ศิลปะปูนปั้นชุดรามเกียรติ์ เจิดจรัสในคลองบัว ริมถนนราชดำเนิน ประติมากรรมสกุลช่างเมืองเพชร

ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ได้เล่าถึงศิลปะปูนปั้นที่พบบริเวณโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ ที่ในอดีตเคยเป็นแหล่งชุมชนชายฝั่งทะเลตอนใต้ของจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในสมัยลพบุรียังคงพบงานปูนปั้นที่ปราสาทหินวัดกำแพงแลง และมาเฟื่องฟูในสมัยอยุธยา มีหลักฐานที่พบตามวัดเก่าแก่ของเพชรบุรี เป็นต้นว่า วัดสระบัว วัดไผ่ล้อม วัดมหาธาตุวรวิหาร โดยยังมีช่างปูนปั้นทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

งานปูนปั้นเมืองเพชรเป็นการปั้นปูนสด ผิดกับที่อื่นที่นิยมใช้การแกะพิมพ์ ศิลปะปูนปั้นของช่างเมืองเพชรจากอดีตเป็นต้นมานั้นนิยมปั้นสดทุกตัว ลวดลายแต่ละแห่งจึงต่างกันตามชั้นเชิงของช่างปั้น ที่สำคัญช่างปั้นมักปั้นโดยใส่อารมณ์ขันในเชิงทะลึ่งทะเล้นไว้อย่างละเล็กละน้อยเสมอ ทำให้ดูสนุกสนานเพลิดเพลิน

ความงดงามแสดงอารมณ์ดั่งมีชีวิตในประติมากรรมปูนปั้นของสกุลช่างเมืองเพชร

นอกจากนี้ ยังแสดงภูมิรู้ประกอบไว้อีกด้วย เป็นต้นว่า ผลงานของท่านอาจารย์ “ทองร่วง เอมโอษฐ” ช่างปูนปั้นมือเอกของจังหวัดเพชรบุรี ที่หยิบยกประเด็นทางการเมืองของยุคสมัยมาใส่ในงานปูนปั้นเป็นที่เลื่องลือ ทั้งรูปปูนปั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ในท่าแบกฐานพระจนหลังแอ่น รูปนายสมัคร สุนทรเวช คล้องโซ่ตรวนที่ฐานพระในโรงเรียนพรหมานุสรณ์ รูปปูนปั้น พล.อ. สุจินดา คราประยูร สวมหัวโขนรูปสุนัข ที่ฐานพระพรหมรถรางไฟฟ้าเขาวังเพชรบุรี

โดยเฉพาะปูนปั้นริมถนนนั้น คุณอุดมเดช เกตุแก้ว ได้เล่าเรื่องราว “ย้อนรอยต้นทางปูนปั้นรามเกียรติ์คลองบัว ถนนราชดำเนิน เมืองเพชร” ไว้ในนิตยสาร “เพชรนิวส์” ฉบับที่ 115 ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ประติมากรรมปูนปั้นชุดรามเกียรติ์ในคลองบัว ถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองเพชรบุรี ที่ช่างปูนปั้นเมืองเพชรได้รังสรรค์ศิลปะปูนปั้นที่นำบทประพันธ์รามเกียรติ์มาดำเนินเรื่องราว จำนวน 35 ผลงาน ตั้งโดดเด่นอยู่กลางคลองบัว เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น การสร้างผลงานชุดนี้มี คุณชัชวาล สหัสสพาศน์ หรือ ช่างตี๋ ช่างปูนปั้นเมืองเพชรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผู้ประสานงานโครงการริมถนนคนเดินยามเย็นในคลองบัวถนนราชดำเนิน แม้ขับรถผ่านไปมาก็ชำเลืองแลเห็นได้โดยง่าย

ช่างชัชวาล เล่าว่า กว่าจะมาเป็นประติมากรรมปูนปั้นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการที่มี อาจารย์สัญฐาน ถิรมนัส ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะของเมืองเพชรร่วมกับ อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ช่างเฉลิม พึ่งแต่ง ช่างปูนปั้นชื่อดัง ผศ.บุญมา แฉ่งฉายา อาจารย์สอนศิลปะมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และกลุ่มช่างปูนปั้นเมืองเพชรอีกหลายสิบคน มาระดมความคิดที่จะสร้างประติมากรรมปูนปั้นในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มี คุณยุทธ อังกินันทน์ นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมทั้งหมด

อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ได้เสนอวรรณกรรมรามเกียรติ์เป็นเรื่องหลักในการสร้างสรรค์ประติมากรรมปูนปั้นชุดนี้ เนื่องจากวรรณกรรมรามเกียรติ์ได้รับการถ่ายทอดศิลปะการละเล่นหลากหลายแขนง ทั้งนาฏศิลป์ โขน ละคร หนังตะลุง เป็นต้น รวมถึงยังสามารถถ่ายทอดเป็นงานศิลปกรรมสกุลเมืองเพชรอีกหลายชิ้นงาน ทั้งงานปูนปั้น จิตรกรรม แกะสลักได้ทั้งสิ้น เวลาช่างศึกษาการเขียนลายไทย ตั้งแต่กระจังตาอ้อย ลายกนก ประดิดประดอย มาเป็นตัวละคร พระ นาง ลิง ยักษ์ ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ก็อาจเป็นพระพุทธรูป

ภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน

โดยเสนอว่าการคัดเลือกเฉพาะตอนที่จะนำมาปั้นควรคำนึงถึงเรื่องวรรณศิลป์ที่ปรากฏในบทกลอน ผนวกกับประติมากรรมปูนปั้นก่อให้เกิดความงามทั้งด้านวรรณศิลป์และศิลปะ ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงดำเนินการเลือกตอนที่แทรกประเด็นและปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสภาพสังคม เป็นต้นว่า ตอนพาลีสอนน้อง หรือพาลีสอนสุครีพ เมื่อต้องไปรับใช้พระรามจะต้องทำตัวอย่างไร การเป็นลูกน้องที่ดีต้องทำหน้าที่อย่างไรบ้าง

ทั้ง 10 ข้อที่พาลีสอนน้อง สามารถนำมาปรับใช้ในหน้าที่การงานของตนเองได้ ว่าควรจะประพฤติตนอย่างไรกับเจ้านายได้บ้าง แม้แต่บริวารหรือเพื่อนร่วมงาน สมควรจะปฏิบัติให้เหมาะสมอย่างไร หรือตอนอินทรชิตกินนมนางมณโฑผู้เป็นแม่ ทำให้ทราบว่า นมแม่เป็นอาหารวิเศษสำคัญที่สุด

สามารถสร้างศิลปะปูนปั้นหลากหลายรูปแบบเพื่อสืบทอดงานประติมากรรม

ช่างชัชวาล สหัสสพาศน์ ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวแต่ละตอนจากคำกลอนบทละครในรามเกียรติ์ เป็นแนวทางเบื้องต้น นอกจากนี้ ยังศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่อยู่บริเวณพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีภาพเรื่องราวรามเกียรติ์ที่บรรพชนได้เขียนไว้ตั้งแต่ต้นจบจบ แต่ละผนังเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นรายละเอียดของตัวละครชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งมงกุฎศีรษะ อาวุธที่ถือ ชุดหรือเครื่องประดับที่สวมใส่ ว่าประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง

ได้คัดตอนสำคัญที่นิยมเป็นที่รู้จัก และแฝงคติความหมายจำนวน 40-45 ตอน คำนึงถึงภาพจับตัวละคร 2-3 ตัว ถ้ามากกว่านั้นจะค่อนข้างลำบากในการปั้น เพราะแท่นฐานวางผลงานปูนปั้นเหมาะสมกับความกว้างยาวที่มีเพียงตารางเมตรเดียว ซึ่งเพียงพอที่จะไม่กีดขวางทางน้ำ

ช่างชัชวาลย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้เห็นชอบให้ช่างทองร่วง เอมโอษฐ เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างประติมากรรมปูนปั้นชุดนี้ ประสานงานกับครูช่างอีกหลายคนทั้งช่างสำรวย เอมโอษฐ ช่างเฉลิม พึ่งแตง ช่างสมบัติ พูลเกิด เป็นต้น รวมจำนวน 35 คน ตามจำนวนงาน 35 ชิ้น อาจารย์สัณฐาน ให้ความคิดว่า บทละครเรื่องรามเกียรติ์สื่อความหมายชัดเจนถึงการปกครอง การบริหารคน งานบริหารประเทศ เป็นภาพรวมของการปกครองทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการทำศึกสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์เท่านั้น

มีการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงต่อเนื่องกันมายาวนาน

ดังนั้น ในเมื่อจะเล่าถึงสภาพสังคม ก็ควรจะเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ในสังคมไปพร้อมด้วย ประติมากรรมปูนปั้นในคลองบัวจึงพยายามผูกเรื่องทางสังคมมากกว่า แม้แต่ตอนนิลพัททะเลาะกับหนุมาน มีสุครีพเข้ามาห้าม เหตุเกิดจากการสร้างถนนถมหินลงทะเลไปกรุงลงกา ปรากฏว่านิลพัทกับหนุมานเคยมีปมโกรธเคืองกันมาก่อน จึงทะเลาะด้วยการทุ่มหินใส่กัน จนสุครีพต้องมาห้ามปราม ผลงานชิ้นนี้สื่อให้เห็นว่า คนเรามีความคิดเห็นแตกต่างได้ แต่อย่าแตกแยก ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

สำหรับช่างชัชวาล สหัสสพาศน์ แสดงความคิดเห็นว่า
“ปรัชญาและคติธรรมสอนใจทั้งหมด 35 ตอน ไม่ซ้ำกันเลย ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ทั้งหมดทุกช่วงวัย เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปลายทางเรื่องรามเกียรติ์ในแต่ละตอนมุ่งสอนเรื่องใดเป็นสำคัญ เป็นต้นว่า ทำไมหนุมานถึงบุกเมืองบาดาลไปสู้กับไมยราพ มีความหมายซ่อนอยู่ ตัวช่างต้องเข้าใจจึงจะถ่ายทอดผลงานได้ลึกซึ้ง ที่สำคัญรามเกียรติ์มีความงามตั้งแต่กายวิภาค ตัวลายมีความวิจิตรของศิลปะเป็นความสมบูรณ์หมดจดอย่างแท้จริง”