พฤกษามุทิตา จิตอาลัย รำลึก… “กล้วยไม้ในดวงใจ” ศ.ระพี

หยาดรอยยิ้ม พริ้มเย็น อยู่เป็นนิจ
ผ่องน้ำจิต พราวล้ำ เพชรน้ำใส
รักศิษย์ล้วน ถ้วนหน้า เกินกว่าใคร
“งานกล้วยไม้” คือชีวิต…จิตวิญญา
ค่อนชีวี…บนทางท่านสร้างสม
เพื่อสังคม คุณภาพ อาบคุณค่า
วิทยาทาน ถ่ายทอด ตลอดมา
สม “บิดา…โลกสวยกล้วยไม้ไทย”

บทกลอนด้านในปกหน้า จากหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานน้อมแสดงกตัญญุตา และมุทิตาจิต แด่ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ศุภวาระสิริอายุครบ 6 รอบ (72 ปี) วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งมีภาพ ท่าน ศ.ระพี กำลังเอื้อมโน้มช่อกล้วยไม้สีแดงเข้มช่อใหญ่อย่างชื่นชม

หากพลิกกลับดูปกหลัง ก็มีภาพช่อดอกกล้วยไม้ พร้อมบทกลอนใต้ภาพที่ประกาศเกียรติคุณของท่านอาจารย์ไว้ น่าจะสอดคล้องสัมพันธ์กับบทกลอนที่กล่าวไว้ตอนต้น ว่า

กว่าครึ่งค่อน…72 ปี…คลื่นชีวิต
ท่านมุ่งคิด…มุ่งสรรค์…สมฝันใฝ่
ไม่เคยหวัง เรื่องชื่อ เสียงลือไกล
หวังเพียงให้…และให้ ด้วยใจจริง
ถึงวันนี้…ท่านยิ้ม…สุขอิ่มฝัน
คลื่นชีวัน…ใกล้พลบ…สงบนิ่ง
ยืด “ความว่าง” เป็นหลัก ใจพักพิง
ด้วยทุกสิ่ง…ลุล่วง…หมดห่วงใย

ทั้งปกหน้าและปกหลัง มีภาพช่อดอกกล้วยไม้ ชื่อ “นางอั้วสาคริก” (Pecteilis sagarikii) และภาพดอกกล้วยไม้ทั้งหมดในเล่ม เป็นฝีมือการถ่ายภาพของ ท่านอาจารย์ ศ.ระพี สาคริก ทุกภาพ

บทกลอนทั้งสองบท ปกหน้าและปกหลัง เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2537 ณ วันนี้ พ.ศ. 2561 ผ่านมาแล้ว 24 ปี ชวนให้รำลึกถึงวัย 72 ปี ของท่าน ที่ว่า “คลื่นชีวัน…ใกล้พลบ…สงบนิ่ง” แล้วบาทสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า “ด้วยทุกสิ่ง…ลุล่วง…หมดห่วงใย”

ณ พ.ศ.นี้ 2561 ท่านสงบนิ่ง และหมดห่วงใยแล้วจริงๆ ด้วยวัย 96 ปี เพราะท่านอาจารย์ ศ.ระพี สถิต ณ ที่สัมปรายภพทิพย์สถาน พร้อมดอกกล้วยไม้ในดวงใจท่านแล้ว ขอน้อมกราบคารวะรำลึกด้วยมุทิตาจิตอาลัยด้วยเคารพศรัทธายิ่ง

ในฉบับที่ผ่านมาได้กล่าวถึงเรื่องราวที่พอจะรู้จัก “ศาสตราจารย์ระพี สาคริก” พร้อมทั้งเรื่องราวเชิดชูจากหลายๆ ท่าน และผลงานของท่านอาจารย์เป็นที่ประจักษ์ แม้วัยถึง 93 ปี ก็ยังมีข้อคิดปรัชญาฝากไว้เป็นคุณค่าที่พึงนำมารำลึกสติปฏิบัติตนได้อย่างมีความสุข สมกับที่ท่านเป็น “ครู” ผู้มีแต่ “ให้”

