เครื่องมือคั้นมะนาว ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำด้วยไม้อย่างง่ายๆ

มะนาว ในภาษาแขมร์ เรียกว่า “โกรจฉมาร์” แยกศัพท์ได้ว่า “โกรจ” แปลว่า ส้ม “ฉมาร์” แปลว่า เล็ก รวมความแล้ว แปลว่า “ส้มเล็ก” ส้มลูกเล็กๆ แขมร์ หมายถึง มะนาว

เราชาวไทยมีคำพ้องเสียงมากมาย อย่าง คำว่า “รถ” กับ “รส” ใครเอ่ยคำไหนออกมา เราจะทราบความหมายได้ทันที ด้วยการดูจากสถานการณ์ที่พูด เช่นเดียวกับกัมพูชา หากพูด คำว่า “ฉมาร์” ก็มี คำว่า “ฉมา” ที่เขียนเกือบจะเหมือนกัน และออกเสียงเหมือนกัน จะรู้ความหมายได้ก็ต้องดูสถานการณ์ที่พูด หรือบริบทแวดล้อม

คำว่า “ฉมาร์” ที่มีตัว “ร” สะกด แปลว่า เล็ก หรือบาง ส่วน คำว่า “ฉมา” ไม่มี “ร” แปลว่า แมว อย่างปราสาทหินในเขตบันทายมีชัย เขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว ชื่อว่า “บันทายฉมาร์” แปลว่า ปราสาทเล็ก แต่คนทั่วไป แม้แต่ชาวกัมพูชาเองบางคนก็ยังเข้าใจผิด คิดว่า แปลว่า “ปราสาทแมว”

นั่นเป็นเรื่องของภาษา มาเข้าครัวกันดีกว่า ครัวไทยและแขมร์มีมะนาว ใช้ปรุงอาหารกัน ทำให้เกิดสวนมะนาวในภูมิภาคต่างๆ และบางครัวเรือนก็ปลูกมะนาวเพื่อนำมาปรุงอาหารกันอย่างกว้างขวาง ในประเทศไทยเคยมีบางช่วงมะนาวแพง อดีตนายกรัฐมนตรีบางท่านแนะให้นำมะม่วงมาใช้แทนมะนาว นอกจากไม่ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มแล้ว ยังได้ยินเสียงแม่ค้าใช้คำสื่อความหมายไม่ค่อยจะเป็นมงคลนัก ลอยมาอีกด้วย

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คำพูดก่อนพูดเราเป็นนาย เมื่อพูดออกไปแล้ว คำพูดจะเปลี่ยนหน้าที่เป็นนายเราทันที แม้เจ้าของคำพูดไม่อยากรับผิดชอบ แต่ก็ต้องยอมรับชะตากรรม ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งคนไทยเราและชาวแขมร์ใช้มะนาวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุง และยังบีบมะนาวใส่พริก เวลาตำพริกสดเราใช้มะนาวบีบใส่เบาๆ น้ำมะนาวจะส่งกลิ่นหอมจางๆ การหยดน้ำมะนาวลงบนพริกที่ตำละเอียดแล้ว ปริมาณน้ำมะนาวต้องพอเหมาะพอดี ถ้าไม่พอเหมาะพอดีพริกจะเปรี้ยวเกินไป จิ้มผักไม่อร่อย

มะนาว ในภาพยนตร์เรื่องแม่นาคพระโขนง มีฉากหนึ่ง และเป็นฉากสำคัญด้วย นั่นคือ ฉากที่ต้องการให้ไอ้มากรู้ว่า แม่นาคนั้นตายแล้ว นางเป็นผีไปแล้วจริงๆ นั่นคือ ฉากแม่นาคทำมะนาวตก เธอเหลียวซ้ายแลขวา ไม่เห็นว่าไอ้มากแอบมองอยู่ จึงยื่นมือน่าเกลียดน่ากลัวลงไปหยิบมะนาวใต้ถุนเรือน ทำให้ไอ้มากรู้ความจริง ต้องหนีเตลิดไป

