Herb of Art ศิลปินสร้างสรรค์ สีสมุนไพรสกัด สู่งานศิลปะ

ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ล่าสุดเมื่อกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสแวะเวียนตามกลิ่นอายของสมุนไพรหลากหลายชนิดที่คละคลุ้งไปทั่วทั้งฮอลล์ชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี เป็นการนำสมุนไพรมากมายของแต่ละหน่วยงานมาจัดแสดงเผยแพร่ให้ความรู้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรเพื่อการรักษา สมุนไพรเพื่อการบำบัดฟื้นฟู สมุนไพรเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรเป็นยาไทย อื่นๆ ที่มีอยู่มากมายไม่แพ้ชาติใดในโลก

อีกหนึ่งผลงานความภาคภูมิใจของหนูน้อย

และหนึ่งในกิจกรรมงานสมุนไพร ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ที่ผู้เขียนยังไม่เคยพบเจอและนับเป็นปีแรกที่มีการนำสีสมุนไพรมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่ได้ชื่อว่า “ร้อยสี ร้อยภาพ ร้อยสมุนไพร” เป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มศิลปินนักวาดภาพ กับกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ในการนำสมุนไพรแต่ละชนิดสกัดจนได้สีออกมาแล้วนำไปให้ศิลปินได้ลงพู่กันแต่งแต้มสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ก่อนจะถ่ายทอดไปสู่กลุ่มเยาวชนจนก่อเกิดเป็นงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าและสวยงามนั่นเอง

เมื่อก้าวเข้าไปภายในบู๊ธพบเห็นภาพวาดที่แต่งแต้มจากสีสมุนไพรประดับลายล้อมประหนึ่งเสมือนเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพของศิลปิน

เป็นเช่นนั้นนั่นเอง…งานแต่ละชิ้นเป็นผลงานที่เข้ารอบผ่านการประกวดแข่งขันวาดภาพของกลุ่มนักเรียนเยาวชนในแต่ละจังหวัด ภายใต้ชื่อ “ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร” จากสีสมุนไพร (Herb of Art)

ในงานสมุนไพรแห่งชาติวันดังกล่าวเขาเปิดโอกาสให้ศิลปินอิสระน้อยใหญ่ หนูๆ น้องๆ ต่างแสดงความสามารถโชว์ลวดลายในการระบายตามแต่จิตนาการของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กอนุบาลขวบกว่าๆ เด็กโตขึ้นมาระดับประถมศึกษา หนุ่มสาวนักเรียน นักศึกษา และที่มาไกลสุด เด็กหญิง อายุ 9 ขวบ “น้องจอมนาง” ด.ญ.อาทิบุช โดยสมบูรณ์ จากโรงเรียนนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต ก็มาแสดงฝีมือในการแต่งแต้มสีวาดภาพจนออกมาเป็นงานศิลปะครั้งนี้ด้วย

เด็กๆ เรียนรู้เริ่มต้นจากสีสมุนไพรไม่เป็นพิษ

ไม่เพียงเด็กๆ เยาวชน หนุ่มสาวออฟฟิศ คนทำงาน ที่ว่างเว้นจากงานก็มาแสดงความสามารถระบายสีสมุนไพร เพื่อเป็นของขวัญความประทับใจในผลงานของตนเองที่จะนำกลับบ้านไปติดฝาผนัง หรือประดับในห้องนอนด้วยความภาคภูมิใจ ว่าครั้งหนึ่งภาพนี้คือฝีมือการแต่งแต้มศิลปะที่เกิดจากสีสมุนไพรด้วยความสามารถของตัวเราเอง (ไม่ได้จ้างใครวาดให้)

นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านงานศิลปะ หลายคนฝีมือยังไม่เข้าขั้น และก็อีกหลายคนไม่มีความรู้ด้านการวาดภาพระบายสีเลย แต่ในงานนี้มีผู้เชี่ยวชาญ มีครูผู้สอนศิลปินนักวาดภาพระดับประเทศอย่าง อาจารย์วิเชียร วงศ์ศุภลักษณ์ และ อาจารย์สมชาย วัชระสมบัติ ที่จะคอยแนะนำร่างแบบและสอนการระบายสีวาดภาพให้กับผู้ที่ยังไม่มีความรู้ในกิจกรรมนี้

อาจารย์วิเชียร ศิลปินอิสระในฐานะประธานการประกวดแข่งขันภาพวาดสีสมุนไพร Herb of Art กล่าวว่า เราทำงานเรื่องสมุนไพรกับกรมการแพทย์แผนไทย และในฐานะศิลปินอิสระนักวาดภาพ ซึ่งได้มองเห็นมิติของสีที่เกิดจากสมุนไพรที่มีมากมายหลายร้อยชนิด อาทิ

สีเหลือง ที่เกิดจากขมิ้นชัน และสีเหลืองเข้ม เกิดจากขมิ้นอินเดีย สีแดง เกิดจากดอกกระเจี๊ยบและคลั่ง สีส้ม ที่เกิดจากแก่นฝาง สีม่วง-น้ำเงิน เกิดจากดอกอัญชัน สีน้ำตาล ได้จากตรีผลา สีเขียว เกิดจากฟ้าทลายโจร สีดำ มาจากถ่าน สีขาว เกิดจากไทเทเนียม เป็นต้น