จากหนังสือ “กล้วยไม้ในดวงใจ” ซึ่งลูกศิษย์และผู้ศรัทธาได้จัดพิมพ์ระลึกในงานน้อมกตัญญุตา ศุภวาระสิริ 6 รอบ พ.ศ. 2537 นั้น มีข้อเขียนซึ่งท่านอาจารย์ได้บันทึกความรู้สึกจากภาพกล้วยไม้ต้นหนึ่งในธรรมชาติถึงสัจธรรมของชีวิตคนในสังคมไทย

 

ซึ่งอาจารย์ให้ความรู้สึกว่า ตามธรรมชาติมีทั้งป่าและเมือง โดยป่ามีบรรยากาศตรงข้ามกับสภาพแวดล้อมในเมืองอันเต็มไปด้วยอิทธิพลจากรูปวัตถุ ชีวิตต้องสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากปล่อยตัวปล่อยใจให้อยู่กับสภาพดังกล่าวด้านเดียว ก็อาจทำให้จิตใจและความคิดห่างจากการหยั่งรู้ได้ถึงความจริงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงฤดูร้อนมีกล้วยไม้ป่านานาชนิดออกดอกบานสะพรั่งทั่วไป ทั้งคาคบไม้ หรือบนพื้นดิน อันถือว่าเป็นหนึ่งในภาพธรรมชาติที่น่ารักที่สุดในบรรยากาศอย่างนี้ สัญชาตญาณแห่งความประทับใจเกิดขึ้นอย่างมาก นั่นคือ กล้วยไม้ต้นหนึ่งออกดอกชูช่อสวยงามอยู่บนกิ่งหนึ่งของต้นไม้ใหญ่ มองเห็นชัดเจนเพราะในฤดูร้อน

ต้นไม้ในป่ามักจะทิ้งใบโกร๋น ตามวัฏจักรของธรรมชาติ ปล่อยให้กล้วยไม้ดอกสีสดมีโอกาสกระทบกับแสงแดด ขับความสวยสดดูเด่นสะดุดตายิ่งขึ้น ก็ย่อมยั่วยุให้สนใจถ่ายภาพแนวนี้ เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที และก็ได้ถ่ายภาพสดๆ เอาไว้ได้

แต่ก็ทำให้สะดุดคิดหวนกลับมาพิจารณาถึงประเด็น ซึ่งน่าจะนำมาศึกษาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากตัวเองเป็นคนใช้ชีวิตสัมผัสกับป่าเป็นครั้งคราวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง สนใจที่นำสิ่งที่สัมผัสในวิถีชีวิตมาคิดค้นหาเหตุและผลให้ลึกซึ้งที่สุด

ท่านอาจารย์เริ่มรู้สึกว่า กล้วยไม้ต้นที่กำลังมองเห็นออกดอกสวยงามอยู่ในขณะนั้น มันยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวจริงๆ มาคิดได้ภาพใต้จิตสำนึกของแต่ละคนอย่างเป็นธรรมชาติว่า “ทุกชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลาย จำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นสัจธรรม” และในสรรพสิ่งต่างๆ รวมกันนั้น ย่อมมีมนุษย์รวมอยู่ด้วย

แต่ละชีวิต แต่ละสิ่ง จะสามารถดำรงอยู่และสืบทอดเชื้อสายไปได้ จำเป็นต้องมีชุมชนบนฐานตนเองเป็นสิ่งรองรับ แม้เพียงกล้วยไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม วัฏจักรในรากฐานที่ปรากฏออกมาสู่สังคมมนุษย์เป็นอย่างไร ย่อมส่งผลถึงกระบวนการธรรมชาติอันเป็นผลมาจากคน

กล้วยไม้ซึ่งเคยอยู่กันอย่างมีชุมชนสะท้อนภาพวัฏจักรชีวิตที่มีทั้งต้นไม้ใหญ่ เล็ก เมื่อเปลี่ยนแปลงเหลือเพียงต้นไม้ใหญ่โดดเดี่ยว กระบวนการชีวิตกล้วยไม้เพียงชนิดเดียว ย่อมทำให้อ่านได้ถึงกระแสการสืบทอดเชื้อสาย เผ่าพันธุ์ อันนับแต่นี้ไปคงมีแต่รอวันสิ้นสูญ

