้าคอนกรีตขึ้นมาแทนเสาต้นไม้ แม้ว่าดูเหมือนความแข็งแกร่งจะยืนยง หรือขนาดใหญ่สูงลิ่วระดับที่แหงนคอตั้งบ่า หรือจะประชดว่านกพิราบบินเกาะจับยอดเสาไม่ถึง หรืออาจจะจินตภาพถึงถนนบางสายแถวๆ สีลม และเยาวราชช่วงกลางคืน บางฤดูกาลที่มีฝูงนกนางแอ่นบินมาเกาะสายไฟส่งเสียงทักทายผู้คนและพรรคพวกแบ่งปันที่นอนเรียงรายหลายกิโลเมตรสองฟากฝั่งถนน

หลับตาให้บรรยากาศนั้นซึมซับความรู้สึกบันทึกไว้ให้เป็นแค่ความทรงจำ แล้วค่อยๆ ลืมตาพบบรรยากาศแห่งความเป็นจริง ไม่ต้องเบิกตาโพรงหรือตกใจเมื่อฟ้าสาง แม้แดดจ้าก็มองหาเสาไฟฟ้าและสายไฟนานาพรรณไม่เจอ แต่สิ่งที่บังสายตาพรางแสงแดดจ้านั้นคือพุ่มไม้เรียงรายเขียวชอุ่มทั้งสองฟากฝั่งถนน แม้จะมีดอกใบร่วงอยู่ใต้ทรงพุ่มบนพื้นถนนประปรายอยู่บ้างก็ไม่คิดรังเกียจ มีคนร่วมกันเก็บกวาดด้วย “จิตอาสา” อยู่แล้ว

และไม่ต้องกลัวว่าจะมีกระโดงกิ่งก้านต้นไม้หักโค่นเป็นอันตรายผู้คน เพราะเรามี “รุกขกร” คอยดูแลอยู่ด้วย “ศาสตร์รุกขกรรม” โอ…! ถ้าเป็นความฝันก็อยากหลับทั้งคืน แต่ถ้าตื่นแล้วเป็นความจริง ก็ไม่ต้องหลับฝันอีกต่อไป

อ้อ…! สงสารแต่นกนางแอ่นจะนอนที่ไหนละ ในเมื่อ “ถนนไร้เสาสาย” ไม่เป็นไรก็เกาะกิ่งต้นไม้ข้างถนนเป็นที่นอนเถอะนะ “นางแอ่น” ผู้โชคดี

“ต้นไม้”
ธิราพร

ตระหง่านตั้งแผ่รื่นให้เงาร่ม
กิ่งห้อมใบห่มทุกถิ่นผืน
ห่มโลกห่มฝั่งให้ยั่งยืน
หล่อชื่นเลี้ยงชุ่มคลุมแผ่นดิน
คือคุณค่านานัปการเกิด
ก่อกำเนิดให้กำหนดกฎแก่สิน
สืบระบบนิเวศน์การไหลริน
ไม้คลุมป่า-ป่าคลุมดิน-เป็นวงจร
เป็นที่ตั้งรังรกของนกน้อย
เป็นที่คอยกั้นน้ำบ่าให้ช้าอ่อน
เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าได้หลบนอน
และเป็นที่พักผ่อนของผู้คน
ต้นไม้มีประโยชน์สารพัด
มนุษย์ยังคิดตัดให้ปี้ป่น
ทำลายเพื่อสร้างกำไรให้แก่ตน
น้ำตาป่าจึงหล่นเพราะคนทำ
กว่าจะเติบเป็นไม้ได้ยืนต้น
เอื้อดอกผลให้มนุษย์ได้อิ่มหนำ
เอื้อก้านกิ่งให้นกกาได้เริงรำ
กลับถูกคนใจดำมาทำลาย
จะเหลือไหมไม้สักต้นในวันหน้า
หากคนยังให้แค่ค่า ราคาขาย
หากคนยังลืมคุณค่าอันมากมาย
พรุ่งนี้อาจ…ทะเลทราย มาเยี่ยมเยือน

บทเพลงต้อนรับฤดูร้อนน่าจะรองรับอารมณ์กับความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศแห่งฤดูกาล ดังที่ คิมหันต์ฤดูจะมาทักทาย แม้ว่ายังจะไม่ลืมปลายฤดูหนาวที่ยังอ้อยอิ่งอยู่บ้าง ด้วยความไม่แน่นอนแห่งจักราศรี แต่สัญญาณแห่งจริตของพฤกษา ก็ให้เริ่มเห็นตุ่มช่อของดอกไม้เริ่มแย้มสี สะบัดปลายกิ่งรับลมร้อน ทั้งสีม่วงหวานอ่อน และสีเหลืองลออตา หากสอดส่ายสายตาหาต้นไม้ริมถนนบางสาย ก็ชวนให้รอภาพจากบทเพลงที่ว่า “ตะแบกบานแล้วร่วง สีม่วงที่พี่ชื่นชม”

หรือ ช่อดอกราชพฤกษ์ ดอกคูนสีเหลืองที่เป็นพวงห้อยย้อยเล่นลม
มาสะดุดความคิดเมื่อรำลึกถึงเสาไฟต้นไม้ หรือต้นไม้ที่ถูกนำไปเป็นเสาไฟฟ้า ทำให้บทเพลงในบรรยากาศที่พรรณนาไว้ด้วยจิตระรื่นถูกยั้งไว้ด้วยเปลี่ยนอารมณ์ จึงขอเปลี่ยนบทเพลงเป็นบทกลอนสดุดี “ต้นไม้” ที่เคยสูงตระหง่านในอดีต แต่หาพบยากในปัจจุบัน เพื่อคารวะ ดังที่ “ธิราพร” ประพันธ์ไว้ ใน “แพรว สุดสัปดาห์” เช่นกัน