สีสมุนไพรแต่ละเฉดสี

ขณะที่ศิลปินอีกท่าน อาจารย์สมชายในฐานะที่ปรึกษาโครงการฝึกงานนักศึกษาศิลปะระดับปริญญาตรีและปริญญาโทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีผลงานมากมายที่แสดงในหอศิลป์แห่งชาติ ทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นวิทยากรผู้บรรยาย เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ ก็ได้แสดงทรรศนะว่า การนำสีสมุนไพรมาให้ความรู้ผ่านกระบวนการงานศิลปะในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เด็กเยาวชนได้เห็นคุณค่าว่าสมุนไพรมีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่มีมลพิษตกค้าง และยังส่งเสริมให้ได้รู้จักพืชสมุนไพรไปในตัวอีกด้วย ไม่เพียงนำสมุนไพรมาใช้ทำเป็นยาและอาหาร แต่ยังสามารถต่อยอดสร้างสรรค์มาทำเป็นงานศิลปะได้อีกด้วย

นโยบาย ผอ.กองยาฯ กว่าจะสกัดออกมาเป็นสีสมุนไพร
แต่กว่าที่จะได้มาเป็นสีสมุนไพรให้ศิลปินได้วาดภาพ ก็ต้องผ่านกระบวนการคิดค้นในระดับนโยบาย โดย ภก.สมนึก สุชัยธนาวนิช ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ได้เปิดเผยแนวคิดถึงการใช้สีสมุนไพรมาทำเป็นงานศิลปะว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากศิลปิน 40 คน ได้เข้ามาปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพการใช้สีที่เป็นสีสังเคราะห์ล้วนเป็นปัญหาต่อสุขภาพ จึงเกิดแนวคิดร่วมกันว่าเราน่าจะลองสกัดสีจากธรรมชาติโดยใช้พืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่เรากำกับดูแลอยู่มาสกัดให้เกิดเป็นสี

ภก.สมนึก สุชัยธนาวนิช ผอ.กองพัฒนายาฯ สมุนไพร

จากนั้นให้ศิลปินเหล่านั้นได้วาดภาพระบายสีว่าสามารถใช้ทดแทนกับสีเคมีที่เคยใช้กันแต่เดิมได้หรือไม่ ซึ่งเราเองก็มองไปถึงสุขภาพของกลุ่มเยาวชน นักเรียนในสถานศึกษา ที่จะใช้กันต่อไปในอนาคตเพื่อไม่เกิดปัญหาต่อสุขภาพหรือผลข้างเคียงตามมา

เราจึงให้นโยบายไปสู่ผู้ปฏิบัติ ผู้ใต้บังคับบัญชาในการสกัดสีสมุนไพรซึ่งเป็นกากสมุนไพรของเหลือใช้มากมายในกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพรของเรา แล้วนำสีสมุนไพรที่ได้ไปให้ศิลปินนำไปวาดภาพสร้างงานศิลปะและเผยแพร่การวาดภาพด้วยสีสมุนไพรและให้เด็กๆ เยาวชนได้รู้จักสมุนไพรต่อไป

วัตถุดิบสมุนไพรก่อนสกัดออกมาเป็นสี

ส่วนทีมงานในกองยาที่ร่วมกันสกัดตัวสมุนไพรให้ออกมาเป็นสีสมุนไพรประกอบด้วย คุณวิทูร ยวงสะอาด คุณกฤษณา สุพรรณ และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งกว่าจะได้สีสมุนไพร จนออกมาเป็นเฉดแม่สีต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการต้ม บด และสกัดแห้ง ส่วนการสกัดสีจากพืชสมุนไพรที่ได้มาจะไม่เข้มข้นเหมือนกับสีเคมีทั่วไป อาทิ ความชัดของเม็ดสี ความหนืด ความเข้มข้นของเนื้อสี และความทึบแสงของสี เป็นต้น

ซึ่งการสกัดสีสมุนไพร เพื่อนำมาให้ศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องอาศัยความเป็นธรรมชาติของพืชสมุนไพรเป็นหลัก ไม่ใช้สารเคมีเจือปน ฉะนั้น สีสมุนไพรที่สกัดได้มามีความด้อยเรื่องความทึบแสง เราจึงใช้ส่วนผสมของแป้งเท้ายายม่อมและแป้งมันมาผสมเข้าไปเพื่อให้เกิดความทึบแสง ไม่ตกตะกอนเร็ว และน้ำหนักเบา เวลาลงพู่กัน ไม่หนักมาก

อาจารย์วิเชียร วงศ์ศุภลักษณ์ กับผลงานภาพวาดสีสมุนไพร
อาจารย์สมชาย วัชระสมบัติ กำลังแต่งแต้มสีด้วยสมุนไพร

ยกตัวอย่าง สีเหลืองที่ได้จากขมิ้นชัน เมื่อนำวัตถุดิบขมิ้นมาบดก็จะได้สีเหลืองจากตัวเนื้อขมิ้น แต่ยังไม่ผ่านการสกัด จึงมีไฟเบอร์ มีกากไย เวลาทาระบายสีจะเกิดความหนืด การลงพู่กันก็จะไม่ลื่น ซึ่งเราต้องคิดค้นกรรมวิธีสูตรส่วนผสมอีกมากมายในการดึงสีออกมาจากเนื้อสมุนไพรแต่ละชนิด เพื่อให้เกิดสีสมุนไพร และได้เฉดสี ได้แม่สีสมุนไพรตามที่เราต้องการ จวบจนถึงปัจจุบันเราสามารถสกัดสีสมุนไพรออกมาได้แล้ว 13 สี

“ในอนาคตกำลังคุยกันในเชิงธุรกิจและกำลังทำ MOU กับโรงงานอุตสาหกรรมสี ที่จะช่วยกันสกัดสีสมุนไพรของเหลือทิ้งให้ออกมาเป็นสีที่สะอาด โดยใช้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพรของเรา เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ในงานศิลปะ อาทิ การสอนลูกเด็กเล็กแดงวาดภาพ และเผลอกินสีเข้าปากก็จะไม่เป็นอันตราย เป็นต้น” ผอ. กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กล่าวในท้ายที่สุด