ปัญหาดินดานในไร่มัน หมดไป… เมื่อเจอกับ “ไถระเบิดดินดาน” พ่วงท้ายแทรกเตอร์

การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ในพื้นที่ปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง หรืออ้อย ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้ชั้นดินมีลักษณะแน่นทึบและแข็งมากขึ้น เนื้อดินมีช่องว่างสำหรับน้ำและอากาศน้อย มีโอกาสทำให้เกิดชั้นดินดานสูง ซึ่งเป็นปัญหาต่อการปลูกพืช โดยช่วงฤดูฝนเมื่อมีฝนตกลงมา น้ำจะซึมลงไปในดินชั้นล่างไม่ได้ ขณะเดียวกันในหน้าแล้งดินดานจะกั้นไม่ให้ความชื้นที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาถึงรากพืช อาจทำให้พืชขาดน้ำและตายได้

เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจึงจำเป็นต้องไถระเบิดดินดาน แต่ปัจจุบันค่าจ้างในการไถระเบิดดินดานมีราคาค่อนข้างสูง และยังขาดเครื่องมือไถระเบิดดินดานที่มีประสิทธิภาพด้วย

จากปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนา “ไถระเบิดดินดานสำหรับติดพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง” ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การไถระเบิดดินดานนับว่ามีความจำเป็นต่อการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งหลักของการไถระเบิดดินดานคือ ไถต้องจิกลงไปในดินและถูกลากไปตลอดแนว ทำให้ดินแตกร่วนโดยไม่มีการพลิกดิน เช่น ไถหัวหมู หรือไถจาน คุณภาพของดินที่ต้องการขึ้นอยู่กับความลึก ระยะห่างระหว่างขาไถ มุมของขาไถ และความชื้นในดิน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้รถแทรกเตอร์ขนาดกลาง (36-50 แรงม้า) อย่างแพร่หลายในไร่มันสำปะหลัง แต่การไถระเบิดดินดานที่ใช้งานส่วนใหญ่เป็นไถ 5 ขา พ่วงติดกับรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังสูง 60-85 แรงม้า หรือมากกว่า 120 แรงม้า และมีราคาแพงกว่า 100,000 บาท ประกอบกับค่าจ้างไถระเบิดดินดานแต่ละครั้งราคาค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวได้

ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้ออกแบบและพัฒนาไถระเบิดดินดานเพื่อใช้ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง ซึ่งเหมาะสมสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถเข้าถึงการไถระเบิดดินดานด้วยตัวเอง โดยที่ราคาหรือต้นทุนไม่สูงมาก

ซึ่งไถระเบิดดินดานสำหรับติดพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดกลางที่ออกแบบ มีทั้งแบบขาเดียวใช้ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 36 แรงม้า และแบบ 2 ขา ใช้ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ ขนาด 45-50 แรงม้า โดยไถระเบิดดินดานแบบ 2 ขา จะมีปีกสองข้าง ขนาดขาไถยาว 1 เมตร ที่ปลายขาไถมีเหล็กซึ่งออกแบบให้มีมุมจิกสำหรับระเบิดดินดานที่ 30 องศา มีความกว้างของหัวจิกที่ 1.5 นิ้ว

จากการทดสอบไถระเบิดดินดานในแปลงเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีดินดานลึกที่ 35 เซนติเมตร ที่ความชื้นดิน 14.53% พบว่า สามารถระเบิดดินดานได้ โดยไถได้ที่ความลึกเฉลี่ย 41 เซนติเมตร และมีความสามารถในการทำงาน เฉลี่ย 2.5 ไร่ ต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันยังพบว่า ไถระเบิดดินดานที่ออกแบบใหม่นี้มีประสิทธิภาพการทำงานเชิงพื้นที่ เฉลี่ย 70.71% อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ย 3.52 ลิตร ต่อไร่ และสามารถใช้งานกับรถแทรกเตอร์ ขนาด 49 แรงม้า ได้

ที่ผ่านมา ยังไม่มีการใช้งานไถระเบิดดินดานกับรถแทรกเตอร์ที่มีต้นกำลังขนาดนี้ ถือเป็นหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่มีรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง ซึ่งสามารถไถระเบิดดินดานได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องจ้างรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่มาไถระเบิดดินดาน จะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว และทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

ขณะนี้ ห.จ.ก. ศรีกำแพงแสนมอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยได้นำต้นแบบไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว สำหรับไถระเบิดดินดานแบบขาเดียว ราคาอยู่ที่ 23,000 บาท และแบบ 2 ขา ราคาประมาณ 30,000 บาท ซึ่งถูกกว่าไถระเบิดดินดานที่ใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ และเริ่มมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนำไปใช้ในการไถระเบิดดินดานมากขึ้น อาทิ กลุ่มคลัสเตอร์มันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา ในปีนี้คาดว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย

คุณยุทธนา บอกอีกว่า เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังสามารถตรวจสอบชั้นดินดานในแปลงปลูกของตนเองได้ง่ายๆ โดยสังเกตเวลาฝนตก พื้นที่ราบน้ำจะแช่ท่วมขังอยู่นาน เพราะไม่สามารถซึมลงไปในดินชั้นล่างได้ แต่จะไหลบ่าบนผิวดิน ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายบนผิวดิน สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการไถระเบิดดินดาน ซึ่งพื้นดินที่ปลูกมันสำปะหลังอาจไถระเบิดดินดานปีเว้นปี จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น หลังจากไถระเบิดดินดานแล้ว ใช้ผาล 3 เพื่อพลิกดินกลบวัชพืช ทิ้งไว้ ประมาณ 5-7 วัน และไถพรวนด้วยผาล 7 เพื่อย่อยดินและกลบรอยเบิกดินดาน ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญเสียความชื้นจากใต้ดินได้

หากสนใจเกี่ยวกับ “ไถระเบิดดินดานสำหรับติดพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 940-5583 ในวันและเวลาราชการ