ผู้เขียน | บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ |
---|---|
เผยแพร่ |
จังหวัดแพร่ 1 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหรือภูเขาสลับซับซ้อน จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายชนเผ่าอาศัยอยู่บนที่สูงเฉพาะกลุ่มเป็นชุมชน…มีจำนวน 8 ชาติพันธุ์ 1 ใน 8 คือ กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี หรือมละบรี อาศัยอยู่ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอสอง ที่บ้านท่าวะ และอำเภอร้องกวาง บ้านห้วยฮ่อม
ผมขอทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า แต่ก่อน เราอาจเคยได้ยินการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ตองเหลือง บ้าง หรือผีตองเหลืองบ้าง ซึ่งชื่อดังกล่าวถูกเรียกโดยคนภายนอก จะด้วยความเข้าใจเอาเองหรือพูดต่อๆ กันไปก็ตามที แต่คนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “มละ” การไม่เรียกชื่อ ตองเหลือง หรือผีตองเหลือง กับกลุ่มของเขาถือเป็นการให้เกียรติ
ที่หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเกริ่นนำก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ข้อมูลในเบื้องต้น และทำความเข้าใจกับ “ชนเผ่ามละ” (ในบทความนี้ผมขอใช้คำชนเผ่า (Tribo) ซึ่งหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำเนิดในท้องถิ่นนั้น มีวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม ภาษาเป็นของตนเอง แม้เดิมทีชนเผ่ามละจะอพยพเคลื่อนย้ายมาจากสายะบุรี สปป.ลาว แต่ปัจจุบันตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งแล้ว) ว่าเขาคือคนไทย แม้จะอยู่ต่างถิ่นมีวิถีชนที่แตกต่าง เขาก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียม ปัจจุบัน ทุกคนมีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เช่นกัน เด็กๆ ได้รับการศึกษาภาคบังคับจากโรงเรียนของรัฐเช่นเดียวกัน มีการประกอบสัมมาชีพ เพื่อการดำรงชีพตามสถานภาพของตนเองทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม
เมื่อครั้งที่ผมทำหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขแพร่ จำกัด ได้ไปมอบทุนเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาจากทุนสาธารณประโยชน์ของสหกรณ์ให้แก่โรงเรียนบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา การคมนาคมในขณะนั้นค่อนข้างจะลำบาก 20 ปีล่วงเลยไป มีสิ่งดลใจให้ผมและครอบครัวได้เข้าไปศึกษาวิถีชีวิต การทำมาหากินของชนเผ่ามละอีกครั้ง ผมได้เดินทางไปที่บ้านห้วยฮ่อมพัฒนา อำเภอร้องกวาง ตามเส้นทางที่จะไปอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ถนนหนทางค่อนข้างคดเคี้ยว ลาดชันไปตามไหล่เขาที่สูง เบื้องหน้าเป็นขุนเขาสูงทะมึนคือเทือกเขาผีปันน้ำตะวันออกกั้นเขตจังหวัดแพร่-น่าน
แต่ถนนที่ก่อสร้างอย่างดีลาดยางตลอดสาย จึงทำให้การเดินทางสู่จุดหมายอย่างปลอดภัยด้วยระบบ GPS ก่อนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านของมลาบรีจะผ่านโรงเรียนบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปมากทีเดียว ขับรถเลยจากโรงเรียนไปก็จะเข้าสู่หมู่บ้านของชาวม้งที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่อย่างหนาแน่น ลดหลั่นตามไหล่เขาสูงชัน เหนือขึ้นไปก็คือชุมชน ชนเผ่ามละหรือมลาบรี…ผมไปที่บ้านบุญยืน