“จากดินถวิลศึกษาดอกฟ้า” มีบทเพลงชื่อเพลงแจกันรัก ขับร้องไว้ตอนหนึ่งว่า “…เธอเป็นเอื้องฟ้า เกิดมาบนคบยูงยาง แม้จะลงกระถาง ก็ยังต้องแขวนอยู่เหนือดิน…ฯ”

สำหรับท่าน ศ.ระพี ท่านกล่าวว่า ที่จริงผมเรียนทางปฐพีวิทยาศึกษาเรื่องดิน การที่มาเอาดีเรื่องกล้วยไม้นี่ ก็เห็นจะเข้าหลักอิทธิบาท 4 ทำด้วยใจรัก ทำจริง เอาใจใส่ และพิจารณา ผมถือว่าผมเรียนชีวิตจากโรงเรียนกล้วยไม้ และยังเชื่อว่า ใครอยู่โรงเรียนไหนตั้งใจจริง ศึกษาพิจารณาจริงๆ เราจะไปถึงจุดเดียวกันได้หมด

สำหรับเป้าหมายในใจของท่านอาจารย์นั้นคือ ผลักดันให้มีองค์กรเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นอย่างจริงจัง และต้องการขยายต่อไปนอกสังคมกรุงให้โลกทัศน์ที่กว้างขึ้นสำหรับวงการกล้วยไม้

ดอกกล้วยไม้ที่ท่านอาจารย์เขียนเรื่องราวนี้ ไม่ใช่มีลักษณะเป็นรูปวัตถุ เช่น ดอกกล้วยไม้ซึ่งเราท่านต่างพบเห็นที่เป็นภาพหลากหลายอยู่มากหน้าหลายพันธุ์รูปแบบ ทั้งในบ้าน ในเรือนต้นไม้ ในสวน หรือในท้องตลาด แม้กระทั่งในวัดวาอาราม เพราะหากมีสภาพดังกล่าวคงไม่อาจเข้าไปปรากฏอยู่ในดวงใจไม่ว่าตัวท่านเอง หรือใครอื่นได้แน่นอน ความรู้สึกยอมรับสภาพอันเป็นธรรมชาติของดอกกล้วยไม้ที่หมายถึงและเข้าใจว่ามันคือดอกจริงภายในรากฐานจิตใจตัวเอง

แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่นำมาติดใจว่า ใครอื่นจะเห็นว่าเป็นดอกที่มีความสวยงามน่านิยมชมชื่น หรือน่ารังเกียจ เนื่องจากดอกซึ่งอยู่ในจิตใจก็หาใช่เป็นดอกจริงสำหรับคนอื่นไม่

“กล้วยไม้ดอกจริงที่อยู่ในดวงใจฉัน” หากได้รับการถ่ายทอดออกปรากฏเป็นตัวอักษรหรือคำพูด ทำให้รู้ถึงความจริงว่าสิ่งเหล่านี้ หากนำมาเปรียบด้วยดอกกล้วยไม้ ก็คงอยู่ในสภาพที่เป็นเครื่องมือสื่อความหมาย นำไปใช้อย่างผู้รู้ได้ลึกซึ้ง ย่อมมีโอกาสนำเข้าไปรู้ถึงดอกจริงที่ปรากฏอยู่ในส่วนลึกของตนเองได้ไม่ยาก

ท่านอาจารย์ย้อนถึงความทรงจำในอดีตช่วงหนึ่งที่เป็นจังหวะที่ส่งพลังสะท้อนกลับเข้าถึงหัวใจอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ท่านอายุ 20 ขวบปี ที่สัมผัสสถานภาพทางสังคมในรูปแบบ “ฟ้าและดิน” ถูกรังเกียจกีดกันให้ออกจากเรือนกล้วยไม้และรั้วบ้านอันหรูหราอย่างปราศจากคุณธรรม เพียงแต่เป็นสิทธิที่เขาพึงมี โดยถูกย้ำคำถามไล่หลังว่า รู้ไหมกล้วยไม้แต่ละต้นราคาเท่าไร

