หม่อน พืชพื้นบ้านเป็นทั้งอาหารและยา ปักชำ 2-3 สัปดาห์ จะเห็นยอดอ่อนลงดินได้เลย

ชื่อสามัญ : mulberry

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba

วงศ์ : Moraceae

หม่อน เป็นพืชอาหารชนิดเดียวของตัวไหม คุณภาพและปริมาณของเส้นใยที่ได้จากไหม ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพอาหาร คือ ใบหม่อน เท่านั้นจึงนับได้ว่า ใบหม่อนคือหัวใจหลักของการผลิตเส้นใยไหมนั่นเอง     

ใบหม่อน จึงกล่าวได้อีกว่าเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งของเส้นทางวัฒนธรรมสายไหมของเอเชีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : หม่อน เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ลำต้นมีเปลือกสีเทาจุดน้ำตาล แตกกิ่งกระโดงง่ายมาก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ใบออกเรียงสลับกันบริเวณข้อ ผิวใบสากคายมือ ดอกเป็นกระจุกเล็กๆ สีขาวอมเหลือง ผลเป็นผลรวมประกอบด้วยรังไข่เล็กๆ หลายอัน รวมกันเป็น 1 ผล รสชาติอร่อยมาก อมหวาน อมเปรี้ยว เป็นผลไม้ประจำอีกชนิดหนึ่งสมัยที่ผู้เขียนยังเด็ก วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ อยู่ในแปลงหม่อนของวิทยาลัยเกษตรกรรมสุรินทร์ เล่นไปกินไป จนปากคอกลายเป็นสีม่วงกันถ้วนหน้าทุกคน พอเหนื่อยก็ไปนั่งพักดู ป้าบล คนงานของพ่อ สาวไหม ประจบขอดักแด้มาโรยเกลือป่นหม่ำกันอีก เป็นความทรงจำที่ติดตาไม่ลืมเลือน

2

ชีวิตวัยเด็กในเกษตรสุรินทร์ให้อะไรกับผู้เขียนมากมายเหลือเกิน

สรรพคุณ และการใช้ประโยชน์ : ในสมัยก่อนเรานิยมปลูกต้นหม่อนเพื่อนำใบมาใช้เลี้ยงไหมเท่านั้น หนอนไหมเมื่อกินใบหม่อนเข้าไปก็จะเปลี่ยนโปรตีนจากใบหม่อนให้กลายเป็นเส้นใยไหมสีเหลืองทองหรือขาว เป็นมันสวยงามหาใดเทียม แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์มาปลูกเพื่อกินลูก ได้แก่ พันธุ์เชียงใหม่ ลูกโต รสชาติดี สีสวยน่ากิน ผลหม่อนมีสารที่เป็นประโยชน์มาก มี แอนโทไซยานิน (anthocyanin) สูง อุดมด้วย วิตามิน เอ บี 1 บี 2 วิตามินซี ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม สังกะสี และธาตุเหล็ก

14694602_1132776680131718_1689026498_n

น้ำผลหม่อนสด มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ รักษาโรคไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต บำรุงเส้นผมให้ดกดำ บำรุงสายตาช่วยการมองเห็น เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ คนจีนโบราณเรียกว่า ชางเซน (Sangshen) คือ เหมือนเป็น Blood tonic บำรุงเลือดสุภาพสตรี นำไปทำแยมหม่อน เจลลี่ ไอศกรีม พายหม่อน น้ำหม่อนคั้น หรือกินเล่นสดๆ ก็ได้ ส่วนใบหม่อนสามารถนำมาชงเป็น ชาเขียวใบหม่อน (Gabaron tea) มีสารแทนนิน (tannin) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ไตรเทอร์พีน (triterpene) มัลเบอร์โรไซด์ (mulberroside) ที่มีคุณค่ากับร่างกาย สามารถต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรียบางประเภทได้ ลดความอ้วน ลดปริมาณการสร้างเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวขาวขึ้น

รากหม่อน ช่วยลดความดันโลหิต เปลือกเยื่อหุ้มลำต้นยังสามารถเอามาทำเป็นกระดาษสาได้อีก นับว่า หม่อน เป็นพืชที่น่าปลูกไว้ดูเล่นสักต้น หรือเพื่อประดับบารมีก็ไม่เสียหายอะไร เหมือนเล่าปี่ตอนเด็กๆ ขึ้นไปขี่กิ่งหม่อนหน้าบ้านขย่มเล่นแทนม้า ยังมีซินแสมาทำนายเลยว่าเป็นคนมีบุญ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต ท่านก็ปลูกไว้คนละต้นเผื่อฟลุกไงครับ

วิธีปลูก : ใช้วิธีตัดกิ่งปักชำ โดยการเลือกกิ่งที่ไม่อ่อน ไม่แก่เกินไป ตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 10 นิ้ว ปลายด้านบนตัดให้ตรง เหนือข้อตาบนสุด สักประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายด้านล่างตัดแฉลบแบบฝานบวบ ใต้ตาล่างสุด ประมาณ 1.5 เซนติเมตร นำไปปักชำในถุงบรรจุทรายผสมขี้เถ้าแกลบ วางไว้ในที่ร่ม รอสัก 2-3 สัปดาห์ จะเห็นยอดอ่อน แตกกระโดงขึ้นมา สวยงาม ให้นำไปปลูกในกระถาง หรือจะลงดินเลยก็ได้ ให้ขุดหลุมกว้าง 50×50 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ผสมเศษใบไม้ผุ กาบมะพร้าวสับ คลุกเคล้าให้เข้ากัน กลบดินให้พอดี ไม่ต้องแน่นนักก็ได้ รดน้ำเช้า-เย็น อีกไม่นานก็ได้กินได้ใช้แน่นอนครับ

1

หม่อน ออกลูกเร็วมาก บางทีเพียงเดือนเดียวก็มีลูกให้เชยชมกันได้แล้ว และสามารถปลูกได้ไม่เลือกฤดูกาล ทนทานทุกสภาวะอากาศ ดินเลวๆ ก็ยังขึ้นได้ ขอให้ขยันหมั่นเล็มยอดไว้ให้เป็นพุ่ม อย่าปล่อยให้สูงโย่ง แตกกิ่งระเกะระกะมาก เด็ดใบกับยอดอ่อนไปชงชาดื่มบ่อยๆ ก็ได้ ต้นหม่อนของเราก็จะมีทรวดทรงที่งดงาม ใส่ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ให้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2-3 กำมือ โรยรอบๆ โคนต้น ห่างสัก 1 คืบ อย่าให้ชิดลำต้น เดี๋ยวจะเน่า เพียงเท่านี้เราก็จะมีต้นหม่อนที่แจริญเติบโต สวยงาม สดชื่น พร้อมที่จะออกลูกให้เรากินต่อไปได้อีกนานหลายปีเลยครับ