ผมได้เดินดูบริเวณที่ตั้งชุมชนเผ่ามละ ซึ่งตั้งบ้านเรือนบริเวณรอบลำธารสายน้ำที่ใสไหลเย็น ทราบว่ามีน้ำตลอดปี ทักทายกับชนเผ่ามละก็มีอัธยาศัยที่ดี จากนั้นได้พบและสนทนากับ คุณอุดม สุขเสน่ห์ ซึ่งเป็นลูกชายของ คุณบุญยืน สุขเสน่ห์ นักบุญชาวอเมริกัน ปัจจุบันคุณอุดม อายุ 42 ปี มีบ้านอยู่ร่วมชุมชนกับชนเผ่ามละ หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง โทร. (086) 420-4956 หรือ LINE ID: 0864204956 ผมได้ขอข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีความเชื่อ พิธีกรรม ภาษาและการดำรงชีวิตของชนเผ่ามละ เพื่อให้การสื่อสารเป็นได้ด้วยความถูกต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน (ฉบับนี้ขอนำมาเสนอเฉพาะวิถีชนและการประกอบอาชีพของชนเผ่ามละ นะครับ)
ชนเผ่ามละ @ บ้านบุญยืน
คุณอุดม เล่าว่า ปัจจุบันชนเผ่ามละอยู่กันเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่มที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบุญยืน มีจำนวน 28 หลังคาเรือน 39 ครอบครัว จำนวนประชากร 100 คน แยกเป็นเพศชาย 48 คน เพศหญิง 52 คน โดยคุณพ่อบุญยืน สุขเสน่ห์ ได้ใช้ความพยายามอยู่หลายปีในการสร้างความไว้วางใจให้แก่ชนเผ่ามละ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ ในป่า ให้มาตั้งหลักปักฐานเป็นหลักเป็นแหล่ง ณ ที่แห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยคุณพ่อจัดซื้อที่ดินแล้วแบ่งปันให้แต่ละครอบครัวปลูกบ้านกันเองตามที่ต้องการและมีที่ดินให้ทำการเกษตร
การดำรงวิถีชีวิตของชนเผ่ามละ มีวิถีชีวิตอยู่แบบพออยู่พอกิน ชอบอิสระ ชอบโดดเดี่ยวอยู่เฉพาะกลุ่ม เป็นคนขี้อาย หรือขี้อายบวกความเหนียมอายเมื่อพบปะผู้อื่นจากต่างถิ่น มีสิ่งที่ดีงาม คือชอบการแบ่งปัน แม้วันเวลาจะหมุนเปลี่ยนไป แต่ในวิถีชีวิตของชนเผ่ามละที่พวกเรายังต้องการดำรงไว้ คือการมีอัตลักษณ์ของชนเผ่าในเรื่องภาษา วิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาป่า เป็นคนของป่า ถ้าเทียบเคียงกับสังคมชนอื่นๆ พวกเขามีความผูกพันอยู่กับป่ามากกว่า มีความเป็นคนของธรรมชาติ ไม่เคยทำลายป่า ไม่สร้างปัญหาให้กับธรรมชาติหรือป่าไม้ นี่คือจุดเด่นของชนเผ่ามละ ที่ควรปกป้องไว้
แต่ก่อนชนเผ่ามละดำรงชีพด้วยการหาของป่าเพื่อยังชีพ ไม่มีอาชีพ…มีเพียงรับจ้างชาวม้งในพื้นที่ทำไร่ทำสวน แลกกับค่าตอบแทนเป็นอาหารและ/หรือสัตว์เลี้ยง แต่ชาวม้งก็ได้ให้ประสบการณ์การเรียนรู้การประกอบอาชีพทางการเกษตร จนต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นอาชีพของตนเองมาทำไร่ปลูกข้าวดอย ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ (ไก่ หมู) ไว้กิน หรือขายบ้างเป็นบางครั้ง
ธรรมชาติของชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง
