พระธาตุห้วยอ้อ พระเจ้าพร้าโต้ และเหตุการณ์ “เมืองแพร่ แห่ระเบิด”

เมื่อพระนางจามเทวี ได้เสด็จจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เรือพระที่นั่งจะขึ้นไปตามลำน้ำปิง แต่ได้หลงขึ้นมาตามลำน้ำยม พระนางจามเทวีจึงตรัสว่า “ไหนๆ ก็ลงมาแล้ว ลองขึ้นไปดูก่อน” จึงเป็นที่มาของชื่อ “เมืองลอง” หรืออำเภอลอง และก่อนที่จะเสด็จกลับ ได้ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกอก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระธาตุห้วยอ้อ เมื่อปี พ.ศ. 1078 เป็นบันทึกตำนานเก่าจาก พระมหาสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อย เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2142

อย่างไรก็ดี พระธาตุห้วยอ้อองค์ปัจจุบัน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2167 โดยพระสังฆราชาเจ้า วัดยอดใจ เมืองแพล (แพร่) แต่สร้างได้เพียงฐาน 3 ชั้น ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2193 พระสังฆราชาเจ้า วัดร่องน้อย เมืองแพล (แพร่) และพระหลวงเจ้า วัดดอนไฟ เมืองนครลำปาง ได้เสริมสร้างต่อจนถึง พ.ศ. 2202 แต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2215 พระมหาเถรเจ้าสุทธนะ วัดนาหลวง เมืองลอง (ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีดอนคำ) ได้สร้างต่อจนสำเร็จ

พระธาตุหน้าพระอุโบสถวัดศรีดอนคำ

ในปี พ.ศ. 2531 พระครูเกษมรัตนคุณ (อดีตเจ้าอาวาสลำดับถัดๆ มา) ได้บูรณะปิดทององค์พระธาตุ ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 พระครูอดุลสารธรรม (อดีตเจ้าอาวาส) ได้บูรณะเปลี่ยนแผ่นทองหุ้มพระธาตุและหุ้มทองยอดพระธาตุ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2559 พระครูสิริวรโสภิต (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) ได้บูรณะปิดทองฉัตร และหุ้มทองยอดพระธาตุ อันที่จริงวัดศรีดอนคำได้รับการจัดตั้งวัดประมาณปี พ.ศ. 2162 โดยได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2476 ได้รับพัทธสีมาขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2476

ภายในบริเวณวัด ด้านหน้าพระธาตุ จะพบพระเจ้าพร้าโต้ ที่แกะสลักด้วยไม้สัก สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2236 เป็นศิลปะแบบพื้นบ้าน โดยฝีมือช่างท้องถิ่นชาวเมืองลอง เหตุที่ได้ชื่อว่า “พระเจ้าพร้าโต้” นั้น เพราะช่างได้ใช้พร้าโต้แกะองค์พระ เพื่อเป็นพระเจ้าทันใจ (สร้างเสร็จภายใน 1 วัน) มีทั้งหมด 5 องค์ (องค์ใหญ่ 1 องค์ องค์เล็ก 4 องค์) ปัจจุบันเหลือประดิษฐานที่วัด 3 องค์ (องค์ใหญ่ 1 องค์ องค์เล็ก 2 องค์) ส่วนองค์เล็กได้นำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จย่า 1 องค์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อีก 1 องค์ ถูกโจรกรรมไป แต่ยังมีพระพุทธรูปองค์เล็กที่แกะจากไม้อีกจำนวนมากกว่า 1,000 องค์ ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งซ่อมสร้างปรับปรุงจากกุฏิของพระครูเกษมรัตนคุณ อดีตเจ้าอาวาส ภายในจัดแสดงพระพุทธรูปที่สำคัญต่างๆ ของทางวัด

หอระฆังภายในวัด

เช่น พระเจ้าเงินพระเจ้าทอง (พระพุทธรูปที่บุด้วยทองคำ และพระพุทธรูปที่บุด้วยเงิน) พระเจ้าแก้วเมืองลอง (พระพุทธรูปที่แกะจากแก้วโป่งข่าม) พระเจ้าเชียงตุง (สร้างด้วยดินเผา) พระเจ้าหน้าคำ (พระพุทธรูปที่บุพระพักตร์ด้วยทองคำ) พระเจ้าแกะจากงาช้าง เป็นต้น และยังมีพระพุทธรูปอีกจำนวนมากหลายรูปลักษณ์ รวมไปถึงภาพวาดพระธาตุประจำปีเกิด ที่บรรจงแต้มลงบนด้านหลังกระจก

นอกจากนี้ ยังจัดพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ในวิถีชีวิตชาวเมืองลองไว้ในห้องโถงอีกด้วย นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในวิถีชีวิตของชาวเมืองลองในอดีต แต่ละชิ้นได้รับมาจากพี่น้องชาวอำเภอลอง เช่น เครื่องแก้ว จานชาม คนโทดินเผา ผ้าซิ่นตีนจก เครื่องมือการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีในอดีต รถจักรยานคันแรกของเมืองลอง พร้อมทั้งใบอนุญาตขับขี่จักรยานกลอง ภาพถ่ายบ้านเมืองในยุคก่อนๆ รวมไปถึงระฆังลูกระเบิด หรือชาวแพร่แห่ระเบิด เป็นกรณีประวัติศาสตร์ ที่เคยเกิดที่เมืองลอง

พระพุทธรูปลักษณะต่างๆ ที่แกะสลักจากไม้ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีดอนคำ

ระฆังลูกระเบิดนี้ ทำจากลูกระเบิดสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้นำติดเครื่องบินมาทิ้งทำลายสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า เพื่อจะสกัดกั้นการเดินทางของกองทัพทหารญี่ปุ่น ที่เดินทางขึ้นสู่ภาคเหนือ แต่ลูกระเบิดไม่แตก สันนิษฐานว่า ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตัดส่วนหางนำดินปืนด้านในทิ้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 นายชาญณรงค์ อินปันดี และนายมา สุภาแก้ว ได้ขุดพบ จึงนำมาไว้ที่บ้านจนถึงปี พ.ศ. 2516 ได้นำมาถวายวัดศรีดอนคำ เพื่อทำเป็นระฆัง โดยนำเข้าร่วมกับขบวนแห่กระทงบ้านดอนทราย หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยอ้อ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยอาจารย์ไวรุคมุณี องค์อารยปภาช มีคณะกรรมการของวัดศรีดอนคำ และประชาชนผู้มีจิตอาสาได้ร่วมช่วยกันจัดสร้าง แล้วเสร็จวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม้แกะสลักประณีตงดงามภายในพิพิธภัณฑ์วัดศรีดอนคำ

สำหรับความเป็นมาของระฆังลูกระเบิด ที่แขวนอยู่บริเวณหน้าพระธาตุห้วยอ้อ ในวัดศรีดอนคำ และวัดนาตุ้ม อำเภอลอง จังหวัดแพร่ นั้น มีเรื่องมีราวเล่าขานปรากฏการณ์สำคัญว่า นายมา สุภาแก้ว และนายชาญณรงค์ อินปันดี นำช้างไปรับจ้างลากไม้ซุง ที่ถูกลักลอบตัดทิ้งไว้บนเขาให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

ในปี พ.ศ. 2499 ขณะกำลังทำงานอยู่นั้น ได้พบเศษเหล็กชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจัดกระจายอยู่ข้างกอไผ่ บริเวณเชิงเขาใกล้ลำน้ำยม ห่างจากสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า ประมาณ 300 เมตร ด้วยความสงสัยจึงได้ขุดดูบริเวณกอไผ่ลึกลงไปราวครึ่งเมตร ได้พบท่อนเหล็กขนาดใหญ่ จากนั้นได้ขุดลงไปอีกราว 2 เมตร จึงเห็นรากไผ่ได้แผ่ขยายหุ้มเหล็กไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อได้พิจารณาดู จึงรู้ว่าเป็นซากระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรนำมาทิ้งทำลายสะพานรถไฟห้วยแม่ต้า อันเป็นสะพานรถไฟข้ามลำน้ำยม เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่น ที่จะขึ้นสู่ภาคเหนือ และจะข้ามแดนไปประเทศพม่า

