ผงกล้วยน้ำว้า รักษาโรคกระเพาะอาหาร

คนญี่ปุ่นนิยมกินกล้วยกันมาก โดยเฉพาะ กล้วยหอม ทั้งด้วยความเชื่อเรื่องลดน้ำหนักได้ผลดีและคุณค่าทางโภชนาการอันล้นเหลือของกล้วยเอง ทำให้กล้วยหอมไทยไปทำยอดขายที่แดนปลาดิบพุ่งลิ่ว จนในที่สุดกล้วยหอมในประเทศญี่ปุ่นถึงกับขาดตลาดและทุกวันนี้ความต้องการกล้วยหอมในประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงสูงลิ่ว 

กล้วยหอม

ประโยชน์ของกล้วย เท่าที่ไปค้นคว้าข้อมูลมา สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บนานา ลองดูกันนะคะ

  1. กล้วยมีธาตุเหล็กสูง กระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด จึงช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้
  2. กล้วยมีธาตุโพแทสเซียมสูง แต่มีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นอาหารสมบูรณ์แบบที่จะช่วยลดความดันโลหิตได้ดี
  3. ปริมาณโพแทสเซียมสูงในกล้วยสามารถบำรุงสมองได้ดี ช่วยให้นักเรียนตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะหากกินกล้วยในมื้อเช้าและมื้อกลางวัน ทุกวัน
  4. ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ แก้ปัญหาโรคท้องผูก
  5. กล้วยมีโปรตีน Try Potophan ช่วยลดความตึงเครียด ผ่อนคลายอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ จึงสามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้
  6. การดื่มกล้วยปั่นกับนมและน้ำผึ้งเป็นวิธีแก้อาการเมาค้างได้ผลที่สุด เพราะกล้วยจะช่วยให้ กระเพาะอาหารสงบลง ส่วนน้ำผึ้งจะเสริมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด และนมช่วยปรับระดับของเหลวในร่างกายให้สมดุล
  7. กล้วยมีสารลดกรดตามธรรมชาติ แก้ปัญหาจุกเสียดท้องได้
  8. กล้วยมี วิตามินบี 6 ประกอบด้วยสารควบคุมระดับกลูโคสที่สามารถมีผลต่ออารมณ์ ช่วยทำให้ระบบประสาทสงบลงได้ การกินกล้วยตอนเช้าและกินเป็นอาหารว่างระหว่างวัน จะรักษาระดับน้ำตาลในเส้นเลือดให้คงที่ได้ดี
  9. เปลือกกล้วยด้านในสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้

10.กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุมโรคลำไส้เป็นแผล เพราะเนื้อกล้วยอ่อนนิ่มพอดี มีสภาพเป็นกลางไม่เป็นกรด ทำให้ลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและเคลือบผนังลำไส้ได้ดี

  1. กล้วยมีฤทธิ์ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยเฉพาะในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เชื่อกันว่าหากมารดากินกล้วยทุกวัน ทารกที่เกิดมาจะมีอุณหภูมิร่างกายเย็นกว่าปกติ
  2. กล้วยช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้เร็วขึ้น เนื่องจากมีปริมาณวิตามินซี เอ บี6 บี12 สูง และยังมีโพแทสเซียมกับแมกนีเซียมช่วยให้ร่างกายฟื้นคืนได้เร็วจากการขาดนิโคติน
  3. มีผลวิจัยในวารสาร “The New England Journal of Medicine” ระบุว่า การกินกล้วยเป็นประจำสามารถลดอันตรายที่เกิดกับเส้นโลหิตแตกได้ถึง 40%
  4. ภูมิปัญญาสมุนไพรไทย เชื่อว่ากล้วยมีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคหูดได้ โดยใช้เปลือกด้านในวางปิดลงไปบนหูดแล้วใช้แผ่นปิดแผลหรือเทปติดไว้ให้ด้านสีเหลืองของเปลือกกล้วยอยู่ด้านนอก จะทำให้หูดหายได้

สรรพคุณมากมายมหาศาลขนาดนี้ จะมองข้ามกล้วยไปไม่ได้เสียแล้ว จริงไหม?

