สุรามิด ดอกไม่หอมงาม นามเมา เกเร หอมเสน่ห์ที่เปลือกต้น แต่ถูกคน…ปอกลอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum Spp.

ชื่อวงศ์ LAURACEAE

ชื่อสามัญ Cinnamon

ชื่ออื่นๆ อบเชย สะวง (ปราจีนบุรี) ฝักดาบ (พิษณุโลก) กระเจียด (ยะลา) พญาปราบ (นครราชสีมา) บอกคอก (ลำปาง) โมงหอม กระแจงโมง (ชลบุรี)  มหาปราบ (ภาคกลาง) อบเชยไทย

ดิฉันไม่ใช่คนโลกสวย แต่ก็คิดมากในเรื่องชื่อที่คนเรียกแต่ละภาค แต่ละจังหวัด จึงมีชื่อแปลกๆ มากมาย แต่ชื่อที่คนเรียกและรู้จักมากที่สุดคือ “อบเชย”  ซึ่งผู้คนที่เป็นพ่อบ้านแม่บ้านหรือคนปรุงอาหารต้องรู้จักแน่นอน แต่ถามวัยรุ่นที่อายุไม่เกินยี่สิบ จะตอบว่าเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่เคยเห็นตัวจริง

ถ้าใครเคยกินพะโล้ ก็คงได้กลิ่นตัวดิฉัน หรือกินพริกแกงกะหรี่ก็ได้กลิ่นเครื่องเทศ นั่นแหละ มีดิฉันอยู่ในเครื่องปรุงนั้นด้วย แม้จะไม่เคยเห็นดิฉันเป็นชิ้นเป็นแท่ง เพราะเดี๋ยวนี้ในเชิงการค้าอุตสาหกรรมอาหาร เขาเอาเปลือกต้นดิฉันไปผ่านกรรมวิธีแล้วบดเป็นผงผสมเครื่องปรุงอาหาร ผสมยา ผสมเครื่องสำอาง เนื่องจากในเปลือก ต้น เนื้อ ดิฉัน มีสารเคมีและน้ำมันหอมระเหยกลิ่นเฉพาะตัว และมีสรรพคุณ มีประโยชน์ต่อร่างกายคนมากมาย

ดิฉันเป็นต้นไม้ที่มีคนรู้จัก และเป็นไม้โบราณโดยมีประวัติมีชื่ออยู่ในมหาชาติคำหลวง สมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.1893-2163 ถึงปัจจุบันนี้ ก็มีนักวิชาการ เสนอส่งเสริมให้ ไม้อบเชยไทย ได้รับการอนุรักษ์ในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากทั้งส่วนใบและเปลือกต้นมีกลิ่นหอม ใช้เปลือกเป็นเครื่องเทศ เครื่องหอมทำยามาแต่โบราณกาล เนื่องจากดิฉันเป็นไม้ยืนต้นขึ้นกระจายทั่วประเทศ และภูมิภาคแถบเอเชีย สกุลพันธุ์อบเชยจึงมีจำนวนมาก แต่ในเชิงการค้าเศรษฐกิจก็มี อบเชยจีน อบเชยญวน อบเชยเทศ และอบเชยไทย หรืออาจจะเรียกอบเชยชวา

สำหรับชื่อ “สุรามิด” ก็เป็นชื่อที่ชาวสุโขทัยเรียกขาน ดิฉันเลือกชื่อนี้เรียกตัวเอง เพราะสอดคล้องกับชื่อ “สุรามะริด” ที่ อาจารย์เต็ม สมิตินันท์ เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2523

ดิฉันไม่ได้หวงตัวหรอก แต่ก็กลัว เพราะพอดิฉันอายุได้ 7 ปี ก็มีคนมาลอกเปลือกต้นดิฉันออกเป็นทางยาวกว่าฟุต กว้างกว่าฝ่ามือ แล้วปล่อยให้ดิฉันต้องพอกเปลือกใหม่ให้เนื้อเต็ม แล้วเขาก็ขยับไปลอกเปลือกอีกด้านหนึ่ง ทำเช่นนี้เกือบรอบต้น บางครั้งเจอคนโหดร้ายลอกเปลือกกว้างรอบต้นจนเพื่อนดิฉัน “เคยตายแล้วหลายต้น” ยังพูดว่า อบเชยไทยเปลือกหนาดี แต่หอมน้อย พันธุ์ดีที่สุดคือพันธุ์ศรีลังกา แต่ยังดีที่ดิฉันเป็นพันธุ์ไทย สวย หอมกว่าพันธุ์สาวจีน

นักวิชาการคัดเลือกคุณภาพต้นกล้าดิฉัน โดยการเคี้ยวใบชิมน้ำมัน พิจารณารสหวาน รสเผ็ด เพราะบางพันธุ์รสและกลิ่นแรง ถ้าเขาจะขยายพันธุ์เขาก็ตัดชำกิ่ง เสียบยอด เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เขาออกสำรวจเพื่อรวบรวมเก็บตัวอย่างพันธุ์ ที่ อช.เขาสก สุราษฎร์ธานี เขาบรรทัด ตรัง จะหาแหล่งเมล็ดหรือต้นกล้าก็หายาก เพราะทั่วไปทุกภาคชาวบ้านมักจะตัดโค่นต้นล้มตาย แต่ก็ยังได้พันธุ์จาก อช.ห้วยขาแข้ง อุทัยธานี อช.น้ำหนาว ชัยภูมิ อช.สุเทพ-ปุย เชียงใหม่   จึงมีการเก็บรวม ตอ เหง้าเล็กๆ ไว้เป็นต้นพันธุ์ศึกษาต่อไป

แม้จะเรียก “สุรามิด” แต่ดิฉันไม่ติดสุรา มีคนปอกลอกเปลือกหนาๆ ไปผสมยา ทำเครื่องหอม ใครผอมก็กินพะโล้ ทุกคนเรียกชื่อโก้ๆ มานานยาว ว่า…นางสาวอบเชย…