20 ปี แม่ฟ้าหลวงวิชาการ โชว์ “งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง”

ตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ภาคภูมิใจที่ได้สืบสานแนวพระราชปณิธาน “ปลูกป่า…สร้างคน” ของ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ที่อุดมไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งมหาวิทยาลัยในสวน” และเดินหน้า โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางนิเวศของลุ่มน้ำในภาคเหนือและภาคกลาง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นที่พึ่งทางปัญญาแก่สังคมในทุกโอกาส ทำหน้าที่ “ผลิตบัณฑิต” ซึ่งเป็นอนาคตสำคัญของประเทศชาติไปแล้วกว่า 20,526 คน ทำงานอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ภายใต้การนำของ รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มุ่งมั่น “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ และสร้างคุณธรรม” เน้นพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของพี่น้องภาคเหนือตอนบน ตลอดจนประชาคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 มฟล. ตั้งใจเป็นมหาวิทยาลัยของโลก (World University) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ทุกวันนี้โลกกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกวินาทีของ มฟล. เต็มไปด้วยเรื่องราวความท้าทาย พวกเรามุ่งทำงานเชิงรุก เพื่อก้าวสู่เป้าหมายใหม่ที่ท้าทายต่อไปไม่สิ้นสุด” รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าว

20 ปี แม่ฟ้าหลวงวิชาการ

ครบรอบวันสถาปนามหาวิทยาลัยในปีนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดงาน “20 ปี แม่ฟ้าหลวงวิชาการ” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านวิชาการงานวิจัยตลอด 20 ปี ที่โดดเด่นสู่สาธารณชน ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น กิจกรรมเสวนายุทธศาสตร์ชาติกับการสนับสนุนงานวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐ การเปิดตัวสถาบันและนวัตกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การเสวนาการชะลอวัยในศตวรรษที่ 21 การเสวนาเรื่องทิศทางเครื่องสำอางไทยกับการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การแข่งขันวิชาการ MFU Cosmetic Rising Star Contest 2018 ผลงานร่วมกับผู้ประกอบการด้านการแพทย์/สมุนไพร ฯลฯ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดห้องนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านวิชาการงานวิจัยที่โดดเด่นตลอด 20 ปี สู่สาธารณชน ภายในงานมีการนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถ่ายทอดเทคโนโลยีของนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักศึกษา ประชาชน รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ และการต่อยอดทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งผลงานวิจัยหลายชิ้นได้สร้างชื่อเสียง ความภาคภูมิใจให้แก่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กัน

สมุนไพรเพื่อชีวิตมีสุข

“โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา” มีภารกิจหลักในการสะสมพรรณไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดแสดงพรรณไม้ในรูปแบบของสวนที่แตกต่างกัน โดยจัดสร้างสวนวิวัฒนาการ แบ่งประเภทเป็นกลุ่มพืชไม่มีท่อลำเลียง กลุ่มพืชเมล็ดเปลือย และกลุ่มพืชมีดอก

สวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฯ (ภาพจาก มฟล.)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ตั้งใจพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางพฤกษศาสตร์ในลักษณะอุทยานการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ เน้นการอนุรักษ์และเผยแพร่พืชพรรณไม้ต่างๆ ที่หายากของประเทศไทย สำหรับสวนสมุนไพร ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชม ศึกษาหาความรู้ของพืชสมุนไพร จำนวนกว่า 5,000 ต้น 330 ชนิด

โครงการสวนพฤกษศาสตร์นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง โดยนักวิจัยได้หยิบยกพืชสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรตามธรรมชาติไปใช้เป็นยาและเครื่องสำอาง

“ เจ้าคุณวัน”ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากผลงานวิจัย ของมฟล.

“เจ้าคุณวัน” ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ภายใต้แนวคิด “The Power of Nature” ด้วยความเชื่อมั่นในพลังการรักษาจากธรรมชาติที่จะคืนสมดุลแก่ร่างกาย ด้วยคุณค่าของสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผู้บริโภคจำนวนมากจึงนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรเจ้าคุณวันเป็นของขวัญของฝากญาติผู้ใหญ่และบุคคลที่เคารพนับถือ ได้แก่ เจลกากเมล็ดชา ขี้ผึ้งเสลดพังพอน ขมิ้นชัน ยาเขียวหอม ฟ้าทลายโจร เม็ดอมอดบุหรี่โปร่งฟ้า ยาธาตุบรรจบ ยาหอมเนาวโกฐ ขี้ผึ้งมะแขว่น น้ำมันมะแขว่น และสเปรย์มะแขว่นไล่ยุง ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากงานวิจัยพืชสมุนไพร ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้แก่ ‘ครีมบำรุงผิวผสมสารสกัดชันครั่ง’ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและมีสารต้านอนุมูลอิสระทำให้ผิวนุ่ม กระจ่างใส ‘ครีมกันแดด ผสมสารสกัดเปลือกสับปะรด’ ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB ที่เป็นสาเหตุของผิวหมองคล้ำ ‘ครีมกันแดด ผสมสารสกัดเชอรี่กาแฟ’ ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB ทำให้ผิวชุ่มชื้น ดูกระจ่างใส ‘เซรั่มบำรุงเพิ่มความกระจ่างใส ผสมสารสกัดเห็ดหูหนูขาว’ สร้างความชุ่มชื่น ลดริ้วรอย ฯลฯ

