ผักดีด พืชผักและยาพื้นบ้าน ที่ใกล้สูญพันธุ์

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้ตีพิมพ์ เรื่อง “ผักดีด” เผยแพร่ มีผู้สนใจสอบถามกลับมามาก จากทุกสารทิศ ทั้งกรุงเทพฯ กาญจนบุรี เชียงราย สมุทรปราการ พัทลุง อุบลราชธานี และอีกหลายราย ที่ติดต่อผู้เขียนทางโทรศัพท์ ว่าสนใจ ด้วยความแปลกใจว่า มีพืชชนิดนี้ ประสงค์จะรวบรวมพันธุ์พืชแปลกๆ ไว้ศึกษา ใช้ประโยชน์ บางรายอาจจะได้รับเมล็ดพันธุ์ผักดีดไปแล้ว ผลการเพาะขยายเป็นอย่างไร ยังไม่ได้ทราบผล ก็คงจะได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง ตัวผู้เขียนก็พยายามที่จะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ก็ได้มาสองสามต้น ที่สำเร็จครั้งแรกได้เยอะแยะนั้น คงจะบังเอิญนะ พยายามใช้วิธีต่างๆ หลายวิธี แม้แต่จะลอกเลียนแบบครั้งแรก แต่เนื่องจากไม่ได้บันทึกความจำในรายละเอียด ว่าการขยายผักดีดตอนนั้น ได้ทำขั้นตอนอะไรบ้าง ก็เลยไม่ได้ผลดังที่เคยได้

คงเป็นอย่างที่ได้เล่าให้ฟังว่า เคยอ่านพบในหนังสือพิมพ์ภูมิภาคเมื่อหลายปีก่อน มีคนเขียนว่า ในผืนป่าดินแดนล้านนา มีคนแก่เก่าพ่อเฒ่าชื่อ บุญถา บ้านแม่ตอน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ป่าทั้งป่ามี “ต้นผักดีด” อยู่ต้นเดียว ขยายพันธุ์ก็ไม่ได้ ออกลูกมาก็ไม่สมบูรณ์ เอาไปเพาะก็ไม่ได้ต้น บางทีพอมีดอกออกมาก็เหี่ยวแห้งไม่ติดลูก กอบกิ่ง (ตอน) ก็ไม่ออกราก ต้นก็ไม่โต โตช้า โตอยู่แค่ไหนก็คงอยู่แค่นั้น ตอนนั้นเมื่ออ่านเจอก็เกิดอาการขัดแย้งอยู่ในใจว่า มันจริงอย่างที่เขาว่าหรือ?

 

เหตุที่มีความคิดขัดแย้งขึ้น เพราะว่าผมเองรู้จักพืชชนิดนี้มาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นที่บ้านเกิด บ้านท่าล้อ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่บ้านก็มีอยู่ต้นหนึ่ง คนเฒ่าคนแก่เอาไปทำอะไรบ้างไม่รู้ รู้แต่ว่าแม่เคยเอามาย่างไฟให้กินเป็นผักเคียงกับแกงหัวปลี แกงขนุนอ่อน กรอบอร่อย ออกรสขมมัน บางทีก็หั่นเอาใส่แกงพื้นเมืองเหนือ ถามแม่บอกว่า ชื่อ “ผักดีด” ก็เคยเอาต้นมาปลูกใส่กระถางไว้ที่อุตรดิตถ์ ตั้งแต่ ปี 2527-2528 โน่น และเลี้ยงเรื่อยมา ย้ายบ้านไปอยู่ไหนก็ย้ายเอาไปด้วย และก็เอาปลูกลงดิน ซึ่งก่อนนั้นยังเคยทดลองตัดกิ่งยอด ตัดใบแก่ทิ้งครึ่งใบ เหลือแต่ยอดอ่อน แล้วชำลงในกระถางขี้เถ้าแกลบดำกับทรายหยาบผสมเศษใบไม้แห้ง ไว้ในที่ร่มใต้ต้นม่าเหมี่ยว ก็ได้ต้นใหม่ไว้อีกต้นสองต้น แต่ก็ไม่รอด ก็ยังเสียดายว่าต้นสุดท้ายที่ปลูกไว้ โดนน้ำท่วมตายไป ปี 2549 ต้นใหม่ที่ได้ก็น้ำท่วมตายไปพร้อมกับต้นแม่

