ภูมิปัญญาไทย หล่อฆ้อง-ระฆัง งานสร้างเงิน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ยอดขาย ไม่เคยตก

ฆ้อง ผลิตจากทองเหลือง ฆ้องมีประวัติความเป็นมาช้านานแต่อดีตกาลนานคณานับ ย้อนหลังอดีตเก้าสิบแปดกัลป์ สมัยพระวิสัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้ายุคสมัยนั้น ยังกล่าวกันว่าเทวดาตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วสามโลก (สวรรค์-มนุษย์-บาดาล) ให้มาร่วมฟังธรรม เรามิอาจสรุปได้ว่าใครเป็นผู้สร้างฆ้องขึ้นมา เดิมฆ้องเป็นลักษณะตูมเดียว ต่อมาได้พัฒนาเป็นฆ้องเก้าตูมที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เล่ากันว่า ใครสร้างฆ้องเก้าตูมนมเก้าก้อน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยากปากแห้ง ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

ฆ้อง เป็นเสนาสนะที่ใช้ในวัดพระพุทธศาสนา ใช้ในการรบทัพจับศึก ถือว่าเป็นมงคล เช่น ตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกกองทัพออกไปรบกับกองทัพพม่า มีกลอนกล่าวไว้ว่า “ลั่นฆ้องศึกกระหึ่มก้องท้องธานินทร์ องค์นรินทร์ยกออกสู้ศัตรูพาล” ฆ้องใช้ตีบอกเวลาโมงยาม ฆ้องใช้เป็นเครื่องมือประกอบดนตรี ฆ้องยังใช้ประดับห้องพระและห้องรับแขกดูสง่างามน่าเกรงขามยิ่งนัก และฆ้องยังเกี่ยวข้องกับศาสนา อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นความเชื่อของคนไทยว่า ถ้าทำทานฆ้องแล้วจะได้กุศลมาก อีกอย่างความหมายของฆ้องก็ดีด้วย คือ ฆ้องจิต ฆ้องใจ เป็นคำพ้องเสียงที่ดี แล้วก็สามัคคีคือพลัง รวมกลุ่ม จะสังเกตได้ว่างานพิธีต่างๆ จะมีการตีฆ้อง

คุณเชิดศักดิ์ งามสิงห์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 10 บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าของโรงหล่อระฆังดังกังวาน ผู้ผลิต ฆ้อง ระฆัง กลองเพล ส่งขายไปทั่วภาคอีสาน และทั่วประเทศไทย รวมทั้งส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ เปิดเผยว่า เดิมฆ้องที่ใช้ทั่วไปในประเทศไทย มาจากจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า เป็นฆ้องหล่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร เลียนแบบจากช่างพม่า ตีเสียงดังกังวานยิ่งนัก แต่มีข้อเสียคือ ชำรุดง่ายและน้ำหนักมากเกินไป นำไปใช้ในขบวนแห่ไม่เหมาะสม และมีการนำมาขายในจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งแรกโดยร้าน “ช่วยเจริญสังฆภัณฑ์” ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานี เพื่อขายต่อให้ชาวบ้านในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งชาวบ้านจะซื้อไปหาบเร่ขายทั้งในตัวจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเอาไปขายในประเทศลาวอีกด้วย แต่เนื่องจากร้านช่วยเจริญเขารับมาไกล ราคาจึงแพง เราก็เลยซื้อแพงทำให้ขายต่อได้ยาก

คุณเชิดศักดิ์ เล่าต่อว่า ต่อมา ในปี พ.ศ. 2524 ชาวบ้านทรายมูล จึงคิดทำฆ้องขึ้นเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต จึงพากันไปศึกษาเรียนรู้วิธีการทำฆ้องที่บ้านห้วยขยุง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วนำกลับมาเผยแพร่ และถ่ายทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน การทำฆ้องของชาวบ้านทรายมูล จะนำแผ่นทองเหลืองที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ที่เขาใช้ในการต่อเรือและงานก่อสร้างอาคารมาทำฆ้องตามแบบฉบับของคนไทย ซึ่งครั้งแรกทำ ขนาด 38 เซนติเมตร 40 เซนติเมตร 60 เซนติเมตร เป็นฆ้องตูมเดียวนำไปจำหน่ายทั่วประเทศและได้รับความสนใจเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง

