ผักเบี้ยใหญ่ บำรุงผิวงาม ยามแดดแรง ใช้กว้างไกล สรรพคุณไม่รู้จบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Portulaca oleracea L.

อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE

ชื่ออื่นๆ ผักอีหลู ผักตาโค้ง ผักเบี้ยดอกเหลือง ผักเบี้ยใหญ่ แดงสวรรค์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ลำต้นมีหนาม ผลัดใบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 5 ใบย่อย กลีบดอกสีแดงหรือเหลือง

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด

 

ผักเบี้ยใหญ่ หญ้าที่มีหลายสิทธิบัตรสำหรับผิว

ตาส่วน หมอยาปราจีนบุรี บอกว่า ผักตาโค้งใช้ดับพิษร้อน ทั้งในและนอกร่างกายเวลาถูกแดดเผา ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก แมลงสัตว์กัดต่อย เรื้อนกวาง ให้เอาผักตาโค้งตำพอกหรือคั้นน้ำทาบ่อยๆ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร จึงตั้งใจที่จะนำมาทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เพื่อลดอาการแพ้ แก้อักเสบในสภาวะร้อนขึ้นมา ให้คนไทยรู้ค่าของผักยาต้นนี้ ซึ่งก็น่าประหลาดใจที่พบว่า ปัจจุบันมีทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของผักเบี้ยใหญ่ออกมาขายแล้วในตลาดโลก

รวมทั้งมีการจดสิทธิบิตรในการใช้สารสกัดผักเบี้ยใหญ่เป็นเครื่องสำอางหลายสิทธิบัตร เช่น การใช้เป็นส่วนผสมของครีมลดเลือนริ้วรอย โดยพบว่า สารสกัดผักเบี้ยใหญ่ช่วยลดจำนวนริ้วรอย ทำให้ริ้วรอยตื้นขึ้น โดยอาศัยฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกันกับการฉีด Botox แต่ในระยะยาว มีความปลอดภัยกว่า ปัจจุบันจึงมีเครื่องสำอางสำหรับผิวบอบบางและแพ้ง่ายหลายยี่ห้อที่มีส่วนผสมของสารสกัดผักเบี้ยใหญ่อยู่ด้วย

 

ผักเบี้ยใหญ่ บำรุงผิวงาม ยามแดดแรง

ผักเบี้ยใหญ่ ยารักษาพิษร้อนของคนสมัยก่อนก็มีฤทธิ์ป้องกันแสงแดดได้ด้วย จากการที่มีการศึกษาพบว่า ผักเบี้ยใหญ่มีฤทธิ์ต้านการแพ้ ต้านอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ที่สำคัญสารสกัดผักเบี้ยใหญ่สามารถป้องกันการทำลายของรังสี UVB ต่อผิวหนัง จนมีการจดสิทธิบัตรเป็นสารกันแดดจากพืช

ในบรรดาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพืชที่ใช้เป็นยารักษาโรคที่องค์การอนามัยโลกจัดทำขึ้น มีการระบุถึงสรรพคุณของผักเบี้ยใหญ่ไว้มากที่สุด ทั้งในด้านเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรครูมาติก และนรีเวชวิทยา ในด้านเป็นยาระงับประสาท ระงับปวด บำรุงหัวใจ และแก้ท้องร่วง ในด้านการใช้เป็นยาภายนอก ใช้เป็นยาแก้แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบออกผื่น ผื่นแดง และตุ่มน้ำตามผิวหนัง เป็นต้น

 

ผักเบี้ยใหญ่ ใช้กว้างไกล สรรพคุณไม่รู้จบ

การที่ผักเบี้ยใหญ่เป็นพืชที่แพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้มีการนำไปใช้เป็นยาอย่างหลากหลาย เช่น ในอิหร่านใช้ในการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal uterine bleedind) รักษาหอบหืดและโรคทางเดินหายใจ ในออสเตรเลีย มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเหลวสกัดจากผักเบี้ยใหญ่ ใช้ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด แก้ท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินอาหาร ฆ่าพยาธิ รักษาโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ อาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวารหนัก หนองใน เลือดออกตามไรฟัน หรือติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ในมาเลเซียและไนจีเรีย มีการใช้ผักเบี้ยใหญ่ช่วยให้นอนหลับและบำรุงหัวใจ เช่นเดียวกับชาวพื้นเมืองแอฟริกาตะวันตก ส่วนแถบเกาะสุมาตราใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอก ประเทศจาไมกาใช้รักษาโรคหลอดเลือดและหัวใจ