ปี 2560 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดตั้งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง สำนักวิชาทันตแพทย์ ต่อมา ปี 2561 รัฐบาลได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรในศูนย์การแพทย์ด้วย ทั้งนี้การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนสิ้นปีนี้ ในปี 2562 พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังใช้เป็นแหล่งฝึกฝนความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

วิจัย…เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคลินิกเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ชื่อ “คลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” นับตั้งแต่ ปี 2555 เป็นต้นมา โดยมีภารกิจหลักในด้านการให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิชาการสู่สังคม เช่น กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดหาผู้เชี่ยวชาญช่วยแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และให้คำปรึกษาด้านการแปรรูปอาหารในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาคุณภาพสินค้าในพื้นที่เชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรในท้องถิ่นและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร ได้แก่

สับปะรดพันธุ์ภูแลอบแห้งด้วยไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน

แปรรูปสับปะรดพันธุ์ภูแลอบแห้งด้วยไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน” ผลงาน ผศ.ดร. พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ และคณะ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น

สับปะรด เป็นสินค้าเกษตรมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย เดิมปลูกมากในเขตตำบลบ้านดู่ ตำบลนางแล และตำบลท่าสุด ประมาณ 4,500 ไร่ เนื่องจากสับปะรดปลูกง่าย ขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 18-20 บาท เกษตรกรจึงแห่ปลูกสับปะรดกว่า 67,924 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ปัตตาเวีย 45,900 ไร่ พันธุ์ภูแล 18,814 ไร่ และนางแล 3,220 ไร่ ปรากฏว่าปีนี้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเกือบ 200,000 ตัน จึงเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรเดือดร้อนมาก เพราะขายสับปะรดไม่ออก ราคาสับปะรดเหลือแค่กิโลกรัมละ 1-2 บาท

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้เข้าไปช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องการอบแห้งสับปะรด โดยใช้ระบบไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถลดระยะเวลาการอบแห้งสับปะรดจากเดิม 25 ชั่วโมง ให้เหลือแค่ 6 ชั่วโมง โดยยังคงมีกระบวนการแปรรูปสับปะรดภูแลอบแห้งที่สะอาด ถูกหลักอนามัย รสชาติเปรี้ยวอมหวาน เหนียวหนึบ อร่อย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค แถมช่วยลดต้นทุนการผลิต และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ยังช่วยปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของสับปะรดภูแลอบแห้งให้น่าสนใจ เพิ่มโอกาสการขายทั้งในประเทศและส่งออก ช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

ติดฉลากบ่งชี้อายุของสับปะรดภูแลที่ตัดแต่งแล้ว

“ติดฉลากบ่งชี้อายุของสับปะรดภูแลที่ตัดแต่งแล้ว” ผลงาน ผศ.ดร. พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ ดร. วิรงรอง ทองดีสุนทร และคณะ ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสับปะรดพันธุ์ภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภคในระหว่างการเก็บรักษา พัฒนาระบบการเปลี่ยนแปลงสีของตัวชี้วัดที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพ และพัฒนาตัวชี้วัดการเสื่อมเสียและอายุการเก็บรักษา เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย โดยสีที่ใช้เป็นอินดิเคเตอร์ (pH-Indicator) คือสีผสมของ สารเมทิล (Methyl) สีส้ม สีแดง และสีเขียว นำมาขึ้นรูปเป็นฟิล์ม สีจะเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการสร้างเอทิลอะซิเตต กรดอะซิติก คาร์บอนไดออกไซด์ และการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ หากสีบนบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีแดง บ่งบอกได้ว่า สับปะรดชิ้นดังกล่าวมีคุณภาพไม่เหมาะแก่การบริโภค

โชว์ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิมะเขือเผา

ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิมะเขือเผา ผลงานกลุ่มนักศึกษาสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมี ดร. ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล และ ดร. จิรัฏฐ์ ศิริเมืองมูล เป็นที่ปรึกษา ได้ร่วมมือกับ บริษัท ชวี่เฉวียน ฟูดส์ จำกัด เป็นผู้ส่งออกของไทย ได้นำมะเขือม่วงดองพันธุ์เซนได ที่ตกเกรดส่งออก นำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะ “ไอศกรีมมะเขือเผา” ที่มีความโดดเด่นจากการผสมผสานกลิ่นมะเขือเผาและกะทิ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไอศกรีม เพียงแค่เทน้ำซอสและรับประทานคู่กับมุกป๊อปก็อร่อยและสนุกได้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการย่อยน้ำตาลแล็กโตส ที่ไม่สามารถรับประทานไอศกรีมที่ทำมาจากนมได้

นวัตกรรมเครื่องดื่มชงร้อนจากเปลือกมังคุดผสมเบอร์รี่
ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล โชว์ผลงานชาจากเปลือกมังคุดผสมเบอร์รี่

นวัตกรรมเครื่องดื่มชงร้อนจากเปลือกมังคุดผสมเบอร์รี่ ผลงาน ดร. ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ที่ศึกษาวิจัยเปลือกมังคุด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่มในลักษณะ“ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชงร้อน” โดยนำเปลือกในของมังคุดผสมเบอร์รี่บรรจุในถุงเยื่อกระดาษ (Tea bag) ทำให้สะดวกต่อการชงดื่ม และผู้บริโภคยังได้สารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ก่อให้เกิดรายได้สู่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

โชว์ผลงานสถาบันชามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ยังมีผลงานทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และสมุนไพร ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและพัฒนานวัตกรรม เลขที่ 333 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100 โทรศัพท์ 053-917-003 โทรสาร 053-917-004 E-mail: [email protected]