กลองเพล ที่ทำขายคู่กับฆ้อง
กลองเพล ที่ทำขายคู่กับฆ้อง

“แต่ก่อนการทำฆ้องที่นี่ ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างหลังจากการปักดำนาเสร็จ หันมาผลิตฆ้องและเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็มาผลิตอีก ทำเป็นอาชีพเสริมกันทั้งหมู่บ้าน บางคนก็ทำเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน บางคนก็รวมกลุ่มกันผลิต ทำให้หลายๆ คนพลิกฐานะความเป็นอยู่ จากที่เคยลำบาก กลายมาเป็นคนมีเงินมีทองและมีความสุข จนเลิกทำนา หันมาผลิตฆ้องอย่างเดียวก็หลายครอบครัว ส่วนตนนั้น ก็ได้ผลิตฆ้อง กลองเพล ระฆัง ฉิ่ง ฉาบ กลองยาว พระพุทธรูป ขายมานาน จนสามารถพลิกฐานะความเป็นอยู่เช่นกัน จนในปัจจุบัน ผมมีโรงหล่อฆ้อง-ระฆัง เป็นของตัวเองด้วย และฆ้องที่ทำส่วนมากก็คือ ฆ้องโหม่ง ซึ่งเป็นฆ้องขนาดใหญ่ เวลาตีจะมีเสียงดัง โหม่ง และฆ้องมี 2 รูปแบบ คือ แบบที่ตีร้อนๆ จากไฟ (ตีด้วยมือ) และแบบที่อ๊อกเชื่อม ซึ่งอย่างหลังจะง่ายกว่ามาก แต่ความนิยมอยู่ที่ฆ้องตีมือ”

คุณเชิดศักดิ์ เล่าถึงกระบวนการและขั้นตอนการผลิตฆ้องว่า เดิมใช้แผ่นทองใส่ไฟให้ร้อน ประมาณ 300-400 องศาเซลเซียส ใช้ค้อนตีเป็นรูป โดยใช้เบ้าโม้ขนาดตามความต้องการ ความต้องการในที่นี้คือ ให้ตรงกับโฉลกที่ต้องการ ข้อเสียคือ ช่างตีฆ้องจะหูหนัก หูหนวกไปตามๆ กัน บางรายต้องเลิกกิจการไปเพราะเสียงจะดัง เกิน 250 เดซิเบลขึ้นไป เนื่องจากวิธีการทำฆ้องแบบนี้จะได้ผลผลิตที่ดี แต่ต้องใช้ฟืนมหาศาล เป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมาย จึงวิวัฒนาการทำเป็นฆ้องแบบอ๊อกหรือเชื่อม แผ่นทองเป็นรูปฆ้องเสร็จแล้วจึงทำตูมฆ้องและนิยมทำเก้าตูมตามความต้องการของตลาด

 

ขั้นตอนการทำฆ้องโดยสรุป

  1. ตัดแผ่นเหล็ก หรือแผ่นทองเหลืองเป็นวงกลมตามขนาดที่ต้องการ
  2. เชื่อมขอบรอบวง โดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือแก๊ส
  3. ทำปุ่มนูนตรงกลาง โดยขุดดินเป็นหลุม นำแผ่นเหล็กวาง แล้วใช้ค้อนทุบลงไป
  4. แต่งเสียง โดยใช้ค้อนเคาะจนได้เสียงที่พอใจ ให้มีเสียงนวล กังวานใส
  5. ขัดเงาและลงสี แต่งลวดลายด้วยสีน้ำมัน
  6. เจาะรูติดเชือก และแขวนกับขาตั้ง

ขั้นตอนดังกล่าวนี้ เป็นวิธีในปัจจุบัน ที่ตนนิยมทำ เพื่อให้ผลิตได้เร็วขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะผลิตฆ้องเหล็กตูมเดียว ฆ้องทองเหลืองตูมเดียวและฆ้องทองเหลืองเก้าตูม พอทำเสร็จ ช่างฆ้องจะวาดลวดลายไทยหรือรูปแบบอื่นๆ ลงในตัวฆ้องเพื่อความสวยงาม เมื่อทำฆ้องเสร็จต้องทำค้อนตีฆ้อง โดยใช้ด้ามพันด้วยผ้าถักด้วยด้ายอย่างสวยงาม

การผลิตฆ้องของคุณเชิดศักดิ์จะผลิตหลายขนาด มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ ราคาก็ตามขนาด อย่างระฆังหัวระเบิดแบบสุ่มไก่ 5,000 บาท แบบหัวตัด 3,000 บาท แบบหัวแหลม 3,500 บาท และคุณเชิดศักดิ์ยังรับหล่อนอกสถานที่อีกด้วย ในปัจจุบันคุณเชิดศักดิ์ได้ก่อตั้งโรงหล่อฆ้อง หล่อระฆัง เป็นของตัวเองขึ้นมา ชื่อว่า โรงหล่อดังกังวาน และคุณเชิดศักดิ์ก็เปิดร้านค้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์ขึ้น บนที่ดินของตนเองภายในหมู่บ้านทรายมูล ซึ่งอยู่ริมถนนหรือทางหลวงสาย โขงเจียม-พิบูลมังสาหาร ซึ่งแต่ละวันจะมีรถวิ่งผ่านเยอะมาก ทำให้มีลูกค้าจอดรถเลือกซื้อสินค้ากันทุกวัน