คุณอุดม เล่าว่า จากความเชื่อของชนเผ่ามละแต่เดิมที่ว่าการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เป็นสิ่งไม่ดี “แต่เมื่อชีวิตที่หากินกับป่าจนอาหารในป่าเริ่มหมดลง แต่พวกเขาต้องดำรงชีวิตต่อไป ต้องการอาหารและทุกอย่างที่ครองชีพ จึงต้องหาลู่ทางในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของเขาดีขึ้น” ปัจจุบันชนเผ่ามละได้รับการพัฒนาวิถีชนทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม คืองานถักเปลญวน
คุณอุดม เล่าให้ฟังอีกว่า การถักเปลญวนเป็นแนวความคิดของคุณพ่อบุญยืน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ชนเผ่ามละ ไม่รู้จักการใช้เงิน ถึงทำมาหาเงินมาได้ก็ใช้ไม่เป็น ไม่เห็นค่าของเงิน อดีตจึงได้รับค่าจ้างเป็นของกิน เมื่อได้นำพวกเขามาอยู่เป็นหลักแหล่งไม่เคลื่อนย้ายอพยพไปยังที่ต่างๆ นอกจากจัดพื้นที่ให้ทำกินแล้ว ชนเผ่ามละทุกครอบครัวต้องมีรายจ่ายซื้อของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จากเดิมที่ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนนำของป่าไปแลกกับเกลือ ซึ่งเป็นของหายาก หรือข้าวแลกกับเสื้อผ้า แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ใช้เงินเป็นสื่อในการซื้อขายแทน เมื่อได้เงินคุณพ่อต้องสอนวิธีการใช้เงินแบบยั่งยืน และสอนการหาเงินการซื้อการขาย จึงพยายามส่งเสริมให้ชนเผ่ามละหารายได้ที่ไม่กระทบต่อวิถีชนดั้งเดิม ไม่ต้องไปรับจ้างเข้าสู่ระบบแรงงาน
“ชนเผ่ามละ ประสงค์จะอยู่กับครอบครัว อยากใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ขอทำการเกษตรไป ปลูก เก็บ เกี่ยว สีข้าวไว้กินตลอดปี ใช้เวลาว่างวันละไม่กี่ชั่วโมงถักเปลญวน บางคนถักวันละเล็กละน้อยก็มีรายได้ ไม่ต้องมีความเสี่ยงผูกติดอยู่กับการเกษตรเพียงอย่างเดียว เขาก็อยู่ได้ มีรายได้ไม่ขาดมือ เพียงพอกับการซื้อข้าวของเครื่องใช้ อยู่ได้อย่างยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิตตามอัตภาพของชนเผ่า ปัจจุบันชนเผ่ามละมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ จากการได้รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ทำให้ชนเผ่ามละ เริ่มรับรู้เรื่องราวต่างๆ รู้เท่าทันภายนอกแล้ว”
จุดประกายการถักเปลญวน
คุณอุดม เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อและตนเอง พยายามแสวงหาอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชนเผ่ามละ ว่าจะมีอาชีพใดที่ถ้าประกอบการไปแล้วจะไม่ไปกระทบกับอาชีพเดียวกันของคนในท้องถิ่น คิดๆ ไป…อาชีพสานไม้ไผ่ก็มีคนทำแล้ว ทำไม้กวาดก็มีคนทำ อาชีพช่างก็มีแล้ว จึงคิดถึงเปล เปลญวน (Hammock) นี่แหละ เคยได้ยินเพื่อนๆ กล่าวถึง คุณอุดมจึงวางแผน จัดการสื่อสารกับผู้ที่ประสงค์จะถักเปลซึ่งทั้งหมดจะเป็นผู้หญิงที่สนใจการถักเปล จัดหาวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ประกอบด้วยฝ้ายดิบที่มีคุณภาพ สั่งซื้อจากกรุงเทพฯ ด้ายสังเคราะห์ที่ย้อมสีมาแล้วหลากหลายสี ต้องใช้เวลาในการฝึกให้พวกเขาถักจนเข้าที่เข้าทางพอจะนำออกขายได้ แรกๆ ก็ยากลำบากหน่อย ระยะต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งซื้อหรือมีตัวอย่างมาให้ หรือผู้ซื้อเสนอรูปแบบมาให้ ไม่ว่าจะเป็นสี ขนาดกว้าง ยาว จำนวนเส้นด้ายที่จะต้องใช้กับแบบนั้นๆ คุณอุดมจะแจกจ่ายงานให้แก่ชนเผ่าว่าใครจะรับงานไปทำ “เปลญวน 1 หลัง ก็รับทำนะครับ ดีเสียอีกที่ผู้ซื้อเขาจะภูมิใจที่เขามีส่วนร่วมรู้สึกเป็นเจ้าของเปลที่ออกแบบนั้น”
