คนที

ระหว่างคนโทกับคนทีน้อยคนนักจะแยกแยะออก

คนทีคือหม้อใส่น้ำขนาดย่อม คล้ายกับกาน้ำที่เราใช้ตามบ้านทั่วไป รูปร่างกลม ก้นมีเชิงสำหรับตั้งวาง คอคอดยาว บริเวณปากกว้าง และผายออก เพื่อสะดวกต่อการใส่น้ำลงไป บริเวณส่วนกลางมีพวยยื่นออกมา เพื่อใช้สำหรับเทน้ำออก

สมัยก่อนเราไม่มีตู้เย็น การใส่น้ำในคนทีซึ่งปั้นมาจากดิน ช่วยให้น้ำเย็นลงได้บ้าง นับว่าเป็นภูมิปัญหาของบรรพบุรุษของเราโดยแท้

ถ้าถามว่า คนทีต่างกับคนโทอย่างไร คำตอบอย่างรวบรัด และได้ใจความตรงเผงคือ คนทีมีพวย แต่คนโทไม่มี

ความนิยมในการใช้ คนโทน่าจะมีคนนิยมใช้มากกว่า เพราะไม่มีพวยยื่นออกมาให้รุงรัง เก็บง่าย ดูแลรักษาง่าย หากเป็นคนทีถ้าคนใช้ไม่ระวัง อาจเอาพวยไปเกี่ยวกับสิ่งของใกล้ตัว ตกแตกได้ง่าย

คนทีเรียกอีกชื่อว่า กุณฑี เป็นเครื่องมือของใช้ชาวบ้านมาแต่เก่าก่อน แม้กระทั่งในศิลาจารึกของขอมโบราณก็ยังมีคำกล่าวถึง เมื่อกล่าวถึงการถวายของให้เทวสถาน มักมีหม้อน้ำ คนโท และคนทีรวมอยู่ด้วย แสดงว่าเป็นเครื่องมือของใช้ที่แพร่หลาย และมีคุณค่า

ส่วนในประเทศไทยมีการขุดพบคนทีตามแหล่งโบราณสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านปะโอ จังหวัดสงขลา และพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีกหลายแห่ง นับเป็นหลักฐานยืนยันความแพร่หลายของคนทีในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

สมัยก่อนคนทีใช้กันอย่างแพร่หลาย อาจเพราะว่า เป็นเครื่องปั้นดินเผา ช่างสามารถทำขึ้นมาได้ง่าย เพียงหาแหล่งดินที่ทำเครื่องปั้นดินเผาได้ดี มีช่างปั้นก็สามารถปั้นออกมาใช้ได้แล้ว

การปั้นคนที เมื่อขึ้นรูปร่างแล้ว ช่างจะทำลวดลายต่างๆ ประดับประดา ลวดลายที่พบมักเป็นลวดลายง่ายๆ เป็นต้นว่า นำกิ่งไม้มาขีดเป็นเส้นๆ สลับกันไปมา หรือไม่ก็ใช้กิ่งไม้เล็กๆ ทาบลงไป เพื่อให้เกิดเป็นรูปรอยต่างๆ

ลวดลายเหล่านี้เอง นักโบราณคดีนำมาศึกษา ค้นคว้า และสรุปเป็นแนวทางการกำหนดอายุ โดยบอกว่า การสร้างสรรค์ลวดลายยุคแรกๆ จะเป็นลวดลายง่ายๆ หยาบๆ ต่อมามีพัฒนาการมากขึ้น  ลวดลายค่อยๆ ซับซ้อน และมีความละเอียด สวยงามมากขึ้นตามลำดับ

สมัยขอมโบราณ คนทีเป็นเครื่องถวายให้กับเทวสถานอย่างหนึ่ง เพื่อให้นักบวช หรือผู้ดูแลใช้ในพิธีกรรม และในชีวิตประจำวัน

คนทีเป็นเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว  เพราะมีเหยือกน้ำ กาน้ำ ทั้งทันสมัยกว่า และดูแลสะดวกว่า แถมไม่ต้องกลัวตกแตก

ร่องรอยการใช้คนทีของเราชาวไทย นอกจากขุดพบตามแหล่งโบราณสถานแล้ว ยังมีชื่อบ้านนามเมืองปรากฏเป็นหลักฐาน เช่น อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม สถานที่แห่งนี้ที่เรียกว่า บางคนที เพราะมีคนปั้นคนทีขาย หรือว่ามีการพบคนทีหรือไรไม่ทราบได้ แต่อย่างไรต้องเกี่ยวข้องการมีอยู่จริง และการมีการใช้จริงคนทีจริงอย่างแน่นอน

ในเนื้อเพลง มนต์รักแม่กลอง ท่อนหนึ่ง ศรคีรี ศรีประจวบ คนแม่กลองหวานแว่วประมาณว่า “สาวงามบ้านบางคนที เอื้ออารีเรียกร้อง ให้ดื่มน้ำตาล และรอยยิ้มหวานของนวลละออง…”

ศรคีรี แม้จะนามสกุลจัดตั้งเป็นศรีประจวบ แต่ความจริงแล้ว เป็นคนจังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติบอกว่า สมัยเด็กๆ เคยขึ้นมะพร้าวอยู่แม่กลอง ต่อมาไปทำไร่แถวๆ ประจวบคีรีขันธ์ ไปประกวดร้องเพลงเข้าตากรรมการ เลยได้นามสกุลจัดตั้งเป็น ศรีประจวบ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สมัยนั้นเป็นผู้ตั้งให้

น่าเสียดายที่ ศรคีรีจากมิตรรักแฟนเพลงเร็วเกินไป

คนทีปัจจุบันหาดูได้ยาก เพราะไม่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สำหรับของเก่าแก่ที่ขุดค้นพบ กลายเป็นของมีค่า มีราคาสูง ยิ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ นักเล่นของเก่ายิ่งปรารถนา นั่นหมายความว่า ราคาถีบตัวสูงขึ้นไปอย่างช่วยไม่ได้

ของบางอย่างยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่า ขณะที่ของบางอย่างยิ่งเก่ายิ่งหมดราคา

สำหรับชีวิตคนเรา ถ้าเรากำหนดได้เองทั้งหมด ยิ่งอายุมากย่อมเหมือนคนทีสมัยเก่าก่อน แต่ถ้ากำหนดตัวเองไม่ได้แล้วยังไหลไปตามกระแสสังคม คงมีแนวโน้มเหมือนสิ่งของอื่นๆ ที่ยิ่งอายุมากยิ่งหมดคุณค่านั่นเอง

ปีใหม่ปีใดก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่ก็ได้  ถ้าคิดแบบเก่า ทำแบบเก่าแล้วดี มีค่าต่อชีวิต สังคม และเพื่อนร่วมโลก