สำหรับตลาดนั้น คุณเชิดศักดิ์ บอกว่า เมื่อก่อนต้องเอาฆ้องใส่รถกระบะไปเร่ขายตามจังหวัดต่างๆ ตอนนี้ไม่ได้เร่ขายแล้ว ทุกวันรอรับโทรศัพท์จากลูกค้าที่โทรศัพท์มาสั่งสินค้า และคอยควบคุมดูแลงานผลิตอยู่ในโรงหล่อ ซึ่งคุณเชิดศักดิ์มีแรงงานหรือลูกน้องมาเป็นช่างผลิต ช่างหล่อ 24 คน ทั้งหมดผ่านการฝึกจากคุณเชิดศักดิ์ทุกคน

ด้านหน้าโรงหล่อดังกังวาน
ด้านหน้าโรงหล่อดังกังวาน

ในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์จะมีคนมาสั่งทำสั่งหล่อฆ้องและระฆัง จนผลิตแทบไม่ทัน และนอกจากคุณเชิดศักดิ์จะขายสินค้าที่ร้านค้าตัวเองแล้ว ยังมีเอเย่นต์อยู่ตามต่างจังหวัดหลายๆ จังหวัด ทำให้ปัญหาเรื่องตลาดหมดไป ส่วนร้านของคุณเชิดศักดิ์รายได้ก็มาจากการขายหน้าร้าน มีนักท่องเที่ยวและผู้คนผ่านไปมาแวะซื้อทุกวัน ส่วนมากเป็นฆ้อง 4 นิ้ว 6 นิ้ว ราคา 100 บาท บางครั้งมีคนมาสั่งทำเพื่อนำไปถวายวัด ฆ้องที่นี่เวลาทำหรือที่เรียกว่าตีฆ้องขึ้นรูป จะมีการตีทดสอบเสียงอยู่ตลอดเวลา ต้องให้มีเสียงดังกังวานต่อเนื่องกัน จึงจะเป็นฆ้องที่มีคุณภาพดี ทำให้ขายได้ง่าย

ลูกค้าจากสุรินทร์มาซื้อฆ้อง
ลูกค้าจากสุรินทร์มาซื้อฆ้อง

ในปัจจุบันนี้จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ เพื่อนำไปขายต่อร้านสังฆภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการนำไปขายที่ประเทศลาว และนอกจากฆ้องแล้ว ยังผลิตกลองเพล ระฆัง ฉิ่ง ฉาบ ทุกขนาดอีกด้วย และปัจจุบันนี้ ที่ร้านของคุณเชิดศักดิ์ยังรับซ่อมกลองเพล ไม่ว่าจะเปลี่ยนหนังใหม่ ทำสีใหม่ ได้ทั้งนั้น ในช่วงนี้สินค้าที่ขายดีอีกอย่างหนึ่งคือ ระฆัง และที่ร้านหรือโรงหล่อของคุณเชิดศักดิ์จะผลิตฆ้องที่ใหญ่สุด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.50 เมตร ราคาก็ 70,000-80,000 บาท หรือ 150,000 บาท ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับวัสดุ เช่น ระฆัง หรือฆ้อง เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ถ้าทำจากเหล็ก ราคา 5,000 บาท แต่ถ้าทำจากทองเหลือง ราคาก็ 9,000 บาท

5 7

เรื่องรายได้นั้น คุณเชิดศักดิ์ บอกว่า แต่ละเดือนมีรายได้งดงามมาก แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายได้เป็นตัวเลขได้ และไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ยอดขายฆ้อง-ระฆัง-กลองเพล ไม่เคยตก ถ้ายิ่งใกล้เทศกาลงานบุญกฐิน ยอดจะเพิ่มมากกว่า 2 เท่าตัว จึงทำให้รายได้ต่อเดือนจะมีเงินหมุนเวียนซื้อขายฆ้องที่บ้านทรายมูล (ขอย้ำว่า ที่หมู่บ้านทรายมูล) ไม่ต่ำกว่าหลายล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้วคนที่ผลิตฆ้อง กลอง ระฆัง ขายในหมู่บ้านนี้ แต่ละคนจะมีรายได้ หลังจากหักตุ้นทุนการผลิตแล้ว เดือนละไม่ต่ำกว่าหลักแสน (ซึ่งในหมู่บ้านทรายมูล จะมีคนผลิตฆ้อง ระฆัง กลอง ขายหลายคน หลายครอบครัว) แต่ละคนแต่ละครอบครัวมีรถยนต์ขับขี่กันทั้งหมู่บ้าน และทุกคนต่างภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะปัจจุบันบ้านทรายมูลเป็นแหล่งผลิตฆ้องแห่งเดียวในประเทศไทย

นับเป็นการสืบสานตำนานภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทรงประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลยิ่งนัก หากหมู่บ้านใด กลุ่มองค์กรหรือเครือข่ายใด ต้องการศึกษา ดูงาน ติดต่อได้ที่ โรงงานหล่อระฆังดังกังวาน เลขที่ 14 หมู่ที่ 10 บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี หรือประสานงานกับ คุณเชิดศักดิ์ งามสิงห์ ผู้เป็นเจ้าของร้าน เจ้าของโรงงานโดยตรง ก็โทร. (081) 966-2477 ได้ทุกวัน