เรื่องเล่าจากการศึกษาดูงาน ระบบการใช้ตำรับสมุนไพร ณ ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าและผู้บริหารของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบการจัดการเกี่ยวกับสมุนไพรอย่างครบวงจรของประเทศญี่ปุ่น จึงอยากนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเล่าสู่กันฟังครับ

สำหรับยาสมุนไพรในประเทศญี่ปุ่น จะเรียกว่า Kampo จากหลักฐานพบว่า มีการใช้มามากกว่า 1,400 ปี โดยหากแยกดูในความหมายของคำแล้ว Kam ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า Kan หรือ Han (ราชวงศ์ฮั่นของประเทศจีน) ดังนั้น ความหมายก็จะสื่อถึงสิ่งที่มาจากจีน ส่วน po หมายถึง วิถีการรักษา ซึ่งความหมายโดยรวมคือ แบบแผนการรักษาที่มาจากประเทศจีน แต่ได้มีการพัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของญี่ปุ่นเอง ทำให้ไม่แปลกใจว่า ตำรับยา Kampo จะประกอบไปด้วยสมุนไพรจากเมืองจีนทั้งนั้น โดยในหนึ่งตำรับจะมีสมุนไพรไม่เยอะ เฉลี่ยประมาณ 4-5 ชนิด แต่ในบางครั้งส่วนประกอบของตำรับมาจากอวัยวะของสัตว์ก็มีเหมือนกัน

การสั่งใช้ตำรับยา Kampo ในประเทศญี่ปุ่นนั้น แพทย์แผนปัจจุบันจะเป็นผู้สั่งใช้ ส่วนใหญ่จะมีความรู้เกี่ยวกับตำรับยาสมุนไพร Kampo ด้วยเช่นกัน และบางท่านก็สามารถตรวจรักษาด้วยวิธีแบบแผนตะวันออกได้ด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น umified system อธิบายอย่างง่ายคือ เหมาหมดทั้งแผนปัจจุบันและ Kampo นั่นเอง โดยตัวคนไข้นั้นสามารถเบิกค่ายาได้แต่ไม่ทั้งหมดตามระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต้องจ่ายค่ายาเอง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

1

สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้าพเจ้าได้ฟังการบรรยายจากบริษัทผลิตตำรับยา Kampo ที่มียอดการใช้สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตำรับยา Kampo ที่ผลิตโดยบริษัทนี้ จะไม่ใช่สมุนไพรชิ้นแห้งนำมาบดผงรวมกันแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน แต่จะถูกแปรรูปให้เป็นสารสกัดและผ่านเครื่องผลิตยาให้ออกมาในรูปแบบของ granule (สารสกัด) โดยในหนึ่งสูตรตำรับจะใช้หมายเลขกำกับแทนชื่อตำรับ เมื่อแพทย์แผนปัจจุบันสั่งจ่ายตำรับยา Kampo ก็เพียงแต่ระบุยี่ห้อและตัวเลขของสูตรตำรับก็เป็นอันเสร็จสิ้น คนไข้จะรับประทานเป็นซองต่อ 1 ครั้ง จะดื่มน้ำตามหรือสามารถรับประทานผงโดยตรงเลยก็ยังได้ ซึ่งตำรับยา Kampo ที่ผลิตจากที่นี่มีถึง 129 ตำรับ ถือว่าครอบคลุมเกือบทุกชนิดของตำรับยาของ Kampo

ในส่วนของการวิจัยและพัฒนายา การควบคุมคุณภาพของตำรับยา การเก็บรักษาวัตถุดิบ รวมทั้งด้านการผลิต ก็เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก เพราะใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีระดับสูง ใช้คนน้อยแต่ได้ปริมาณผลิตภัณฑ์มาก เหนือสิ่งอื่นใดคือนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่คอยควบคุม คิดค้น และศึกษาวิจัยอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นที่เชื่อมั่นของทุกคน โดยในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นตำรับยา Kampo ของญี่ปุ่น ถูกใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในการขึ้นทะเบียนยาใหม่มากที่สุด เนื่องจากในเวลานี้ตำรับยา Kampo กำลังถูกศึกษาวิจัยในมนุษย์และผลักดันเพื่อขึ้นทะเบียนยาในต่างประเทศได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับยาที่มาจากสมุนไพร

