วช. นำเสนอผลงานวิจัย “รสอร่อย” ใน “งานวันนักประดิษฐ์ 2561”

“วันนักประดิษฐ์” จัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของประเทศไทยและเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งต่อมาได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้จัดกิจกรรมงาน “วันนักประดิษฐ์” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ ปี 2538 ตามมติคณะรัฐมนตรี และจัดต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ สำหรับปีนี้ วช. ได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2561 ระหว่าง วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ภายใต้ แนวคิด “ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม”


ภายในงานได้นำเสนอผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 2,000 ผลงาน แสดงความก้าวหน้าของสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยของแต่ละหน่วยงานให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ และพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ แล้ว ยังเป็นเวทีในการพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไปในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่แปลกใหม่ทันสมัยไม่เหมือนใครแล้ว ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านอาหารที่มีศักยภาพทางการค้าและมีรสชาติอร่อยโดนใจอีกมากมาย

“น้ำพริกลูกกำจัด” อร่อยไม่เหมือนใคร

น้ำพริกลูกกำจัด เป็นผลงานนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง อาชีวศึกษาจังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย น.ส. รัตดามล คลองแห้ง น.ส. กัณฐมณี ทิพย์ประเสริฐ น.ส. สิริมา บุญสร้อย น.ส. สิริวิมล แสงทอง น.ส. วาสนา โชคดำเนิน น.ส. ชนาภา ชมภูนุช น.ส. ชนาพร ชมภูนุช นายอธิวัฒน์ บุญทัศ นายชัยชาญ บุญซ้อน น.ส. เสาวภา สิทธิน้อย และ อาจารย์วงทิพย์ เลี้ยงตระกูลงาม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา


อาจารย์วงทิพย์ ให้ข้อมูลว่า ลูกกำจัด เป็นสมุนไพรท้องถิ่นของตำบลสะแกราบ ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง และอำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เนื่องจากลูกกำจัดมีรสชาติเผ็ดร้อน และรู้สึกซ่าเมื่อรับประทาน จึงนิยมใช้ลูกกำจัดเป็นเครื่องปรุงรสอาหารในเมนูน้ำพริก เรียกว่า พริกเกลือลูกกำจัด หรือน้ำพริกลูกกำจัด ที่มีรสจัด เผ็ดซ่า และมีกลิ่นหอม

ทีมนักวิจัยเล็งเห็นความสำคัญของอาหารพื้นบ้าน จึงนำมาพัฒนาโดยเพิ่มประโยชน์ทางโภชนาการจากปลาช่อนทะเลแห้ง และกุ้งแห้งเนื้อ แต่ยังคงกลิ่นหอมรสเผ็ดซ่าของลูกกำจัดไว้คงเดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของสิ่งประดิษฐ์นี้ จึงมุ่งพัฒนาน้ำพริกลูกกำจัดที่มีในท้องถิ่น เพื่อศึกษาอัตราส่วนของวัตถุดิบที่เหมาะสมในการทำน้ำพริกลูกกำจัด และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อน้ำพริกลูกกำจัด

ส่วนผสมประกอบด้วย
1. ปลาช่อนทะเลแห้ง 26%
2. กุ้งแห้ง (ขนาดกลาง) 10%
3. หอมแดง, กระเทียมจีน 34%
4. เกลือ (500 g), น้ำตาลทราย 16%
5. พริกขี้หนูแห้ง, น้ำมะขามเปียก, ลูกกำจัด 14%

ขั้นตอนการผลิต

1. นำปลาแห้งและกุ้งแห้งมาผ่านการอบฆ่าเชื้อ ด้วยอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 10 นาที
2. นำลูกกำจัดตากแห้งมาผ่านการอบฆ่าเชื้อ ด้วยอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 10 นาที โขลกให้ละเอียด
3. ปอกหอมแดงและกระเทียมแล้วนำมาซอยบางๆ ตากให้แห้งพอสมควร และนำไปเจียวด้วยไฟอ่อนๆ พักไว้จนเย็นแล้วจึงนำไปปั่นให้ละเอียด
4. นำปลาแห้งที่เตรียมไว้มาทอดด้วยไฟอ่อนๆ พักไว้บนกระดาษซับน้ำมันในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วนำไปโขลกให้ละเอียด
5. นำกุ้งแห้งที่เตรียมไว้มาทอดด้วยไฟอ่อนๆ พักไว้บนกระดาษซับน้ำมันในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วนำไปโขลกหรือปั่นให้ละเอียด อาจใช้วิธีอบ ด้วยอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 20 นาที เพื่อลดปริมาณน้ำมัน
6. คั่วพริกแห้งด้วยไฟอ่อนๆ นำไปปั่นหยาบๆ
7. เคี่ยวน้ำมะขาม เกลือ น้ำตาล ให้ข้น นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้ทั่ว คั่วจนแห้ง เติมลูกกำจัด คลุกเคล้าจนเข้ากันดีแล้วยกลง นำใส่บรรจุภัณฑ์ ก่อนนำไปฆ่าเชื้อด้วยวิธีการนึ่ง