จากความรู้สึกกดดัน เจ็บแค้นคำดูถูกเหยียดหยาม แต่เนื่องจากมีพลังความสนใจเรียนรู้ไม่เพียงเรื่องกล้วยไม้ แต่รวมทั้งเรื่อง “คน” อันมีนิสัยเป็นธรรมชาติ จึงเป็นพลังที่เหนือกว่า กลับมาปรับเปลี่ยนเป็นความอยากรู้ถึงความจริงแห่งชีวิต ทำให้ฮึดสู้ โดยทุ่มเททั้งชีวิต เน้นการปฏิบัติอย่างจริงจังแทนการโต้แย้ง เพื่อต้องการใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง

ภายใต้คำถามเกิดในใจลึกๆ ว่า “กล้วยไม้ก็คือกล้วยไม้-คนก็คือคน อะไรกันแน่ที่กำหนดให้กล้วยไม้ต้องกลายเป็นของเศรษฐีและผู้ดีมีเงิน แถมยังนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือดูถูกดูแคลนคนอื่น”

แต่ก็มีอีกหลายมุมมองจากคนทั่วไป ก็มีที่มองว่า กล้วยไม้เป็นของฟุ่มเฟือยและทำลายเศรษฐกิจ สำหรับส่วนตัวท่านอาจารย์แล้ว มีคำตอบอยู่ในใจว่า คนแท้ๆ …ที่ทำให้กล้วยไม้เป็นประโยชน์หรือโทษ และอีกอย่างหนึ่งใครๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเลี้ยงกล้วยไม้ได้อย่างปราศจากความยากดีมีจน ทั้งมือเก่าและมือใหม่

 

ด้วยแรงผลักดันจากพลังดอกกล้วยไม้ ดอกจริงที่มีธรรมชาติอยู่ในดวงใจตนเอง จึงได้หวนกลับมามองเห็นทางออกอีกทิศทาง คือมุ่งศึกษาเรียนรู้บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเอง ใช้พลังสู้โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำ ทุ่มเทแรงกายแรงใจค้นหาให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าคือ “ความรู้”

ท่านอาจารย์เริ่มสร้างเรือนกล้วยไม้ด้วยตัวท่านเองอย่างง่ายๆ ด้วยเศษไม้ที่มีคนโยนทิ้ง ใช้ทางมะพร้าวที่ร่วงหล่น เสริมด้วยไม้รวกผ่าซีก มุงเป็นหลังคากรองความร้อน นำกล้วยไม้มาปลูกเลี้ยงไว้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้อยู่ในบริเวณริมลำรางส่งน้ำเล็กๆ หลังบ้าน

กว่าจะเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้งอกขึ้นมาเป็นต้นแรก ต้องใช้เวลาร่วม 3 ปีกว่า โดยใช้สถานที่บ้านและเครื่องมือเท่าที่มีหาได้ เพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะซื้อจากต่างประเทศราคาแพง

สำหรับการค้นพบวิธีเพาะเมล็ดกล้วยไม้งอกขึ้นมาเป็นต้นแล้วออกจากขวดลงปลูก ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ก็ได้นำความรู้นี้ออกเผยแพร่ให้ผู้สนใจทุกคนโดยไม่เลือกพวกเลือกกลุ่ม รวมทั้งเปิดบริการให้การฝึกอบรมโดยให้โอกาสแก่คนทุกสถานภาพชีวิต และให้แต่ละคนนำไปปฏิบัติทำเองได้ ถึงระดับเป็นอาชีพ

จากข้อเขียนซึ่งท่านอาจารย์ได้เขียนไว้ในหนังสือ “กล้วยไม้ในดวงใจ” ย้อนคำนึงถึงชีวิตและงานที่ผ่านมาถึงวัย 72 ปี หวนกลับทบทวนอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นประเด็นเงื่อนไข ซึ่งเคยถูกปรามาสอย่างดูแคลน กลับเป็นความคิดว่าคงต้องขอขอบคุณเศรษฐีผู้ซึ่งแสดงความรังเกียจและไล่ออกจากเรือนกล้วยไม้ในรั้วบ้านอย่างเหยียดหยาม กลายเป็นได้ให้สิ่งอันล้ำค่าอย่างยิ่ง