เคยเก็บลูกผักดีดใส่ถุงเล็กๆ ทิ้งไว้รวมกับเมล็ดพืชอื่น คงเป็นปีสองปีจนแห้ง มาเจออีกทีก็ไม่รู้ว่าเมล็ดอะไร จำไม่ได้ ดูไม่ออก ถุงที่ใส่ก็เริ่มผุแล้ว ก็เอาเมล็ดนั้นไปโรยทิ้งในกระถางต้นไม้ที่ปลูกไว้ดูเล่นๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นกระถางต้นเล็บครุฑ ไม่น่าเชื่อว่า มันงอกออกมาเต็มกระถาง งอกออกมาเยอะแยะเต็มไปหมด ออกใหม่ๆ เป็นเส้นเล็กๆ ดูคล้ายกับต้นพริก ต้นที่งอกออกมาอย่างนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นต้นอะไร ก็พอโตมานิดหนึ่งพยายามดึงแยกต้นใหม่โตเท่าปลายไม้จิ้มฟัน ค่อยๆ ดึงแยกใส่ลงถุงดินเล็กๆ ถุงละ 2-3 ต้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เลี้ยงประมาณ 4-5 เดือน โตมาได้ให้ใบได้ 2-3 ใบ ใช่เลยนี่แหละ ต้นผักดีด ที่ต้องการและเสาะค้นหามาหลายปี เลี้ยงขยายไปปลูกอีกหลายที่ ทนแล้งได้ดี บางต้นปลูกที่ชื้น มีร่มเงาหน่อย เจริญเติบโตดีมาก ใบใหญ่กว้างกว่าฝ่ามือเราอีก แต่มีศัตรูรบกวน ที่พบมากที่สุดคือ เพลี้ยแป้ง เกาะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ ต้องคอยเด็ดใบผักดีดไปเผาทิ้ง ต้นที่อายุมากๆ จะแคระแกร็นลง ใบเล็กลง เปลือกต้น กิ่งก็จะโทรม มีเหี่ยวแห้ง ตัดแต่งทิ้งได้

ผักดีด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solunum Spirale Roxb อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE มีแหล่งพบในภาคเหนือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นทรงสี่เหลี่ยม มีข้อห่างๆ สูงประมาณ 1 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 9-10 เซนติเมตร ใบใหญ่เท่าฝ่ามือ ตอนอ่อนก็สีเขียวอ่อน พอแก่ก็จะเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ เห็นเส้นใบชัดเจนก้านดอกยาว ออกดอกเป็นช่อเหนือซอกใบ ดอกย่อยเรียงสลับกัน กลีบดอกสีขาวสวยงามมาก ผลรูปทรงกลม  ผิวเรียบสีเขียว ออกเป็นช่อพวงคล้ายมะเขือพวง แต่ลูกเล็กขนาดลูกมะแว้งต้น ลักษณะเหมือนกันด้วย เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม

ชาวบ้านใช้ใบอ่อนถึงใบแก่เล็กน้อย ปรุงเป็นอาหารการกิน และใช้เป็นยาสมุนไพร ศึกษาพบว่า ผักดีด มีคุณสมบัติในการขจัดสารอนุมูลอิสระได้สูง ที่ว่าค้นพบแต่ภาคเหนือของไทยนั้น ที่จริงมีข้อมูลข่าวทางโซเซียลเน็ตเวิร์กว่า พบมีการใช้ผักดีดที่เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่น เรียก “ไกดาชิ อินุโฮซูกิ” เขาใช้เป็นสมุนไพร และเป็นผักพื้นบ้าน กินเพื่อเรียกน้ำนมในแม่เด็กแรกเกิด

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หมอไทยใช้เป็นยาต้มแก้ท้องอืดเฟ้อ ต้มเป็นน้ำยาแก้ปวดท้อง รากต้นผักดีดต้มเป็นน้ำดื่มแก้ไข้หนาวสั่น รักษาคนเจ็บไข้ ปวด บวม พ่อหมอที่รักษาคนป่วยด้วยการปัดเป่า ใช้ใบผักดีดในการปัด เป่า เช็ด แหก ดีดเอาพิษโรคร้าย ที่ชาวบ้านป่าว่าถูกพิษผีป่าผีเขาเข้าทำร้าย ให้ออกจากกายคนป่วย เป็นการไล่ผี ผักดีดใช้เป็นผักใส่ปรุงแกงขนุน แกงหัวปลี ลวกจิ้มน้ำพริก ย่างไฟอ่อนๆ กินแกล้มลาบ ตำกุ้ง แกงบอน หรือนำมาแกงใส่ปลาย่าง และอาหารอีกหลายอย่าง

ในโลกยุคดิจิตัล คงจะไม่ค่อยมีใครคิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ว่ากันว่า เป็นเรื่องโบราณ คร่ำครึ สุดแล้วแต่คนยุคนี้จะคิด แต่ที่นำเรื่องโบราณๆ มาเล่าสู่กัน เพียงเพื่อผ่อนคลายจากความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการไล่ตามความเจริญของสังคมปัจจุบัน ยิ่งตาม ยิ่งเหนื่อย ตามมันไปทั้งๆ ที่ ไม่รู้จะตามทันหรือไม่ พักให้หายเหนื่อยแล้วค่อยวิ่งตามดิจิตัลต่อไป