ผลิตภัณฑ์คือเปลญวนที่ผลิตแล้ว ต้องมีคุณภาพ ผู้ซื้อต้องการของดีๆ สีตามที่สั่ง ฝีมือดี คุณอุดมเป็นผู้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพของเปลญวน เขากล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบคุณภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ผู้ที่ถักเปลญวนมักจะคิดว่าตัวเขาเองก็ถักดีแล้ว แต่เมื่อเปลญวนหลังนั้นจะต้องส่งไปขายยังต่างประเทศ ขนาดของเปล สี จำนวนเส้นด้าย ได้ถูกกำหนดไว้แล้วตามแบบ หากไม่ได้คุณภาพคนถักก็จะคิดว่าตนเองถูกรังแก ต้องใช้เวลาในการอธิบายยกตัวอย่างอย่างนั้น อย่างนี้ มาสร้างความเข้าใจ
คุณอุดม บอกว่า ต้องใช้วาทศิลป์ในการอธิบายว่าเปลญวนที่ถัก เราไม่ได้ถักไว้ใช้เองนะ ต้องการให้พวกเขาโชว์ฝีมือให้เต็มที่ โดยยกตัวอย่างให้เขาคิดถึงใจเขาใจเราว่าถ้าเราต้องไปซื้อของในเมือง ก็ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ สวย เป็นที่ถูกใจ ฉันใดก็ฉันนั้น บางครั้งก็จะยกคำถามให้เขาคิดว่าเราอยากเห็นคนสวยๆ ไหม เขาก็จะนึกถึงคนสวยงามในความคิดของเขา เขาจึงยอมรับ” ก็มีวิธีวัดใจอีกวิธีการหนึ่ง คือตัวคุณอุดมในฐานที่ต้องตรวจคุณภาพเปลญวนทุกหลัง หากตรวจผ่านจ่ายเงินทันที ถ้าส่งขายต่างประเทศไม่ได้ตนเองรับผิดชอบยอมเสียเงินไป แต่ระยะหลังก็ดีขึ้น เพราะเขาเชื่อใจ รู้สึกว่าไม่ได้ถูกรังแกดั่งที่เคยคิดก็จะเกิดความตั้งใจที่จะทำงานชิ้นนั้นให้ได้คุณภาพเพราะส่งงานแล้วได้เงินทันทีไม่ต้องรอ
คุณอุดม ยังกล่าวอีกว่า งานถักเปลญวนต้องใช้ทักษะและความประณีตอย่างมาก ผลิตแล้วต้องได้มาตรฐาน และได้ตามแบบหรือตัวอย่างที่ผู้สั่งซื้อต้องการ คำว่า “มาตรฐาน” จึงเป็นความรู้ใหม่ของชนเผ่านี้ “แรกๆ ดูเหมือนง่าย แต่ผมไม่ทำ คิดดูนะครับ 1 วัน ถักเปลญวนได้ 1 หลัง 400 บาท ถ้าเราหักเงินเขาก็จะไม่รู้จักคุณค่า หรือมาตรฐานของงานฝีมือ ต้องเกลี้ยกล่อมให้เขาอดทนมีความเพียรให้ถักไปให้ได้ตรงตามมาตรฐาน เพื่อกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นมาสู้” พูดถึงขีดความสามารถในการถักเปลญวนนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การเอาใจใส่ของผู้รับมอบงานแต่ละคน “บางคน 1 วันก็ถักได้ 2 หลัง บางคน 1 หลัง ใช้เวลา 2 วัน เพราะเขาต้องแบ่งเวลาไปทำการเกษตรเป็นการกระจายความเสี่ยงไม่ใช้เวลาไปในทางใดทางหนึ่งมากเกินไป” คุณอุดม กล่าว
กล่าวถึงในด้านการตลาดบ้าง คุณอุดม เปิดเผยว่า เปลญวนเป็นหัตถกรรมที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศชื่นชอบมาก เขาไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะพบเห็นได้ในประเทศไทย เขาคิดว่าเป็นเปลที่ส่งมาจากประเทศในแถบอเมริกาใต้ ทำไมมีวางขายในแหล่งท่องเที่ยวของไทย เช่นที่ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวลักษณะนี้ มีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยว จะหมุนเวียนกันมาตลอด
