“บึงกาฬ” โชว์นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายาง หวังแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

งาน “วันยางพารา และงานกาชาดบึงกาฬ 2561” จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี อัดแน่นด้วยกิจกรรมบันเทิง และสาระความรู้เรื่องยางพาราอย่างครบวงจร ตลอด 7 วัน ของการจัดงาน เกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากสนใจเยี่ยมชม “โซนยางพารา 4.0” ที่จัดแสดงนิทรรศการ “ยางสร้างสุข” และนวัตกรรมยางพาราจากหน่วยงานระดับประเทศ อาทิ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

พลาดไม่ได้ กับ “โซนสุดยอดนวัตกรรมยางพารา” เปิดตัว “ถนนเรืองแสง” จากยางพารา เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และนวัตกรรม “มีดกรีดยางนกเงือก” ฝีมือคนไทย ที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำยาง ยืดอายุการกรีดยางได้ยาวนานขึ้น เรียกว่า มางานเดียวได้ทั้งกิจกรรมบันเทิงและกิจกรรมความรู้เรื่องการปลูกดูแลจัดการสวนยาง และการแปรรูปยางพารา ที่จะช่วยยกระดับรายได้ของพี่น้องเกษตรกรสวนยางทั้งในบึงกาฬ จังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านให้ดีขึ้น

นวัตกรรมใหม่ จาก มจพ.

เวลาซื้อหมอนยางพารามาเก็บไว้นานๆ มักเกิดกลิ่นจากจุลินทรีย์ที่ย่อยสลาย ดังนั้น ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จึงได้พัฒนา “หมอนยางพาราปลอดเชื้อ” โดยเติมสาร “ซิลเวอร์นาโน” เพื่อช่วยให้หมอนยางไม่เกิดการย่อยสลาย สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์

ตัวอย่างยางมะตอยเทียม และถนนยางพาราดินซีเมนต์

นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวคิด เรื่อง “ถนนกันลื่น” (ANTI-SLIP ROAD) ผิวถนนทำจากยางพาราเป็นส่วนประกอบหลัก ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ “ผิวถนนจากยางพารา หรือยางมะตอยเทียม” (NR-RUBBER ROAD SURFACE) ผิวถนนทำจากยางพาราผสมหินคลุกใช้สำหรับปูผิวทางสัญจร ทางจักรยานและสวนสาธารณะ รวมทั้ง “อิฐบล็อกผสมน้ำยางพารา” โดยนำเศษขี้เถ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลมาใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิตอิฐบล็อก ผสมน้ำยางพาราดัดแปลง ช่วยให้อิฐบล็อกมีความแข็งแรง ทนทาน และมีน้ำหนักเบา

“ถนนเรืองแสง” จากยางพารา

นวัตกรรม “ถนนเรืองแสง (LUMINESCENT ROAD) จากยางพารา” เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผิวถนนทำจากยางพารา เป็นส่วนประกอบ เรืองแสงในที่มืดได้นานกว่า 6 ชั่วโมง ผศ.ดร.กัมปนาท ศิริเวทิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติฯ มจพ. และคณะนักวิจัยด้านนวัตกรรมยางพารา ประกอบด้วย คุณฐิตินันท์ อึ้งตระกูล และ คุณกษิดิศ วรวณิชชา นักศึกษาปริญญาโท ร่วมเปิดเผยวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ต้องการสร้างถนนประหยัดพลังงาน จากยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่บนท้องถนน และสามารถใช้ถนนเรืองแสงจากยางพารา เป็นจุดขาย สร้างแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

เส้นทางถนนทางหลวงทั่วไปมักประสบปัญหาระบบส่องสว่างชำรุดเสียหาย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย “การใช้สีสะท้อนแสง” คือแนวทางแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด แต่สีสะท้อนแสงจะทำงานได้ต่อเมื่อมีรถยนต์ขับผ่านหรือมีแสงสว่างจากหลอดไฟส่องมายังพื้นผิวถนน จึงเห็นสีสะท้อนแสงได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

ดังนั้น ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จึงได้นำยางพารามาผสมสารเคมีต่างๆ เช่น สารฟอสฟอเรสเซนซ์ เพื่อทาผิวถนนให้เกิดการเรืองแสงในเวลาค่ำคืน เช่น ตีเส้นจราจรบนลานจอดรถ ตีเส้นลู่วิ่งในสวนสาธารณะ เส้นทางวิ่งของรถจักรยาน รวมทั้งสัญลักษณ์จราจรตามจุดเสี่ยงต่างๆ บนท้องถนน อย่างไรก็ตาม ถนนยางพาราเรืองแสงมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยตารางเมตรละ 850-1,000 บาท ขณะที่ การทำสีสะท้อนแสงบนผิวถนนโดยทั่วไป มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ตารางเมตรละ 500-800 บาท

แม้ถนนยางพาราเรืองแสงจะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าแต่คุ้มค่ากับการลงทุน แถมสะดวกต่อการใช้งาน เพราะสีเรืองแสงจากยางพาราสามารถดูดซับพลังงานจากภายนอกได้ เช่น แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แสงไฟรถยนต์ หลอดไฟริมถนน กระตุ้นให้ผู้ขับขี่มองเห็นบนท้องถนนได้ง่ายขึ้น เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก

สารจับยาง IR

“สารจับยาง IR” (Innovation Rubber) เป็นสารประกอบอินทรีย์ใช้สำหรับจับเนื้อยาง เพื่อให้แยกส่วนของเนื้อยางออกจากน้ำ สามารถใช้ได้กับน้ำยาง ที่มีค่า DRC ต่ำได้  3%-10% ได้ มีประสิทธิภาพการจับเนื้อยางมากถึง 99.99%  ไม่มีผลต่อคุณสมบัติเชิงกลของยางพารา การนำไปใช้ประโยชน์สามารถแยกเนื้อยางออกจากน้ำยางได้ทุกชนิด เช่น น้ำยางที่โดนฝน น้ำยางสดผสมแอมโมเนีย น้ำยางข้น และหางน้ำยาง เป็นต้น

สารจับยาง IR เป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยแก้ปัญหาภาคการผลิตยางพาราได้อย่างดี เพราะบ่อยครั้งที่เจอฝนตกระหว่างกรีดยาง ทำให้น้ำยางได้รับความเสียหายจนต้องทิ้งยางไป สารจับยางตัวนี้ช่วยให้ชาวสวนยางไม่ต้องกลัวฝนอีกต่อไป เพราะหยดสารจับยางในถ้วยยาง จะช่วยให้ยางจับเป็นก้อนได้ทันที ผลงานชิ้นนี้ ใช้งานง่าย สะดวก ที่สำคัญมีราคาถูก และคุ้มค่ากับการใช้งาน

สหกรณ์ทำยางแผ่นรมควัน อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มักล้างบ่อทำความสะอาดแผ่นยางทุกวัน ซึ่งจะมีการปล่อยน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนน้ำยางพาราไหลไปร่องสวนยาง ทำให้เกิดการหมักหมม มีแบคทีเรียส่งกลิ่นเหม็นในที่สุด แต่หลังจากนำสารจับยาง IR มาใช้ในกระบวนการผลิต ปรากฏว่า น้ำทิ้งใสสะอาดมากขึ้น แล้วยังช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นของน้ำทิ้ง และช่วยดึงเอาเนื้อยางพาราออกมาขายเป็นขี้ยาง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำทิ้งแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มให้กับพี่น้องเกษตรกรสวนยางได้อีกทางหนึ่ง หากใครสนใจผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการ โทร. (02) 555-2000 ต่อ 2907

สารรักษาสภาพน้ำยางสด 

จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรจำนวนมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดไปทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าของยางพาราให้กับเกษตรกร สร้างโอกาสการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) หน่วยงานในกำกับ สวทช. ได้นำเสนอผลงานเรื่อง  เทคโนโลยี TAPS สารรักษาสภาพน้ำยางไร้แอมโมเนีย โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาพน้ำยางสดก่อนการแปรรูป และน้ำยางข้นหลังการแปรรูป แทนการใช้แอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง และยังต้องใช้ร่วมกับสารเคมีชนิดอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

การใช้สาร TAPS ช่วยให้ได้น้ำยางที่มีคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารก่อมะเร็งตกค้างในผลิตภัณฑ์ หากเติมสาร TAPS ปริมาณมากกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำยาง จะสามารถรักษาสภาพน้ำยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระยะเวลาได้มากกว่า 1 เดือน เมื่อเทียบกับน้ำยางที่เติมแอมโมเนีย ปริมาณ 0.7 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ พบว่า เมื่อทดลองผลิตน้ำยางข้น โดยใช้สาร TAPS ร่วมกับโรงงานผู้ผลิตน้ำยางข้น จำนวน 8 โรงงาน พบว่าน้ำยางข้นที่ผลิตโดยใช้สาร TAPS มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่น้ำยาง และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่มีราคาสูงขึ้นได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เป็นต้น