มะนาว นอกจากใช้ปรุงอาหารแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องดื่มได้ นั่นคือ นำมาปั่นกับน้ำแข็ง เรียกว่า น้ำมะนาวปั่น แก้กระหายน้ำได้ดี ตามตลาดนัด ตรอก ซอก และซอยต่างๆ ในประเทศไทยเราเห็นอยู่เนืองๆ ก่อนที่แม่ค้าจะปั่นน้ำมะนาวกับน้ำแข็งนั้น ขั้นตอนสำคัญคือ “คั้นน้ำมะนาว”

การคั้นน้ำมะนาวสมัยก่อนก็ผ่าแล้วบีบน้ำลงไป แต่ปัจจุบันเราพัฒนาแล้ว มีเครื่องคั้นมะนาวหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่เป็นธรรมดาๆ อยู่ก็คือ ใช้เครื่องบีบมะนาวแบบชาวบ้านๆ ทำมาจากไม้อย่างง่ายๆ

วิธีการก็คือ นำไม้แผ่นหนาๆ ราว 1 นิ้วเศษๆ มา 2 แผ่น ตัดให้ยาวประมาณ 7 นิ้ว เท่ากัน จากนั้นเอาแผ่นไหนก็ได้เป็นแผ่นบน และแผ่นไหนก็ได้ทำเป็นแผ่นล่าง แผ่นล่างส่วนใกล้กับปลาย ใช้วงเวียนทำเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางพอวางมะนาวลูกใหญ่ๆ ลงไปได้ ใช้สิ่วขุดหลุมให้ลึกลงไป ตามรูปที่วงเอาไว้ แล้วใช้สว่านเจาะรูเล็กๆ ไว้สำหรับให้น้ำมะนาวไหลออกมา ส่วนอีกแผ่นหนึ่งลองนำมาประกบเข้าด้วยกัน แล้วทำไม้ให้เป็นรูปวงกลม  ขนาดที่ใส่เข้าไปในหลุมที่ขุดได้ ตอกยึดเข้าไปกับแผ่นไม้จุดที่พอเหมาะพอดีกับหลุม

พอเหมาะพอดีแล้ว ก็นำเอาบานพับเล็กๆ ติดเข้าไปตรงส่วนปลาย ลองขยับขึ้นลงให้หลุมที่เราขุดเจาะไว้พอเหมาะพอดีกับปุ่มที่เราตอกยึดเป็นอันใช้ได้

การตอกยึดปุ่มไม้นี้ ไม่ควรใช้ตะปู เพราะตะปูจะเกิดสนิม เวลาเราคั้นน้ำมะนาวสนิมจะออกมากับน้ำมะนาว รับประทานเข้าไปไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพแน่ๆ เราชาวบ้านจึงใช้สว่านเจาะ แล้วถากไม้ให้กลมๆ คล้ายตะเกียบนั่นแล ตอกเข้าไปตามรอยสว่าน จากนั้นก็ใช้มีดปาดส่วนเกินออก ตกแต่งให้เรียบ เนียน

การทำเครื่องมือคั้นน้ำมะนาว มีเคล็ดเล็กๆ ว่า ควรหาไม้มะขาม หรือไม่ก็เป็นไม้เนื้อเหนียว ทนทานต่อการกระแทกกระทั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องทำบ่อยๆ อีกประการหนึ่งก็คือ ต้องหาไม้ที่ไม่มีสารใดๆ ออกมาทำลายรสชาติมะนาว ตัวอย่าง เช่น หากนำเอาไม้แจงมาทำ ธรรมชาติของแจงจะมีรสขม หากเรานำมาทำเครื่องคั้นน้ำมะนาว เราก็จะได้รสมะนาวที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

เครื่องคั้นมะนาวมีหลากรูปแบบ แต่แบบชาวบ้านมักทำด้วยไม้อย่างง่ายๆ แล้วนำมาคั้นน้ำมะนาว ทั้งใช้น้ำมะนาวสดๆ และคั้นเก็บใส่ขวดไว้ขาย ความสดใหม่ของน้ำมะนาวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้อาหารรสชาติดี

รสชาติมีความสำคัญกับชีวิตเสมอ หากรสชาติชีวิตใครเสียไป ชีวิตก็ไม่เป็นสุข อย่างน้อยก็รับประทานอาหารไม่อร่อย

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561