3

หลังจากที่ได้เดินทางไปยังบริษัทที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นแล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมคือ มหาวิทยาลัยโทยาม่า และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ซึ่งสถานที่ที่นำการแพทย์แผนตะวันออกผสมผสานกับการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้ในการรักษาคนไข้ได้อย่างลงตัว

จังหวัดโทยาม่า เป็นจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเลทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะญี่ปุ่น โดดเด่นทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา โดยมีบริษัทเล็กๆ ที่ผลิตยาสมุนไพรกว่า 80 บริษัท เลยมีฉายาของเมืองคือ Kusuri town หรือเมืองแห่งการผลิตยา

มหาวิทยาลัยโทยาม่า มีชื่อเสียงด้านการนำตำรับ Kampo medicine มาศึกษาวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและศึกษาในมนุษย์ เช่น การศึกษากลไกการออกฤทธิ์จากผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ การคิดค้นหาสารใหม่ที่ได้จากพืชในการต้านเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งการวิจัยลักษณะนี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง ต้องใช้ทั้งความเชี่ยวชาญและเครื่องมือที่มีความทันสมัยมาก เช่นเดียวกับสถานการณ์ของสมุนไพรไทยที่ยังต้องการงานวิจัยที่มากขึ้น เพื่อนำมาสนับสนุนการใช้และยืนยันในประสิทธิภาพสำหรับการรักษาทางการแพทย์

นอกจากนี้บริเวณมหาวิทยาลัย มีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของตำรับยา Kampo เก็บรวบรวมพันธุ์พืชจากทั่วโลก และชิ้นส่วนของสัตว์ที่นำมาทำเป็นยา ในลักษณะ Herbarium แบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ จุดเด่นของ Herbarium แห่งนี้ คือรวบรวมจำนวนตัวอย่างที่หลากหลายชนิด ที่เป็นชิ้นส่วนของพืชกว่า 26,000 ชิ้น ตำรับยา Kampo กว่า 200 ตำรับ รวมทั้งเก็บรักษาตำรายาโบราณ

ในอาคารที่ไม่ไกลกันนักคือ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยโทยาม่า ส่วนที่ข้าพเจ้าได้เข้าไปศึกษาดูงานคือ แผนก Kampo diagnostics โดยแพทย์แผนปัจจุบันของแผนกนี้ จะใช้การตรวจทฤษฎีแบบแผนตะวันออก เช่น Ki หรือที่เราคุ้นๆ หูคือ พลัง “ชี่” พลังลมปราณในร่างกายนั่นเอง อีกทฤษฎีหนึ่งคือ Yin-Yang หรือ หยิน-หยาง หลักแห่งความสมดุลของร่างกาย โดยอาการป่วยที่แสดงออกมาคือการร่างกายคนไข้ขาดสมดุลหรือถูกรบกวน จึงต้องทำให้คนไข้กลับเข้าสู่จุดสมดุล เพื่อทำให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้น

หลังจากตรวจเสร็จ แพทย์จะสั่งยาตำรับยา Kampo ให้คนไข้ตามอาการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของห้องยาของโรงพยาบาล ภายในห้องจ่ายยานี้ จะมีทั้งยาแผนปัจจุบัน ตำรับ Kampo บรรจุเสร็จ และสมุนไพรแบบชิ้นแห่งสำหรับเตรียมผสมให้คนไข้เป็นรายๆ ไป โดยจะมีบริการต้มยาใส่ขวดบรรจุให้คนไข้ที่นอนโรงพยาบาล ระบบที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงเหล่านี้ ท่านผู้อ่านจะได้เห็นในโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรอีกไม่นานเกินรอ