“เถาวัลย์เปรียง” สุดยอดสมุนไพรบรรเทาปวดเมื่อย

“เถาวัลย์เปรียง” สุดยอดสมุนไพรบรรเทาปวดเมื่อย บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติฯ แล้ว

จากการเปิดเผยข้อมูลโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า “เถาวัลย์เปรียง” เป็นสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยรู้จักใช้กันดี ปรากฏอยู่ในตำรายาแพทยศาสตร์สงเคราะห์ในหลายคัมภีร์ เป็นสมุนไพรที่มีความถี่ในการใช้และปรากฏในตำรายาสูงมากชนิดหนึ่ง โดยใช้เถาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้กษัยแก้เหน็บชา ถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายกษัย แก้เส้นเอ็นขอด แก้เมื่อยขบ ทำให้เส้นหย่อน แก้ปวด แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคบิด แก้โรคหวัด แก้ไอ ขับเสมหะ  ถ่ายอุจจาระ บีบมดลูก สรรพคุณเหล่านี้คล้ายคลึงกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านทั่วไป

กระทั่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2535 คุณแม่ลีสี แซ่เอี้ยว ปัจจุบันท่านมีอายุ 92  ปี เป็นคุณแม่ของ ภญ.พัชรี ศรานุรักษ์ (ปัจจุบันรับราชการที่โรพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ) ในปีนั้น ท่านได้มาพบกับตน และออกปากฝากสมุนไพรชนิดหนึ่งไว้ว่าอย่าให้สูญไป ยาตัวนั้นก็คือ เถาวัลย์เปรียง ซึ่งท่านได้ความรู้มาจากซินแส ที่จังหวัดราชบุรี โดยใช้เป็นยาแก้ตกขาว ท่านบอกให้คนรักษาตัวเองหายมาแล้วหลายราย ไม่ใช่เฉพาะตกขาวอย่างเดียว ตกเหลืองตกเขียว ตกแดงช้ำๆ ก็กินหายมาแล้ว ต่อมามีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเถาวัลย์เปรียงมากขึ้น พบว่า มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้นกันซึ่งอาจจะเป็นกลไกที่ช่วยให้อาการตกขาวดีขึ้น

เถาวัลย์เปรียง หรือ เครือตาปลา

ต่อมาในปี 2536  มีคุณยายอายุ 70 ปี ที่รู้จักคุ้นเคยกัน ได้มาปรึกษาว่า ป่วยด้วยโรคปวดเข่า แต่กินยาแก้ข้ออักเสบไม่ได้ เพราะมีผลข้างเคียงจนเป็นโรคกระเพาะ ตนจึงได้ทำยาเถาวัลย์เปรียงให้ลองกิน ปรากฏว่าช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าของคุณยายได้พอสมควร และช่วงเวลานั้นพบว่า มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการยาแก้ปวดเมื่อยปวดข้อที่ไม่มีผลข้างเคียงเช่นที่เกิดจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน เมื่อรู้ว่าเถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่คนโบราณใช้กันมานานเพื่อรักษาโรคกษัย แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นตึง และยังมีการต้มกินเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะ และตรวจสอบข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่าเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเป็นยาแก้ปวดเมื่อย แต่เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย จึงได้ส่งเถาวัลย์เปรียงให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ เมื่อพบว่าไม่มีพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง จึงพัฒนาเถาวัลย์เปรียงในรูปแคปซูลแก้ปวดเมื่อยขึ้นใช้ในโรงพยาบาล

“จากนั้นมีงานวิชาการพบว่า เถาวัลย์เปรียง มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง หวัด ภูมิแพ้ และยังผ่านการทดลองทางคลินิก ซึ่งเป็นการทดลองในคน ในการแก้ปวดจากเข่าเสื่อม โดยเปรียบเทียบกับ “นาพร็อกเซน” (ยาต้านการอักเสบแผนปัจจุบัน) แล้วพบว่าได้ผลไม่แตกต่างกัน และในการแก้ปวดหลังระดับเอว เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน คือ ยาไดโคลฟีแนค พบว่าได้ผลไม่ต่างกันอีกเช่นกัน มิหนำซ้ำเถาวัลย์เปรียงยังมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ทำให้ปัจจุบันแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

ยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง โดย อภัยภูเบศร
และว่า เถาวัลย์เปรียง หรือ เครือตาปลา จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบของยาแก้การปวดเมื่อยที่ปลอดภัย และยังใช้เป็นยารักษาโรคภัยอื่นๆได้อีก เป็นการยืนยันว่าภูมิปัญญาไทยใช้ได้จริง ถ้าคนไทยใส่ใจไม่ทอดทิ้ง