Advertisement

สำหรับตัวฉันเอง ข้อที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องสรรพคุณทางยาของกล้วยก็คือ การใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารและอาการจุกเสียดแน่นท้อง

ตำราสมุนไพรไทยระบุว่าก ล้วยน้ำว้า ใช้ทำยาได้ทั้งดิบและสุก โดยเฉพาะ กล้วยดิบ นั้นมี แทนนิน สารฝาดสมานสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ดี จึงช่วยป้องกันผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ให้เชื้อโรคและของรสเผ็ดจัด เช่น พริก เข้าไปทำลายผนังเนื้อเยื่อกระเพาะลำไส้ ช่วยแก้ท้องเสียได้ดี

Advertisement

สำหรับกล้วยที่เพิ่งเริ่มสุกหรือห่ามๆ ซึ่งเปลือกยังมีสีเขียวอยู่ประปรายนั้น เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย เพราะนอกจากจะช่วยแก้ท้องเสียแล้ว ยังช่วยหล่อลื่นลำไส้เพิ่มกากเวลาขับถ่าย

กล้วยกึ่งดิบกึ่งสุกนี่เองที่มีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก เวลาท้องร่วงร่างกายจะสูญเสียโพแทสเซียมไปเยอะ การกินกล้วยห่ามจึงเป็นการชดเชยได้ดี ถ้าหากคนท้องเสียปล่อยให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียม ไปมากๆอาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติถึงขั้นหัวใจวายได้

กล้วยห่ามยังมีสารเซโรโทนินช่วยออกฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังกระเพาะอาหารสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น จึงช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร

สำหรับวิธีกินกล้วยเป็นยาเพื่อรักษาอาการของโรคกระเพาะอาหารแบบจริงๆ จังๆ นั้น มีขั้นตอนยุ่งยากอยู่บ้าง เริ่มจากการนำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบางนำไปตากแดดจัดๆ ให้แห้ง หรืออบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส

ห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะถ้าใช้ความร้อนสูง สารในกล้วยที่มีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะนั้นจะสูญเสียไป หรือหมดฤทธิ์ทันที

ไหนๆ ฉันก็เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอยู่แล้ว คงไม่เสียหายอะไรที่จะเอาตัวเองเป็นหนูทดลองยา ก็เลยจัดแจงทำยาสมุนไพรผงกล้วยบดกินเองค่ะ

กล้วยดิบตากแดดรอบดเป็นผง
ตำให้ละเอียดแล้วเอามาร่อน

เริ่มจากการไปหากล้วยดิบที่แก่จัด 1 หวี มาปอกเปลือก หั่นแว่น ตากแดด เลือกวันที่มีแดดจัดๆ หน่อย ตากกันแดดเดียวก็เห็นผลแล้วค่ะ

กรรมวิธีที่ยุ่งยากหน่อยก็ตรงการหั่นแว่นบางนี่แหละ เพราะกล้วยดิบมียางเหนียวหนึบติดมือติดมีด ทำค่อนข้างยาก ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง สูงจริงๆ

การหั่นกล้วยถ้าหั่นขนาดบางไม่เท่ากันก็จะเจอปัญหาเวลาเอาไปตากแดด คือจะแห้งได้ไม่เท่ากัน เมื่อนำมาบดหรือตำก็จะได้ความละเอียดไม่สม่ำเสมอ มีทั้งส่วนที่กรอบบางและเหนียวหนึบ

ฉันทำผงกล้วยในวันที่แดดแรงมากๆ เพราะไม่อยากอบกล้วยเลย กลัวสูญเสียสรรพคุณทางยาและวิตามินต่างๆ ไปกับความร้อน แม้จะใช้ไฟแค่ 50 องศาเซลเซียส ก็ตาม เลยเสียเวลามากมายไปกับการหั่นกล้วยทั้งหวี จำได้ว่าหมดไปเป็นชั่วโมงๆ เลย

ได้ผงกล้วยดิบแบบนี้
เก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท

หลังจากนั้น ก็นำมาวางเรียงในถาด ไม่ให้แต่ละชิ้นทับกัน เพื่อจะได้โดนแดดถ้วนทั่ว ใช้เวลาตากอยู่ไม่กี่ชั่วโมง ช่วงใกล้เที่ยงไปจนถึงบ่ายสามโมงก็เรียบร้อย แห้งสนิท

พอจับดูแผ่นกล้วย เห็นว่าแห้งดีแล้วก็เอามาตำค่ะ ตำด้วยครกหิน

คุณเอ๋ย ช่วงนี้แหละทุกข์ทรมานยิ่งนักที่จะบดกล้วยให้เป็นผงละเอียด ต้องตำ ต้องร่อน ร่อนแล้วเอากากที่เหลือมาตำใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายครั้งหลายหนกว่าจะได้เป็นผงยาออกมาได้ในที่สุด

เหนื่อยสุดๆ!

