วช. โชว์นวัตกรรมการเกษตร ช่วยขับเคลื่อนชุมชนอยู่ดีมีสุข

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และมอบนโยบายในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากร วช. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร วช. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1

 

ชู “งานวิจัย” พัฒนาขับเคลื่อนประเทศ

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำ “งานวิจัย” เป็นกลไกสำคัญเพื่อสร้างโอกาสและผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง พัฒนาสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ วช. เป็นหน่วยงานหลักดูแลด้านนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ในฐานะ “เสนาธิการ” เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านงานวิจัยเพื่อให้เกิดเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อน ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

วช. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “วิจัยกินได้” ของประเทศ เพื่อใช้งานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้เกิดพัฒนาอาชีพใหม่และสร้างรายได้ให้กับประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มอบหมายให้ วช. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดรับ “โจทย์ปัญหาใกล้ตัวของประชาชน” เพื่อกำหนดเป็นโจทย์ โครงการ “ท้าทายไทย” คัดเลือกโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด และพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยวิชาการ ให้เป็น Excellent Center ของประเทศต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2561 วช. วางแนวทางในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ บูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งนำองค์ความรู้จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ โดยเร่งขยายผลธนาคารปูม้า การกำจัดผักตบชวา การแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เป็นต้น

นอกจากนี้ วช. ยังได้บริหารจัดการงบประมาณเพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของการทำงาน ในโครงการ “ปั้นดาว” ภายใต้แนวคิด “วิจัยกินได้” วช. และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อส่งเสริมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน การสนับสนุนการขยายสเกลการผลิตสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกแผนงานจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแบบมีเป้าหมาย การทำงานที่ชัดเจนตามประเด็นยุทธศาสตร์และตามรายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าผลสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ขยายผลธนาคารปูม้า

สู่ชุมชนรอบอ่าวไทย-ฝั่งอันดามัน

วันที่ 5 มีนาคม 2561 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การต้อนรับและรายงานความเป็นมาของโครงการธนาคารปูม้า แก่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าเยี่ยมชมธนาคารปูม้า ณ กลุ่มแพปลาชุมชน แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ทำการวิจัยเรื่องธนาคารปูม้า ณ กลุ่มแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นต้นแบบก่อนจึงค่อยถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนรอบอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

ปูม้า เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวประมงจำนวนมาก แต่ระยะหลัง ชาวประมงจับปูม้าได้น้อยลง เนื่องจากมีการบริโภคปูม้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปูม้าตามธรรมชาติเติบโตไม่ทัน ชาวประมงต้องขับเรือออกไปไกลจากชายฝั่ง เพื่อจับปูกลางทะเล ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง กลุ่มชาวประมง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ฯลฯ จึงเกิดแนวคิดที่จะริเริ่มเพาะฟักลูกปูม้ากลับคืนสู่ธรรมชาติ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ทั้งนี้ แนวทางการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้า สู่ท้องทะเลไทยนั้น วช. วางแผนใช้กลไกการขับเคลื่อนโดยมีเจ้าภาพหุ้นส่วนการพัฒนา ประสานจัดการโดยใช้กระบวนการกลุ่ม และองค์ความรู้นวัตกรรม เพื่อขยายพันธุ์ปูม้า ให้มีอัตราการรอดเพิ่มขึ้น เผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุบาล การเพาะขยายพันธุ์ การขนย้าย ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยพันธุ์ปูม้าสู่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์ปูม้า

พัฒนาลำน้ำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

คนไทยมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน “ลำน้ำ” ทั่วประเทศถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ในด้านการประมง การท่องเที่ยวทางน้ำ การเกษตร การผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการชลประทาน นอกจากนี้ “ลำน้ำ” ยังเป็นที่อยู่อาศัยริมน้ำ ถูกใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการสัญจรทางน้ำ แต่ลำน้ำในทุกวันนี้ ถูกคุกคามจากขยะมูลฝอยจากบ้านเรือนประชาชนที่พักอาศัยอยู่ริมน้ำ รวมทั้งการแพร่ระบาดของผักตบชวา

ปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบทำให้ลำน้ำลำคลองต่างๆ เกิดภาวะตื้นเขิน จากการทับถมของขยะมูลฝอย ผักตบชวาและวัชพืช รวมทั้งปัญหาที่อยู่อาศัยรุกล้ำลำน้ำ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบด้านคมนาคม เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร เพราะระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรไม่ได้  ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ผลกระทบด้านสาธารณสุข สร้างปัญหาต่อสุขภาพกายและจิต  เป็นแหล่งเพาะและแพร่เชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ศัตรูพืช และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำอาจสูญพันธุ์ และลดการเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถทำประมงได้ รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการระบายของประตูน้ำ

รัฐบาลมองว่า ปัญหาอุปสรรคดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย เพราะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและประมงน้อยลง การพัฒนาทำได้ยาก ทำให้ประชาชนมีรายได้น้อย คุณภาพชีวิตลดลง และสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน จึงมอบหมายให้ วช. ศึกษาแนวทางพัฒนาลำน้ำ บนวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ซึ่ง “เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ วช. เตรียมนำมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้รับการอุดหนุนงบวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา ที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนในการเก็บผักตบชวาได้อย่างดีเยี่ยม

เรือเก็บผักตบชวาดังกล่าว ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ประโยชน์ ประหยัดค่าใช้จ่าย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้มากขึ้น ผักตบชวาที่เก็บได้สามารถนำไปทำประโยชน์ต่อเกษตรกรในการทำอาหารสัตว์ การเพาะเห็ด บรรจุภัณฑ์จากผักตบชวา และยังสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สชีวภาพจากผักตบชวา

ตัวเรือดังกล่าว ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ สามารถจัดหาได้ง่ายในประเทศไทย และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่ไม่มีวันหมด อีกทั้งอนุรักษ์ธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถเก็บผักตบชวาจากแหล่งน้ำต่างๆ ตามธรรมชาติ ที่มีวัชพืชและผักตบชวา ได้อย่างกว้างขวาง ผักตบชวาจะถูกใบมีดตัดขาดเป็นท่อนๆ ก่อนที่สายพานลำเลียง 2 ชุด จะทำหน้าที่ลำเลียงผักตบชวาที่ถูกตัดขึ้นมาไว้บนลำเรือ

ตัวเรือใช้ทุ่นเหล็กลอยน้ำทรงกระบอก ความยาว 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 2 ท่อน เป็นโครงสร้างเรือ ด้านหน้าติดตั้งชุดตัดผักตบชวาในตำแหน่งระหว่างกลางของทุ่นเหล็กทั้งสอง สามารถปรับระยะสูงต่ำและมุมก้มเงยได้ ด้านล่างติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 3,000 วัตต์ เพื่อขับแกนหมุนของใบมีด ปรับความเร็วการหมุนใบมีดได้ด้วยชุดควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า ด้านบนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 16 แผง ทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ น้ำหนักลำเรือ ประมาณ 5,000 กิโลกรัม

ปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้มีความเร็วของเรือสูงสุดมากกว่า 1 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง สามารถเก็บผักตบชวาได้ไม่น้อยกว่า 1 ตัน ต่อชั่วโมง และสามารถปฏิบัติงานแต่ละครั้งได้ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งอัตราการเก็บผักตบชวานั้น ยังเกี่ยวข้องกับปริมาณแสงแดดแต่ละวัน ดังนั้น หากมีปริมาณแสงแดดมากและระยะเวลายาวนานขึ้น ส่งผลให้เรือสามารถปฏิบัติงานได้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยวางแผนพัฒนาเรือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นปรับปรุงชุดใบมีดตัดผักตบชวาและชุดสายพานลำเลียงให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต