ถ่านแมคคาเดเมีย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

หนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่าง “ถ่านแมคคาเดเมีย” เป็นนวัตกรรมภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุงในพระราชดำริของสมเด็จย่า ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจและรักษ์สิ่งแวดล้อม

“ถ่านแมคคาเดเมีย” นี้ ได้รับการพัฒนาโดย ศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุง ในหัวข้อการพัฒนาขยะจากกระบวนการผลิตถั่วแมคคาเดเมียเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2549

ถ่านแมคคาเดเมีย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งดูดกลิ่น ดูดสารพิษ เร่งให้ข้าวหรืออาหารสุกเร็วขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาบน้ำและบำรุงผิว และยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้

การนำผงถ่านที่สามารถแผ่รังสีอินฟราเรดแบบไกล (Far Infrared) และบดบังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้มาผสมกับเส้นใยเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สำหรับเครื่องแต่งกายนี้สามารถช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตของผู้สวมใส่ได้ดี และยังสามารถพัฒนาให้สร้างประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลายประการ ด้วยเทคนิคเฉพาะที่สามารถรักษาประสิทธิภาพการทำงานของผงถ่านได้แม้ผ่านการซักล้างหลายครั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า หรือถุงเท้า ที่ช่วยลดอาการปวด อาการชาบริเวณฝ่าเท้า ส้นเท้า ปลายเท้า รวมถึงลดอาการนิ้วล็อก

วิธีการผลิตของถ่านชนิดนี้ ทำได้โดยนำเปลือกถั่วแมคคาเดเมียที่เหลือทิ้งในกระบวนการผลิตมาเผาด้วยกรรมวิธีที่เฉพาะ ก็จะได้ถ่านแมคคาเดเมียซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งที่มีประโยชน์มหาศาล

ผลงานวิจัยถ่านแมคคาเดเมียนี้เป็นการสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จย่าในการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทรงงานสามารถเลี้ยงตนเองได้ เพื่อเพิ่มรายได้โดยใช้ทรัพยากรที่เหลือทิ้งในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนการปล่อยทิ้งไว้ให้กลายเป็นขยะที่คอยแต่จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และต้องยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่คนไทยภูมิใจ