อบรมหมอจิ๋วรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำชุมชนสร้างสุขภาพดี เรียนรู้เรื่องความดันโลหิตสูง

แพทย์หญิงภัทร์  สิทธิการิยกุล  หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว  ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  นำทีมนักสุขศึกษาลงพื้นที่ให้บริการชุมชนให้ความรู้ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยจิตอาสาหมอจิ๋ว ณ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว  อบรมเยาวชนให้มีความรู้เบื้องต้นด้านการดูแลสุขภาพและปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปดูแลสูงสูงอายุที่บ้าน

ซึ่งการอบรมในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรมได้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ  โรคพื้นฐานต่างๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่มักเป็นในวัยสูงอายุ  และยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นหมอช่วยดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวและเพื่อนบ้าน

 

เด็กๆ จะสนุกกับการทำหน้าที่หมอจิ๋ว และผลพลอยได้คือคนในครอบครัวรวมถึงคนในหมู่บ้านจะมีปฏิสัมพันธ์มีการพบปะพูดคุยกันมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุคลายเหงาและมีสุขภาพจิตดี มีแรงกระตุ้นช่วยส่งเสริมให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกัน

หนึ่งในโรคที่ได้มีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่หมอจิ๋วก็คือ โรคความดันโลหิตสูง (hypertension/high blood pressure) ซึ่งเป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ  โรคนี้เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลกมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกถึง 9.4 ล้านคน

และยังพบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือดในสมอง  และภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถึง 50%  นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ประมาณ 4 ใน 10 คน เป็นโรคความดันโลหิตสูง

อาการของโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หายใจสั้น เลือดกำเดาไหล ซึ่งอาการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและบอกไม่ได้ชัดเจน จึงทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่าเป็นฆาตกรเงียบที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างไม่ทันระวังตัว

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (Primary Hypertension) ซึ่งไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุการณ์เกิดได้  และอีกประเภทหนึ่งคือชนิดที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสภาวะ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคไต ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด การใช้ยาบางชนิด  การใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์

แพทย์จะวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงโดยดูจากการวัดค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยเป็นหลัก และมีการตรวจวัดหลายครั้ง เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ ซึ่งค่าความดันโลหิตที่วัดได้จะแบ่งออกเป็น 2 ค่า โดยตัวแรก (หรือตัวบน) เรียกว่า ค่าความดันซิสโตลิก (systolic) ซึ่งเป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว  และตัวที่สอง (หรือตัวล่าง)  เรียกว่า  ค่าความดัน

 

ไดแอสโทลิก (diastolic) เป็นค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว หากวัดค่าความดันโลหิตได้สูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิลิตรปรอทขึ้นไป แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะก่อนความดันโลหิตสูง (prehypertension) ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง เมื่อปล่อยให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้เกิดปัญญาสุขภาพตามมา โดยมักพบโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแดง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองในด้านความจำ มีปัญหาด้านสายตา หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้น โดยลดอาหารประเภทโซเดียมสูง เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง  ธัญพืช  ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการใช้ยาร่วมด้วยเพื่อช่วยปรับค่าความดันโลหิตให้ลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้การป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด หมั่นใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ

และพื้นฐานความรู้สำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง คือ หมอจิ๋วที่เข้าอบรมทุกคนจะได้ฝึกปฏิบัติเรื่องระบบร่างกายของเรา การวัดชีพจร การวัดความดันโลหิต  การวัดไข้  การวัด BMI  การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  การเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วน   การออกกำลังกายแบบง่ายๆ ที่สามารถนำไปสอนผู้สูงอายุได้   การป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร   และการเฝ้าระวังโรคติดต่อเชิงรุก

และหลังจากการฝึกอบรมในครั้งนี้แล้วจะมีพี่เลี้ยงหมอจิ๋วคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม) คอยดูแลหมอจิ๋วให้กลับไปฝึกปฏิบัติ และจะมีการประเมินผลโดยการลงเยี่ยมบ้าน เยี่ยมชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลการทำงานของหมอจิ๋วด้วย