ขมิ้นชัน ภูมิปัญญาไทยสมุนไพรคู่ครัวไทย

นานแล้วที่คนพื้นบ้านตำนานไทยว่าไว้ ถึงภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับ “ขมิ้นชัน หรือขมิ้นเหลือง” กันอย่างมาก เกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณทางยา เรียกว่า เป็นตำรับสมุนไพรพื้นบ้าน และเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารประจำครัว นานจนดูเหมือนว่าจะเป็นพืชไทยมาแต่โบราณกาลเก่าก่อน แท้จริงเลย เรารู้จักขมิ้นกันมาตั้งแต่สมัยไหนสมัยใดแล้ว ถ้ามีใครสืบค้นต้นตอ และบันทึกไว้ อาจจะเจอเป็นหลักฐานโบราณเลยก็เป็นได้ จนถึงวันนี้สารพัดประโยชน์จากขมิ้น มีมากมายหลายด้าน หลากหลายสรรพคุณ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสมุนไพร

ขมิ้นชัน มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหัว ขมิ้นเหลือง ขมิ้นดี เข้าหมิ้น ภาคใต้เรียก ขี้มิ้น ละมิ้น เป็นพืชในวงศ์เดียวกับ ขิง ข่า คือ ZINGIBERACEAE มีชื่อสามัญ Turmerie ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma domestica (C.longa) ขมิ้นมี 2 อย่าง คือ ขมิ้นชัน กับ ขมิ้นอ้อย มีสรรพคุณเหมือนกัน แต่ขมิ้นอ้อยจะนำมาเป็นยารักษาโรค  ขมิ้นชันจะนำมาเป็นยาสมุนไพร และเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารหลายอย่าง ใช้ได้ทั้งหัวแง่ง และใบแก่ ใบอ่อน ทางภาคใต้ แกงเหลือง หรือแกงส้ม ทางเหนือ แกงฮังเล เครื่องหมักไก่ปิ้งสีสวย กลิ่นหอมมาก ใส่ห่อหมกปลา ใบรองหม้อนึ่งปลา นึ่งไก่ นึ่งเนื้อ นึ่งฮก ต้มปลา มักใช้คู่กับตะไคร้

สรรพคุณทางยาของขมิ้นชัน เหง้าสด หรือแห้ง ใช้เป็นยาสมุนไพร รักษาโรคผิวหนังจำพวกแผลพุพองน้ำเหลืองเสีย ใช้เหง้าสดหั่นเป็นแว่นบดให้ละเอียด เอาส่วนน้ำมาทาบริเวณที่เป็นโรค หรือใช้เหง้าแห้งบดให้ละเอียดนำมาโรยแผลได้  เกิดอาการท้องเดินที่ไม่ใช่เป็นบิดหรืออหิวาตกโรค ใช้เหง้าหั่นเป็นชิ้นๆ ครั้งละ 1 กำมือ น้ำหนักสดโดยประมาณ 10-20 กรัม แห้งหนัก 5-10 กรัม ต้มน้ำพอประมาณให้งวดเหลือ 1 ใน 3 ดื่มวันละครั้ง

การปลูกขมิ้นชัน ปัจจุบัน มีแหล่งปลูกที่สำคัญหลายแห่ง เป็นการปลูกเพื่อการค้า ส่วนการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนจะมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย อย่างที่เกริ่นนำแต่ต้นว่า รู้จักขมิ้น เหมือนว่าเป็นพืชพื้นบ้านของไทยไปแล้ว แท้ที่จริงก็อาจจะใช่ เพราะว่าขมิ้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งธรรมชาติในสภาพป่า

มีข้อสันนิษฐานว่า เป็นพืชที่เกิดจากกระบวนการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ มีการสืบทอดพันธุ์ต่อกันมาโดยวิธีคัดเลือกพันธุ์ และขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ การปลูกสันนิษฐานว่าเริ่มในประเทศอินเดีย และแพร่กระจายไปสู่ประเทศจีนในศตวรรษที่ 7 แอฟริกาตะวันตกในศตวรรษที่ 13 และจาเมกา ในศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันมีการปลูกกระจายทั่วไปในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนหรือร้อนชื้นทั่วโลก มีแหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่อินเดีย และแถบอาเซียน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ลักษณะของขมิ้นชัน ส่วนที่อยู่เหนือดิน เป็นลำต้นเทียม ลักษณะเป็นการเรียงอัดซ้อนกันของกาบใบ มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า (Rhizome) เหง้าหลักเป็นรูปไข่เจริญในแนวตั้ง ด้านข้างของเหง้าจะมีแง่ง (Finger) เนื้อในเหง้า และแง่งมีสีเหลืองส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว พันธุ์ที่ใช้ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองในท้องถิ่น เช่น พันธุ์สุราษฎร์ธานี พันธุ์นครศรีธรรมราช พันธุ์ระนอง พังงา ราชบุรี ชุมพร นครพนม พิษณุโลก เลย ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งสูง ให้น้ำมันหอมระเหย มีสารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) เฉลี่ยสูง

ผลผลิตขมิ้นชัน จะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 9-11 เดือน ขึ้นไป จะได้สารสำคัญที่สูง ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวช่วงฤดูแล้ง เดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยการสังเกตต้นเหนือดินเริ่มแสดงอาการเหี่ยวแห้ง จนแห้งสนิท จึงเริ่มเก็บเกี่ยว มีบางพื้นที่เกษตรกรจะปลูกขมิ้น 2 ปี และเก็บเกี่ยวฤดูแล้งอีกปีถัดไป จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว และเหมาะสำหรับนำไปผลิตน้ำมันขมิ้นชัน ผลผลิตที่ได้นอกจากจะเก็บไว้ทำพันธุ์ ซึ่งใช้วิธีผึ่งในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก  ขมิ้นที่จะขายสดจะใช้วิธีบรรจุกระสอบป่านหรือถุงตาข่ายนำไปส่งตลาด และขมิ้นที่จะแปรรูปเบื้องต้นเป็นขมิ้นแห้ง  ขมิ้นบดผง และน้ำมันขมิ้นชัน

มีกรรมวิธีง่ายๆ ทำขมิ้นแห้งทั้งหัว ก็ใช้วิธีต้มหรือนึ่ง 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เซลล์และเนื้อเยื่อตาย ตากแดด 6-8 วัน หรือเป่าลม 65-70 องศาเซลเซียส ให้มีความชื้นเหลือ 8-10% ทำความสะอาด ปอกเปลือกขัดผิวภายนอก คัดแยกขนาด บรรจุภาชนะส่งขาย วิธีนี้น้ำหนักขมิ้นลดลงเหลือ 15-25% ของน้ำหนักสด การทำขมิ้นแห้งแผ่น โดยหั่นหรือฝานด้วยมีดหรือเครื่องหั่น วางบนถาดหรือตะแกรงเกลี่ยให้บางๆ อบโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบอุโมงค์ อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 8-12 ชั่วโมง หรือตากแดด 3 วัน และอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง จะได้ขมิ้นแห้ง น้ำหนักลดลงอัตรา 1 : 8

ขมิ้น สามารถแปรรูปเป็นผลผลิตน้ำมันหอมระเหย โดยหั่นขมิ้นเป็นชิ้นบางๆ ใส่ลงในหม้อกลั่น และใช้วิธีกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ อุณหภูมิที่ใช้กลั่น 150-200 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง อัตราการกลั่น ขมิ้นสด 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำมันขมิ้นชัน 2 กิโลกรัม

วกกลับมาถึงเกร็ดภูมิปัญญาไทยพื้นบ้าน สำหรับผู้ที่รักสวยรักงาม แนะนำไว้ ให้นำขมิ้นชันผสมนมสด หรือน้ำมะนาวอัตราส่วนที่พอเหมาะ และนำมาทาผิวหนัง น้ำมันหอมระเหยจะมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด ใช้ทาผิวที่มีผดผื่นคัน ผงขมิ้นใช้ทาได้ทุกส่วนของผิวหนัง เพื่อให้ผิวมีสีเหลืองทอง ใช้บำรุงผิวหน้าได้เป็นอย่างดี ใช้แล้วผิวขาว ผิวเนียนผุดผ่อง สุดยอดสมุนไพรบำรุงผิว

มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งว่า ไม่แนะนำให้ใช้ทาตัวคนเรา เพราะขมิ้นเขามีไว้ทาให้ศพคนตาย เชื่อว่าถ้านำมาใช้กับคนมีชีวิตไม่ดี จะอาเพศ อัปมงคล แต่ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันว่า คุณค่ามหาศาลจากขมิ้นชัน เวลาได้เปลี่ยนความเชื่อเรื่องอัปมงคลลงหมดแล้ว ของดีๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและต่อเศรษฐกิจชีวิตเรา เดี๋ยวนี้มีมากก็จริง แต่ค่านิยมของคนนั้นหายากยิ่งกว่า หันมามองของพื้นบ้านเรา เพื่อพวกเรากันเองเถอะ อย่าไปมัวลุ่มหลงกับเคมีภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ของนอกอยู่เลย ให้ไฮโซไฮซ้อ ใช้เครื่องสำอางจากต่างประเทศ หรือของนอก ราคาชุดละเหยียบแสนกันเองเถิดนะพี่น้อง

เผยแพร่ครั้งแรก 5 มี.ค. 2564