น้ำพริกลูกกำจัด มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถเพิ่มมูลค่าอาหารพื้นบ้าน และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป ทีมนักวิจัยได้สรุปผลงานในรูปแบบเอกสารรายงานวิจัยและนำไปเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป ผู้สนใจผลงานชิ้นนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง เลขที่ 343 หมู่ที่ 1 ตำบลวังเพลิง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี 15120 โทร. (036) 708-093

ปลาดุกร้ากรอบเมืองลิกอร์

วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช ได้นำเสนอผลงานวิจัยอาหารแปรรูปหลายรายการที่แสนอร่อยและตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่าง เช่น “ปลาดุกร้ากรอบเมืองลิกอร์” เมื่อเอ่ยถึงปลาดุกร้าเมืองนคร คงต้องนึกถึงปลาดุกร้าท่าชัก ซึ่งเป็นสินค้าขายดีขึ้นชื่อของท้องถิ่น ที่มีวางขายในรูปแบบปลาดุกร้าสด หากจะนำไปบริโภคต้องผ่านกระบวนการทอดก่อน ทำให้เสียเวลาและเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน

ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช จึงได้เพิ่มทางเลือกการบริโภค โดยนำปลาดุกร้ามาพัฒนาต่อยอดเป็น ปลาดุกร้าอบกรอบ ในซองบรรจุภัณฑ์พร้อมรับประทานเพื่อสะดวกแก่การพกพาและการบริโภค สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มโอกาสการขายทั้งตลาดในประเทศและป้อนสู่ตลาดส่งออกในอนาคต


“น้ำปูสำเร็จรูป” เนื่องจากขนมจีนเป็นอาหารที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่ง ขนมจีนน้ำยาปู เป็นหนึ่งในสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก แต่การทำน้ำยาปู คนทำต้องเสียเวลาในการนึ่งและแกะเนื้อปูเป็นอย่างมาก ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชจึงได้พัฒนาน้ำปูพร้อมรับประทาน เพียงแค่เติมพริกแกงสำหรับน้ำยาขนมจีนและกะทิ ก็สามารถรับประทานขนมจีนน้ำยาปูได้อย่างง่ายดาย เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ในสังคมเร่งรีบยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะน้ำปูสำเร็จรูป ช่วยให้การทำน้ำยาปูเป็นเรื่องง่าย เพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและพกพาสะดวก


“น้ำเคยพร้อมปรุง” เคยปลา คือกะปิที่ทำมาจากเครื่องในปลาและปลาตัวเล็กที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมแบน นำไปตากแห้ง เวลารับประทานต้องนำมาต้มในน้ำเดือดและกรองเป็นน้ำเคยมาปรุงเป็นอาหารเมนูต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นกรรมวิธีการทำที่ค่อนข้างจะยุ่งยากมาก ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชจึงได้นำเคยปลามาแปรรูปเป็นน้ำเคยบรรจุขวดพร้อมบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค เพราะน้ำเคยพร้อมปรุง รับประทานง่าย พกพาสะดวก


“ผงผัดไทยกึ่งสำเร็จรูป” คนไทยยุคปัจจุบันใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ นิยมรับประทานอาหารจานด่วน ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชจึงได้พัฒนาสูตรผงผัดไทยกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเมนูอาหารไทยยอดนิยมกันมากทุกเพศทุกวัย ผงผัดไทยกึ่งสำเร็จรูป ใช้สูตรมาตรฐาน บรรจุในซองที่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทันที ช่วยให้เมนูผัดไทยมีรสชาติอร่อยสม่ำเสมอ สะดวกแก่การพกพาและง่ายแก่การบริโภค

หากใครสนใจผลงานวิจัยเหล่านี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ 1076 ถนนราชดำเนิน ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 โทรศัพท์ : (075) 356-156 โทรสาร : (075) 341-070