กับอีกด้านหนึ่งนับว่าโชคดีที่ตัวท่านเองมีธรรมชาติ ซึ่งนำมันมาใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ได้ กลับมารู้สึกได้ถึงคุณค่าของเหตุการณ์ในอดีตเพราะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการกระตุ้นให้พลังธรรมชาติ ซึ่งมีขุมอยู่ในตัวเอง ออกมามีบทบาทผลักดันทั้งแรงกาย แรงความคิด นำมาใช้แสวงหาความจริงพิสูจน์แนวคิด พิสูจน์การกระทำอย่างจริงจัง ขยายพันธุ์แปรสภาพเป็นคุณค่านำสู่เพื่อนมนุษย์ สู่มือชาวไร่ชาวสวนอย่างอิสระชนชั้นทุกระดับ

ดอกกล้วยไม้ดอกแล้วดอกเล่าจะสดชื่น เหี่ยวเฉา ร่วงหล่นลงสู่พื้น ถูกเหยียบย่ำฉีกขาดไร้ความหมายหลายรูปแบบ เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในรูปวัตถุ ซึ่งมีมนุษย์รวมอยู่ด้วย โดยที่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการแตกดับและเกิดใหม่ตามเกณฑ์ อันถือเป็นสัจธรรมเท่านั้น

แต่ชีวิตซึ่งหยั่งรู้ได้บนพื้นดินที่แต่ละคนสัมผัสบทบาทซึ่งกันและกันอย่างอิสระน่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ดอกกล้วยไม้ที่แท้จริงนั้น เป็นสิ่งปรากฏอยู่ในรากฐานจิตใจโดยแท้

 

เพลง อุทยานกล้วยไม้
ทำนอง ไทยเดิม
คำร้อง ประสิทธิ์ สิริโภคากร
ขับร้อง ธารทิพย์ ถาวรศิริ

เพลินพิศกล้วยไม้ งามพิไลชูช่อ สวรรค์วาดกิ่งกอ ลออทั้งกลีบเกสร ช้างแดงงามซึ้ง สวยเป็นหนึ่งอรชร ช้างเผือกขาวซ้อน ช้างกระหอมยวนยี หอมเอื้องคำ เอื้องสายสามสี ชมเอื้องผึ้งงาม วาบหวามเห็นเอื้องนางชี เอื้องสามปอยเหลือง เอื้องมัจฉานุขจี เอื้องครั่งโสภี เอื้องแววมยุรา

ดอกกล้วยไม้งามซึ้งใจทั้งไม้ไทยไม้เทศ กล้วยไม้ไทยต้องไอยเรศ กล้วยไม้เทศต้องแคทลียา ฟ้ามุ่ยสวยสม กลีบวงกลมผสมแวนด้า เข็มม่วงแสดเย็นตา สวยชื่นชีวารองเท้านารี ฉันรักกล้วยไม้ งามล้ำพิไลหลากสี งามหาใดเปรียบปาน เปรียบดังหวานแรกรุ่นดรุณี หอมกลิ่นกล้วยไม้ คล้ายคุณธรรมนารี รู้รักศักดิ์ศรีกุลสตรีไทยเอย

ท่าน ว.วชิรเมธี มีข้อเขียนไว้ในหนังสือ “84 ระพี สาคริก” ได้กล่าวถึงคำว่า “กัลยาณมิตร” นั้น หมายถึง มิตรแท้ มิตรที่ดีงาม มิตรนำประโยชน์มา ให้สรุปว่าคือ มิตรเมื่อคบเป็นเพื่อนแล้ว ทำให้ชีวิตดีงามขึ้นกว่าเดิม

และเขียนว่า โชคดีที่รู้จักกับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ซึ่งได้รู้จักภูมิปัญญาผ่านงานเขียนนานแล้ว เมื่อได้รู้จักตัวจริงก็ยิ่งรู้สึกว่าได้รับโอกาสจากมหากัลยาณมิตร เป็นราษฎรอาวุโสผู้เป็นรัตตัญญูบุคคลของสังคมไทย เป็น “กัลยาณมิตร” ทุกแง่ทุกมุมอย่างแท้จริง โดยสรรเสริญไว้ด้วยบทกลอน ว่า

อาจารย์เป็นปราชญ์ซึ้ง ศาสตร์ศิลป์
ระพี แห่งปัญญายิน สยบด้าว
สาคริก พลิกแผ่นดิน เป็นดอกไม้พ่อ
ฝากชื่อลือชาอะคร้าว อะเคื้อคู่โกสินทร์