จากการที่ใบผักเบี้ยใหญ่มีโอเมก้า 3 สูงมาก จึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดตีบแข็ง หัวใจวาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และมีผลทำให้ตามีน้ำหล่อเลี้ยงมากขึ้น ใบผักเบี้ยใหญ่ยังมีข้อดีกว่าน้ำมันปลา เนื่องจากมีเส้นใยอาหาร ให้แคลอรีและไขมันต่ำ นอกจากนี้ หมอยาพื้นบ้านไทยยังนิยมใช้รักษาอาการร้อนคอ ร้อนท้อง ริดสีดวง ช่วยระบาย

ปัจจุบันมีงานวิจัยใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์และคุณสมบัติอันมากมายของผักเบี้ยใหญ่ทยอยกันออกมาเรื่อยๆ เช่น ฤทธิ์บำรุงสมองและหัวใจ ฤทธิ์ต้านมะเร็งได้หลายชนิด ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และรักษาโรคผิวหนัง ใช้เป็นส่วนผสมบำรุงผิวในเครื่องสำอาง สารสกัดน้ำของผักเบี้ยใหญ่ช่วยลดการหลั่งกรด ป้องกันแผลเยื่อบุกระเพาะอาหาร เมื่อให้ในขนาดสูงมีผลเทียบเท่ายา sucralfate ซึ่งเป็นยาสมัยใหม่ที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะ

 

ตำรับยา

แก้ไข้ในเด็ก ตำผักเบี้ยใหญ่พอกหน้าผาก

ผิวไหม้แดด ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ตำผักเบี้ยใหญ่พอก

แมลงสัตว์กัดต่อย ตำผักเบี้ยใหญ่พอก

ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด กินผงเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ 5 กรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน

 

น่ารู้

ผักเบี้ยใช้เป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงหมู ไก่ และนก

มีการผลิตสารสกัดผักเบี้ยใหญ่ออกมาจำหน่าย เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางสำหรับผิวแพ้ง่ายและบอบบาง ตามมาตรฐานของ CTFA ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม โดยมีการรับรองสรรพคุณในการช่วยแก้แพ้ เพิ่มความชุ่มชื้นและต้านอนุมูลอิสระ

ยำผักเบี้ย

ส่วนประกอบ ผักเบี้ยหั่นเป็นชิ้น กุ้งแห้ง หมูรวน แครอตซอยฝอย ขิงซอย พริกขี้หนูแห้งทอด ถั่วลิสงคั่ว ใบโหระพา ใบสะระแหน่ น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลทราย

วิธีทำ ทำน้ำยำโดยใส่น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน ชิมรสให้กลมกล่อม ใส่หมูรวน ขิงซอย แครอต ผักตาโก้ง คนให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ ใส่ถั่วลิสง ใบโหระพา ใบสะระแหร่ โรยหน้าด้วยพริกขี้หนูทอด พร้อมกิน

ข้อควรระวัง

ไม่แนะนำให้ใช้ในคนท้อง เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว

ควรระวังในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไต เนื่องจากมีกรดออกซาลิก หากกินเป็นผักสดในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรดื่มน้ำให้มากๆ

หากนำมาต้มจะช่วยลดปริมาณกรดออกซาลิกได้

ผักเบี้ยใหญ่มีปริมาณโพแทสเซียมสูง ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

โทรศัพท์สอบถามข้อมูล (037) 211-289 หรือ www.abhaiherb.com มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เลขที่ 32/7 หมู่ที่ 12 ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี