เชือกผูกใบลาน ภูมิปัญญาของบรรพชนไทย

การบันทึกอักษรลงในแผ่นวัสดุต่างๆ แต่ละสมัยมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้เป็นสำคัญ

สมัยเรายังไม่มีสมุดใช้บันทึกเรื่องราว ไทยเรารู้จักทำสมุดข่อยใช้เอง และยังใช้ใบลานแทนกระดาษอีกด้วย หลักฐานยังปรากฏอยู่ตามตู้เก็บรักษาใบลานตามวัดต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ดูแลดีบ้าง และดูแลไม่ดีบ้าง ขึ้นอยู่กับความรักความชอบของเจ้าอาวาสเป็นสำคัญ

เอาเข้าจริงจะโทษเจ้าอาวาสอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องคณะกรรมการที่ไม่เห็นคุณค่าด้วย

ต้องยอมรับว่า ใบลานที่เป็นองค์ความรู้ต่างๆ มากมายตามวัด ต่างเสียหายไปมากโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาทิ เก็บไว้ไม่ดี ทำให้ชำรุดเสียหายไปอย่างน่าเสียดาย และบางวัดไม่มีใครเอาใจใส่ดูแล ทำให้เสียหายไปกับกาลเวลาอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็ต้องทิ้งไปเสมือนไม่มีคุณค่า

การเขียนหนังสือลงบนใบลาน เราชาวบ้านเรียกว่า “จาร” อุปกรณ์จารก็คือเหล็กแหลมๆ ใบลาน ที่จัดเตรียมไว้แล้วเป็นอย่างดี แน่นอนว่าเราชาวบ้านตัดออกมาจากต้นลาน นำมาผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอนกว่าจะมาใช้เหล็กแหลมๆ จารได้ การจารไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องกะวางระยะดีๆ คนจารมือต้องมั่นคง มีสมาธิ ไม่อย่างนั้นจะออกมาไม่สวย และอาจจะอ่านไม่ออกเลยว่าจารอะไรลงไป

ด้วยเหตุนี้ คนสมัยก่อนจึงมีคำสอนกันว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน” ความหมายว่า “ลายมือ” นั้นสำคัญยิ่ง แต่คงไม่ได้หมายความว่าเฉพาะลายมืออย่างเดียว หากแต่หมายถึง ความอดทน ความพยายามฝึกฝนจนลายมือของตนอ่านง่าย สวยงาม และคนที่จะทำอย่างนั้นได้ สมัยเก่าก่อนก็ต้องมีอันจะกินพอสมควร ไม่อย่างนั้นคงไม่มีเวลาไปฝึกจาร เพราะต้องใช้เวลาไปทำมาหากิน ด้วยเหตุนี้เอง ภาระเหล่านี้จึงตกไปอยู่กับพระภิกษุที่คงแก่เรียนไป

ใบลานหลังจากจารเสร็จ ต้องเก็บไว้ในที่สูง คนไทยถือกันว่า หากใครเหยียบย่ำตัวอักษรจะไม่ดี ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะอักษรแต่ละตัวกว่าจะอ่านออกเขียนได้ต้องเอาข้าวตอกดอกไม้ไปไหว้ครูให้ช่วยสอน คติความเชื่อเหล่านี้ ปัจจุบันก็ยังคงเหลืออยู่ ครูบาอาจารย์หลายท่านระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผ่านไปในสถานที่ที่อาจจะต้องเหยียบตัวอักษร ท่านก็เลี่ยงไปเสียทางอื่น เพราะว่าเหยียบไปแล้วจะทำให้ท่านรู้สึกไม่ดี

ใบลานในปัจจุบันแทบไม่มีการ “จาร” กันอีกต่อไปแล้ว เพราะเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาแทนที่จนหมดแล้ว

คนจารใบลานเป็นคงหายากเต็มทีแล้ว เหลือก็แต่ใบลานที่จารไว้ อย่างใบลานที่พบในวัดโขดทิมธาราม และวัดแลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทั้งสองวัดนี้ ในปี พ.ศ. 2561 ยังมีใบลานเก่าแก่หลงเหลืออยู่มาก อายุดูจากรูปตัวอักษร และ พ.ศ. ที่ปรากฏ สืบได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ใบลานเหล่านั้น บันทึกเรื่องราวหลายประการ ทั้งประวัติศาสตร์ ตำรายา กฎหมาย และเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พุทธประวัติ หลักธรรม และบทพระธรรมเทศนา แม้เครื่องมือที่ใช้จะหมดกาลสมัยไปแล้ว หากยังคงคุณค่าอยู่เสมอ ทั้งด้านความรู้และด้านวัตถุโบราณ

กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางไปดูการสำรวจ และเก็บรักษาเอกสารโบราณกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) พบว่า ยังมีเอกสารโบราณอีกมากที่ยังเหลืออยู่ รอให้คนอ่าน และนำเนื้อหาเหล่านั้นออกมาเผยแพร่

นักศึกษาที่เข้าไปดูแลเอกสารโบราณในวัด เริ่มจากทำความสะอาด ถ่ายภาพตัวอักษรเก็บไว้ จากนั้นก็ห่อผ้ารักษาไว้อย่างดี ป้องกันฝุ่นเข้าไปจับ เพราะฝุ่นจะทำลายรูปอักษรให้เลอะเลือนไปได้ง่าย ระหว่างสำรวจพบว่า อักษรที่คนโบราณใช้จาร มีทั้ง อักษรไทย อักษรขอมไทย และอักษรขอม แต่ละผูกทำไว้อย่างเรียบร้อย ดีงาม แต่เนื่องจากกาลเวลา ทำให้ฝุ่นจับอยู่ไม่น้อย

สะดุดตาอย่างยิ่งตรง ใบลานบางผูกแทนที่จะมัดด้วยเชือกธรรมดาๆ กลับเป็นนำเอาใบลานมาตัดเป็นเส้นใช้ผูกอย่างบรรจง ลักษณะการผูกนั้น ไม่ได้ผูกง่ายๆ แบบผูกเชือกทั่วไป หากแต่ถักเป็นรูปคล้ายสานปลาตะเพียน มองแล้วก็ทึ่งในความพิถีพิถันของบรรพชนไทย

ลองถอดออกจากใบลานดู โดยเลื่อนออกจากผูก สามารถเลื่อนออกมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่เมื่อใส่เข้าไปอีกครั้งก็ปรากฏว่าเข้าไปคล่องดี อาจเป็นเพราะว่าใบลานแข็งอยู่ตัวแล้วนั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอายุข้ามยุคข้ามสมัยมาได้นับร้อยปี โดยไม่ผุพังแต่อย่างใด

เชือกผูกใบลานของเก่าแก่ แสดงให้เราเห็นความเอาใจใส่ของบรรพชนของเราว่า การรักษาอักษรในใบลานไว้อย่างดีนั้น ต้องทำอย่างเคารพและละเอียดอ่อนยิ่ง