พริกแกงเผ็ดบ้านหนองเดิ่น ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ประสานใจ สู้ภัยเศรษฐกิจ

พริกแกงเผ็ด เป็นเครื่องปรุงรสอาหารหรือนำไปเป็นส่วนประกอบการทำกับข้าวได้หลายเมนูหรือหลายรายการ เช่น นำไปผัดกะเพรา ผัดพริกแกง แกงส้ม หรือแกงพะแนง

การทำพริกแกงเผ็ด จะทำเพื่อบริโภคในครัวเรือนก็ได้หรือทำในเชิงการค้าก็ดี สูตรการทำก็แตกต่างกันไป สำหรับกลุ่มสตรีบ้านหนองเดิ่น อำเภอหนองมะโมง สมาชิกได้พร้อมใจกันใช้เวลาว่างจากงานในไร่นาสวนหรืองานบ้าน นำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปและถนอมอาหารด้วยการทำพริกแกงเผ็ด เสริมด้วยการทำขนมทองม้วนและไข่เค็มสมุนไพร เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยที่สร้างเสริมรายได้ให้ครอบครัวมีวิถีที่มั่นคง

คุณเฉลย ปิ่นทอง เกษตรอำเภอหนองมะโมง เล่าให้ฟังว่า สภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปในเขตอำเภอหนองมะโมงค่อนข้างแห้งแล้ง อยู่ไกลแม่น้ำเจ้าพระยา 80 กิโลเมตร ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ วิถีเกษตรกรรมต้องอาศัยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เมื่อเกษตรกรเสร็จจากการทำนาก็ว่างงานจึงมีรายได้น้อยไม่พอเพียงต่อการยังชีพเพื่อยกระดับรายได้ต่อการยังชีพ

สำนักงานเกษตรอำเภอหนองมะโมง จึงส่งเสริมให้แม่บ้านหรือสตรีเกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มสตรีแม่บ้านเกษตรกร ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมคิดและร่วมทำด้วยการให้นำวัตถุดิบการเกษตรที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปและถนอมอาหาร เช่น การทำพริกแกงเผ็ด เพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือในเชิงการค้า

คุณป้าคำภีร์ สายแวว ประธานกลุ่มสตรีบ้านหนองเดิ่น ชวนลิ้มรสพริกแกงเผ็ดที่สะอาดถูกอนามัย

สนับสนุนพัฒนาการผลิตสินค้าที่สะอาดถูกหลักอนามัย มีการบรรจุภัณฑ์สวยงามเพื่อได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อป ที่ได้มาตรฐาน การแปรรูปและถนอมอาหารนี้เป็นการสร้างเสริมรายได้จากการทำไร่นาสวน เพื่อก้าวสู่วิถีความเป็นอยู่ที่มั่นคง

คุณป้าคำภีร์ สายแวว (ซ้าย) ประธานกลุ่ม คุณเฉลย ปิ่นทอง เกษตรอำเภอ และขวาสุด คุณป้าพฤษดี วังบุญ ร่วมกันพัฒนาการผลิต

คุณป้าคำภีร์ สายแวว ประธานกลุ่มสตรีบ้านหนองเดิ่น เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝน เกษตรกรที่นี่ส่วนใหญ่ทำนา เมื่อเสร็จงานนาก็ไปรับจ้างตัดอ้อย หรือปล่อยเวลาให้ว่างไปวันๆ และเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงสูง หลายครัวเรือนมีลูกหลานมากขึ้น ต้องกินต้องใช้ จึงมีรายได้ไม่พอเพียงต่อการยังชีพ

ต่อมาเมื่อปี 2547 สตรีแม่บ้านเกษตรกรได้รวมกลุ่มแล้วไปขอจัดตั้งเป็น “กลุ่มสตรีบ้านหนองเดิ่น” ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหนองมะโมง มีสมาชิก 40 คน โดยสมาชิกได้ร่วมลงทุนเป็นค่าหุ้นคนละ 100 บาท ต่อหุ้น หรือมากกว่าและนำเงินทุนนั้นมาใช้ในการแปรรูปและถนอมอาหารเพื่อมีไว้บริโภคในครัวเรือนและขายเป็นรายได้เสริม

กิจกรรมการแปรรูปและถนอมอาหาร ได้แก่ พริกแกงเผ็ด ขนมทองม้วน และทำไข่เค็มสมุนไพร เป็นการนำผลผลิตในท้องถิ่นและซื้อบางส่วนจากตลาด มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ที่เป็นการผสมผสานการผลิตเพื่อลดต้นทุน

วิธีทำพริกแกงเผ็ด

สูตรน้ำหนัก 24 กิโลกรัม มีวัตถุดิบประกอบด้วย 1. พริกเล็กแห้ง 3 กิโลกรัม 2. พริกใหญ่แห้ง 2 กิโลกรัม 3. กระเทียม 3 กิโลกรัม 4. หอมแดง 2 กิโลกรัม 5. กระชาย 3 กิโลกรัม 6. ตะไคร้ 2 กิโลกรัม 7. ข่า 2 กิโลกรัม 8. ผิวมะกรูด 1 กิโลกรัม 9. กะปิ 3 กิโลกรัม 10. ปลาร้าต้ม 3 กิโลกรัม 11. เกลือ 1 กิโลกรัม 12. น้ำปลา 1 ขวด สูตรนี้ไม่นับรวมเกลือและน้ำปลา