และเพิ่งมารู้ภายหลังว่า ในบรรดาผู้ผลิตสมุนไพรพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงหลายรายนั้น เขาทำผงกล้วยดิบสำเร็จรูปบรรจุซองออกมาจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายแล้วค่ะ

กรรมวิธีการผลิตเมื่อเป็นรูปอุตสาหกรรมแล้ว น่าจะใช้การอบเป็นหลักและนำมาบดเป็นผงด้วยเครื่องบด ไม่ใช่การตำกับครกแบบโบราณอย่างที่ฉันทำ

ผงกล้วยดิบสำเร็จรูปเท่าที่เห็นขายกันอยู่สำหรับให้ชงดื่ม ขนาด 20 ซอง ต่อกล่อง ซองละ 10 กรัม ราคาประมาณกล่องละ 95 บาท มีขายตามร้านขายยาสมุนไพรทั่วไป รวมทั้งที่ขายผ่านตามร้านค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ต่างๆ

วิธีใช้ก็ไม่ยุ่งยากอะไร แค่ละลายผงกล้วยกับน้ำร้อน หรือจะเติมน้ำผึ้งด้วยก็ได้ กินวันละ 3 คร้้ง ก่อนอาหาร

ต้องยอมรับว่ายาผงกล้วยทำเองนี่ได้ผลตามสรรพคุณจริงๆ แม้จะไม่ได้ทำให้อาการโรคกระเพาะอาหารหายขาดเป็นปลิดทิ้ง แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการลงไปได้กว่าครึ่ง ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพายาหมอสั่งมากจนเกินไปนัก

ชงเป็นเครื่องดื่มรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ลักษณะเป็นน้ำข้นเหนียว รสชาติหวานนิดๆ

ทราบมาว่าผงกล้วยดิบนี้สามารถทำได้โดยใช้ได้ทั้งกล้วยน้ำว้าดิบหรือกล้วยหักมุกดิบ ซึ่งสรรพคุณในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารนั้นผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาหมดแล้ว

ระหว่างที่รักษาอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารด้วยผงกล้วยดิบอยู่ ฉันก็กินกล้วยสุกตามเข้าไปด้วย ปรากฏว่าช่วยเป็นยาระบายได้อย่างดี เพราะกล้วยสุกมีสารเพกติน (pectin) สูง ช่วยเพิ่มกากอาหารและมีเมือกลื่นช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ปลอดโปร่งโล่งทวารดีจริงๆ

ฤทธิ์ระบายของกล้วยน้ำว้าสุกนั้น ระยะแรกๆ ถ้ากินในปริมาณน้อยยังจะไม่ค่อยเห็นผลค่ะ ต้องกินเป็นประจำ วันละ 5-6 ลูก ต่อเนื่องจึงจะเห็นว่าอุจจาระที่ออกมาเป็นสีเหลืองทอง สวยงาม ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมือนกับอุจจาระของคนที่กินเนื้อสัตว์เยอะๆ

และมีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการกินกล้วยมาฝากด้วยว่า จะกินกล้วยให้ได้ผลดีต่อสุขภาพร่างกายจริงๆนั้น ต้องเคี้ยวบดให้ละเอียดที่สุด เคี้ยวได้นานเท่าไรยิ่งดี เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่มีแป้งอยู่มากถึง 20-25% การเคี้ยวกล้วยให้แหลกละเอียดที่สุดจะช่วยย่อยแป้งได้มากก่อนกลืนลงกระเพาะอาหาร ช่วยแบ่งเบาภาระไม่ให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักในการย่อยแป้งจนเกินไป

ลองสังเกตด้วยตัวเองดูจะพบว่า วันไหนที่เรารีบกินกล้วยแบบเคี้ยวหยาบๆ มักจะทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกแน่น เพราะน้ำย่อยออกมาย่อยแป้งในกล้วยไม่ทันนั่นเอง

เอาเป็นว่า ท่านใดที่ต้องการยารักษาโรคกระเพาะราคาถูก และปรุงยาได้ด้วยตนเอง ขอแนะนำตำรานี้นะคะ

ลองทำดู จะรู้ว่า เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในทุกเรื่อง แม้กระทั่งหยูกยารักษาตัวเรา