พระพุทธรูปทรงเครื่องและดาบเหล็กลองในพิพิธภัณฑ์วัดศรีดอนคำ

เมื่อได้ตรวจสอบซากระเบิดที่พบนั้น เป็นระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินแล้วไม่ระเบิด ทหารสัมพันธมิตร จึงได้ทำลาย ด้วยการตัดส่วนหางระเบิดออก เพื่อเอาดินปืนข้างในทิ้ง เพราะไม่สามารถจะนำกลับไปใช้อีกได้ เนื่องจากมีน้ำหนักมาก จึงได้ทิ้งซากลูกระเบิดไว้ในบริเวณดังกล่าว นานวันเข้าจึงถูกดินบริเวณนั้นทับถม เมื่อได้สำรวจขุดดูบริเวณใกล้ๆ กัน ก็ได้พบซากระเบิดอีกลูกหนึ่ง นายชาญณรงค์และนายมาจึงได้ใช้ช้างลากลูกระเบิดขึ้นมาจากหลุม และลากมาไว้บริเวณปางไม้ริมน้ำยม นำขึ้นแพไม้สักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่จะล่องไปแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำมาขึ้นฝั่งบริเวณปากลำห้วยแม่ลาน ในเขตตำบลปากกาง จากนั้นใช้ช้างลากซากระเบิดมาไว้ที่บ้าน ในหมู่บ้านดอนทราย หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยอ้อ โดยแบ่งกันคนละลูก นำไปตั้งไว้ใกล้บันไดบ้าน เพื่อใส่น้ำไว้ล้างเท้า

ในปี พ.ศ. 2516 นายมา ได้นำซากระเบิดดังกล่าวไปถวายวัดศรีดอนคำ เพื่อทำเป็นระฆังเนื่องจากเคาะดูแล้วมีเสียงดังกังวาล โดยได้นำใส่ล้อเกวียนแห่ร่วมกับขบวนครัวทาน (เครื่องไทยทาน) งานประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) ของหมู่บ้านดอนทราย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 โดยขบวนแห่ได้มีการนำฆ้อง กลอง มาตีกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งไปพ้องกับ คำว่า “แพร่แห่ระเบิด” พอดี ส่วนอีกลูกหนึ่ง นายชาญณรงค์ อินปันดี ได้นำไปถวายให้วัดนาตุ้ม อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ข้อมูลดังกล่าวได้มาจาก นายพัฒน์ อารินทร์ บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และ นายชาญณรงค์ อินปันดี บ้านเลขที่ 145 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่

ซากระเบิดที่นำมาใช้เป็นระฆัง

ส่วนความเป็นมาของระฆังลูกระเบิดอีกลูกที่วัดแม่ลานเหนือ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ นั้น นายหลง มะโนมูล และคนงานของสถานีรถไฟดูแลเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีบ้านปินถึงสถานีแก่งหลวง ได้พบซากลูกระเบิดโผล่พ้นดินขึ้นมาในสวนของ นายถา ถนอม ใกล้แม่น้ำยม บ้านแม่ลู่ จึงได้มาบอกให้ นายสมาน หมื่นขัน ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดแม่ลานเหนือทราบ นายสมานจึงได้เดินทางไปดู ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516

จากนั้นจึงจ้างให้คนงานสถานีรถไฟช่วยกันขุดขึ้นมา และได้ช่วยกันยกใส่เกวียนลากมาไว้ที่วัดแม่ลู่ แล้วจ้าง นายหลง มะโนมูล ให้นำเกวียนไปลากจากวัดแม่ลู่นำมาไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ เพื่อทำเป็นระฆังสำหรับใช้เคาะหรือตีในวาระต่างๆ เป็นต้นว่า เรียกประชุมชาวบ้าน เคาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ หรือเมื่อทางวัดจัดงานประเพณี คุณพัฒน์ อารินทร์ และ คุณสมาน หมื่นขัน บ้านเลขที่ 92/6 หมู่ที่ 14 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นผู้ให้ข้อมูล