พริกแกงเผ็ดนำไปปรุงรสผัดกะเพรารสแซ่บ

วิธีทำ นำพริกเล็กและพริกใหญ่แห้ง ไปล้างน้ำให้สะอาด ตากให้แห้ง นำมาบดให้ละเอียด ส่วนวัตถุดิบชนิดอื่นได้ปอกหรือแกะเอาเปลือกออกล้างน้ำให้สะอาดนำไปซอยหั่นและบดหรือตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาใส่รวมกันแล้วบดผสมให้เข้าเป็นเนื้อกันก็จะได้พริกแกงเผ็ดพร้อมนำไปปรุงรสการทำอาหาร

พริกแกงเผ็ดมี 2 สูตรคือ สูตรที่ไม่ใส่และสูตรที่ใส่ปลาร้าต้มสุกเพื่อให้เป็นทางเลือกกับผู้บริโภค พริกแกงเผ็ดนำไปทำเป็นผัดกะเพรา ผัดพริกแกง หรือแกงพะแนง จะได้รสชาติสุดแสนอร่อย และพริกแกงเผ็ดที่เก็บรักษาไว้ในตู้เย็นจะยืดอายุได้นานเป็นเดือน

คุณป้าพฤษดี วังบุญ เลขานุการกลุ่มสตรีบ้านหนองเดิ่น เล่าให้ฟังว่า นอกจากการทำพริกแกงเผ็ดแล้ว กลุ่มได้แปรรูปและถนอมอาหารเป็นขนมทองม้วนและไข่เค็มสมุนไพร ด้วยการใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในท้องถิ่น

ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มสมุนไพรอาหารคู่ครัว

มีไข่เค็มสมุนไพร

สูตร มีส่วนประกอบ ได้แก่ ไข่เป็ด เกลือ ตะไคร้ ขิง ใบเตย และกระชาย วิธีทำ ล้างไข่เป็ดให้สะอาดพักไว้ นำหม้อใส่น้ำใส่เกลือต้มให้เดือด แล้วใส่สมุนไพรทั้งหมดลงไปต้มให้เดือดแล้วยกลงจากเตาพักให้เย็น วางไข่เป็ดในขวดโหล เทน้ำสมุนไพรใส่ลงไปให้ท่วม ใช้ไม้ขัดกดไว้ปิดฝา อีก 10-14 วันนำไข่ออกจากขวดโหลไปต้ม 20-30 นาที แล้วตักออกมาพักให้เย็นก็จะได้ไข่เค็มคุณภาพคือ ไข่แดงมัน ไข่ขาวเค็มพอดี สะอาดถูกหลักอนามัย พร้อมจัดเป็นอาหารคู่ครัวหรือจัดบรรจุกล่องสวยงามพร้อมขายหรือนำไปเป็นของฝาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน

ขนมทองม้วนและไข่เค็มสมุนไพร ทำกินก็ได้ ทำขายได้เงิน

การร่วมทำกิจกรรม สมาชิกตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปจะมาช่วยกันทำงาน ทุกขั้นตอนการทำพริกแกงเผ็ด ทองม้วนและไข่เค็มสมุนไพร ต้องสะอาดถูกหลักอนามัยและผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พริกแกงเผ็ด ถุงเล็กขาย 10 บาท
พริกแกงเผ็ด ถุงใหญ่ขาย 50 บาท

ตลาด พริกแกงเผ็ดพร้อมบริโภคบรรจุถุงเล็กน้ำหนัก 1 ขีด ขาย 10 บาท บรรจุถุงใหญ่น้ำหนัก 5 ขีด ขาย 50 บาท บรรจุกระปุกเล็กน้ำหนัก 2 ขีด ขาย 25 บาท บรรจุกระปุกใหญ่น้ำหนัก 5 ขีด ขาย 60 บาท ขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดพิษณุโลก ราคา 80 บาท ต่อกิโลกรัม รายได้ส่วนที่เป็นกำไร ส่วนหนึ่งใช้เป็นเงินหมุนเวียนการทำกิจกรรมครั้งต่อไป อีกส่วนหนึ่งปันผลให้สมาชิกเป็นรายได้เสริมเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต

ร้านอาหารซื้อพริกแกงเผ็ด ไปทำอาหารได้หลายเมนู หลายรายการ

คุณป้าคำภีร์ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า นี่คือการ “อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ประสานใจ สู้ภัยเศรษฐกิจ” เป็นการนำผลผลิตการเกษตรที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปและถนอมอาหาร เพื่อบริโภคในครัวเรือนและเพื่อการเสริมสร้างรายได้สู่การมีวิถีชีวิตที่มั่นคง

เส้นทางไปตามหาพริกแกงกลุ่มสตรีบ้านหนองเดิ่น

สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณป้าคำภีร์ สายแวว เลขที่ 47 หมู่ที่ 13 ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท โทร. (063) 105-1723 หรือโทร. (089) 958-8486 หรือที่ คุณเฉลย ปิ่นทอง โทร. (089) 705-4440 ก็ได้นะครับ

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2561