ต่อมาก็เริ่มจัดส่งไปขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในแถบยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ยั่งยืน สำหรับวิธีการขายนั้น คุณอุดม บอกว่า แรกเริ่มก็ขายยากอยู่เหมือนกัน ต้องคิดค้นรูปแบบในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เสริมเข้าไป จึงได้ข้อสรุปว่า เราจะขายเปลญวน + ความเป็น “มลาบรี” ไปกับผลิตภัณฑ์เปลญวน เล่าเรื่องวิถีชนเผ่า นักท่องเที่ยวให้ความสนใจซื้อไปเป็นของที่ระลึก จนเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวจากการพูดกันแบบปากต่อปาก
เสร็จสิ้นจากชุมชนเผ่ามละ ผมไปหาข้อมูลต่อที่ศูนย์พัฒนาราษฎรพื้นที่สูง จังหวัดแพร่ ได้พบกับ คุณสุมินตรา สุวรรณกาศ นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ กองพัฒนาสังคม กลุ่มเป้าหมายพิเศษ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โทร. (054) 521-728 ได้ให้ข้อมูลว่าในจังหวัดแพร่ มีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด 8 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ชาติพันธุ์อาข่า ม้ง กะเหรี่ยง มลาบรี ไทใหญ่ ไทลื้อ อึมปี้ และชาติพันธุ์ไทพรวน จำแนกเป็นชนเผ่าได้ 4 ชนเผ่า ได้แก่ ชนเผ่าอาข่า ม้ง ตองเหลือง และชนเผ่ากะเหรี่ยง
ตามเอกสารของศูนย์ระบุว่า ชนเผ่ามลาบรี (Mla Bri) คนภายนอกจะรู้จักกันในชื่อเผ่าตองเหลือง แต่ชนเผ่านี้อยากให้เรียกพวกเขาว่า “ชนเผ่ามละ” (คำนี้อ่านควบกันทั้งสองพยางค์ทีเดียว) ไม่ใช่ “มลาบรี” ที่หมายถึงคนป่า เพราะพวกเขาไม่ใช่คนป่า พวกเขาเพียงใช้ชีวิตอยู่ในป่าเท่านั้น หรือเป็นชื่อที่พวกเขาเองไม่ได้ใช้เรียกกับตัวเอง แม้ภายหลังเริ่มมีคำว่าผีตองเหลือง เป็นคำที่คนอื่นตั้งชื่อให้พวกเขา ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผีเขาก็เป็นมนุษย์ คำนี้เป็นคำที่ “ชนเผ่ามละ” ไม่ชอบ การไม่เรียกชื่อผีตองเหลืองกับพวกเขาถือเป็นการให้เกียรติ ดังนั้น ชื่อมละจึงเป็นคำที่ชนเผ่านี้ใช้เรียกชนเผ่าของตนเอง ส่วนคำว่า บรี นั้น หมายถึง ป่า ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งมาเพิ่มตอนหลัง จึงทำให้เกิดคำว่า มลาบรี (Mla Bri)
ในอดีตนั้น ชนเผ่ามละ อาศัยอยู่ในป่าหากินของป่าเป็นอาหารไปเรื่อยๆ เช่น เผือก มัน กล้วย หน่อ สัตว์ป่า ผึ้ง เป็นต้น ไม่มีอาชีพอะไร กระทั่งภายหลังเมื่อลงมาอาศัยอยู่กับชนเผ่าม้ง ก็มีการรับจ้างทำไร่ โดยได้ค่าตอบแทนเป็นข้าว อาหารบ้าง สัตว์เลี้ยงบ้าง แต่ปัจจุบันชนเผ่ามละเริ่มประกอบอาชีพทำไร่ ปลูกข้าวดอย ข้าวโพด โดยเรียนรู้การเพาะปลูกพืชต่างๆ จากชนเผ่าม้ง นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงไก่ หมู เพื่อไว้กินเองและขายบ้างเป็นบางครั้ง อีกทั้งยังมีอาชีพเสริมคือ งานถักเปลญวนที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดแพร่ และคุณบุญยืนทำหน้าที่ในการหาตลาดให้
งานถักเปลเป็นอาชีพเสริมที่ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่ามละดีขึ้นจากอดีตดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น หากท่านสนใจรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ คุณอุดม สุขเสน่ห์